Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ  36.41 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯวันนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway (แกว่งตัวในช่วง 36.32-36.47 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และราคาทองคำ ต่างก็เคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ก็ไม่ได้มีแนวโน้วที่จะบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มทยอยกลับมาสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น

รายงานการประชุมเฟดล่าสุดที่สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างระมัดระวังต่อการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า ท่าทีดังกล่าวอาจสะท้อนว่า เฟดอาจไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หรือ เฟดอาจไม่ได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อชะลอลง ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงและทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.43% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อราว +0.15% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้น Novo Nordisk +4.9% หลังบริษัทมีความคืบหน้าในการทดลองยาสำหรับรักษาภาวะไตวายในผู้ป่วนเบาหวาน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปกลับถูกกดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม โดยเฉพาะ LVMH -6.5% หลังรายงานผลกำไรโตชะลอลง แย่กว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจมากขึ้นว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน หลังเฟดได้เปิดเผยรายงานการประชุมเฟดล่าสุด รวมถึงความต้องการถือบอนด์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดยังคงกังวลภาวะสงคราม ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ 4.56% โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นไปได้ว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ อย่างไรก็ตาม เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน ผู้เล่นในตลาดยังไม่รีบปรับลดสถานะการถือครองเงินดอลลาร์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดคงไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินตาม Dot Plot ล่าสุดได้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ตลาดยังมองเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และอาจลดดอกเบี้ยลง -75bps ในปีหน้า) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ส่งผลให้โดยรวม เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 105.7 จุด (กรอบ 105.6-106.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,888 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นหรือชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดคือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นราว +0.3%m/m หรือ +3.6%y/y หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน รวมถึงการพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นของราคารถยนต์มือหนึ่งและมือสอง ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.1%y/y ทั้งนี้

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอจับตา รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของ ECB 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เพื่อประเมินว่า ทิศทางนโยบายการเงินของเฟดนั้นจะมีโอกาสใกล้เคียงกับสิ่งที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ หรือ price-in ไปแล้ว หรือไม่ ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ไปก่อน และในระหว่างวันเงินบาทก็อาจผันผวนไปตามทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ

โดยเรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ นั้นชะลอลงตามที่ตลาดคาดการณ์ หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจต่อการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดล่าสุด ซึ่งผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -75bps โดยเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิถุนายน ซึ่งในกรณีนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก เพราะภาพดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ตลาดได้รับรู้ หรือ price-in ไปแล้วพอสมควร แต่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นต่อได้พอสมควร ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หากรายงานอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ทำให้ตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น หรือ ลึกขึ้น กว่าที่กำลังประเมินอยู่ในปัจจุบัน 

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ เฟดก็คงไม่รีบลดดอกเบี้ยลงและอาจลดดอกเบี้ยลงได้แค่ตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งภาพดังกล่าว จะหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นมา พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ไม่ยาก และกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 36.60 บาทต่อดอลลาร์ และ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนถัดไป ขณะที่โซนแนวรับแรกจะอยู่แถว 36.25-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าทะลุโซนดังกล่าว ก็จะเปิดทางแข็งค่าต่อทดสอบแนวรับสำคัญที่ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยเรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.45 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 36.20-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ