“คาราบาว” เป็นวงดนตรีเจ้าของบทเพลงเพื่อชีวิตระดับตำนาน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นอมตะตลอดกาลของประเทศไทย โดยมี “ยืนยง โอภากุล” หรือ “แอ๊ด” เป็นหัวหน้าวง
ล่าสุด "แอ๊ด คาราบาว" หัวหน้าได้กล่าวระหว่างการเล่นดนตรีโดยระบุถึงการยุบวงหลังโลดแล่นในวงการดนตรีมากว่า 40 ปี ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.2567 และจะมีคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 เม.ย.67 ก่อนจะเลิกวงทันที เนื่องจากสมาชิกวงอายุมากไม่สามารถเล่นดนตรีไหวแล้ว
ประวัติ
วงคาราบาวเกิดจากการก่อตั้งโดยนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว กรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์ 3 คน คือแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล , เขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร และ ไข่ - สานิตย์ ลิ่มศิลา ขึ้นที่นั่น ในปี พ.ศ. 2523 โดยคำว่า คาราบาว เป็นภาษาตากาล็อก คือภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ แปลว่า ควาย หรือคนใช้แรงงาน ซึ่งทางฟิลิปปินส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นเกษตร โดยหมายจะเป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต
แอ๊ดได้มีโอกาสฟังเพลงของ เลด เซพเพลิน , จอห์น เดนเวอร์ , ดิ อีเกิ้ลส์ และ ปีเตอร์ แฟลมตัน จากแผ่นเสียงที่ไข่ได้สะสมไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมาทั้ง 3 คนจึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า คาราบาว เพื่อใช้ในการประกวดดนตรี แสดงบนเวทีในงานของมหาวิทยาลัย โดยเล่นดนตรีแนวโฟล์คในเนื้อหาที่สะท้อนสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคม
เมื่อกลับมาเมืองไทย แอ๊ดและเขียวได้ร่วมกันเล่นดนตรีในเวลากลางคืน โดยกลางวันแอ๊ดทำงานอยู่ที่การเคหะแห่งชาติ ขณะที่เขียวทำให้กับบริษัทฟิลิปปินส์ที่มาเปิดในประเทศไทย ส่วนไข่ก็ขอลาออกจากวงและแยกตัวออกไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่ภาคใต้ ทั้งคู่ออกอัลบั้มชุดแรกของวง ในชื่อ ขี้เมา เมื่อปี พ.ศ. 2524 และแอ๊ดก็ได้ติดต่อวงโฮป ให้มาช่วยโปรดิวซ์และเล่นดนตรีในห้องอัดให้ในอัลบั้มชุดนี้ และทำให้คาราบาวพอเป็นที่รู้จักบ้างในอัลบั้มนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้มีสมาชิกในวงเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน คือ เล็ก - ปรีชา ชนะภัย จากวงเพรสซิเดนท์ (โดยเล็กเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนอุเทนถวายกับแอ็ด) และได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 ในชื่อชุด แป๊ะขายขวด โดยเล็กได้ชักชวนสมาชิกวงเพรสซิเดนท์บางส่วน รวมทั้ง อ๊อด - เกริกกำพล ประถมปัทมะ มือเบสที่ตอนนั้นยังอยู่ในวงเพรสซิเดนท์ ให้มาเล่นเป็นแบ็คอัพของทั้ง 3 คน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีกครั้ง
รุ่งเรือง
วงคาราบาว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในอัลบั้มชุดที่ 3 ในปี พ.ศ. 2526 จากอัลบั้มชุด วณิพก กับสังกัดอโซน่า ด้วยเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม โดยมีทีมแบ็คอัพชุดเดิม คือสมาชิกกวงเพรสซิเดนท์ บางส่วน และได้หมู - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เข้ามาร่วมเล่นเครื่องเคาะ, เพอร์คัสชั่นให้ด้วย(และร่วมออกทัวร์คอนเสิร์ทด้วยกัน) บทเพลงจากอัลบั้มนี้มีเนื้อหาที่แปลกแผกไปจากเพลงในยุคนั้น ๆ และดนตรีที่เป็นท่วงทำนองแบบไทย ๆ ผสมกับดนตรีตะวันตก มีจังหวะที่สนุกสนาน ชวนให้รู้สึกคึกคัก เต้นรำได้ จึงสามารถแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ในดิสโก้เธคได้เป็นเพลงแรกของไทย และหลังจากอัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้แฟนเพลงหลายๆคนต้องไปหาซื้ออัลบั้มชุดแรกและชุดที่สองมาฟัง ทำให้สองชุดแรกขาดตลาดและเป็นชุดที่หายากมากในเวลานั้น ต่อมาในปลายปีเดียวกัน คาราบาวก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 คือ ท.ทหารอดทน ซึ่งได้ เป้า - อำนาจ ลูกจันทร์,เทียรี่ เมฆวัฒนา, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ รัช - ไพรัช เพิ่มฉลาด เข้ามาเป็นวงแบ็คอัพ แต่แอ๊ดกลับมีปัญหากับสังกัดอโซน่าในการทำเพลง เนื่องจากอโซน่าไม่อนุญาตให้วงคาราบาวไปอัดเสียงที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม และให้ใช้ห้องอัดของอโซน่าทั้งที่แอ๊ดรู้ว่าเครื่องมือไม่ทันสมัย รวมทั้งเป็นอัลบั้มแรกของทางวงที่ถูก คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) สั่งห้ามนำไปเผยแพร่ออกอากาศตามสื่อต่าง ๆ คือเพลง ท.ทหารอดทน และ ทินเนอร์ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายอย่างมาก
ความโด่งดังของอัลบั้ม ท.ทหารอดทน ทำให้วงคาราบาวทั้งวงได้เป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์เรื่อง ปล.ผมรักคุณ รวมทั้งสมาชิกแบ็คอัพ คือ เทียรี่ เมฆวัฒนา และ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ด้วย พร้อมกับวงเพรสซิเดนท์ อดีตวงดนตรีที่เล็กและอ๊อดเคยอยู่ และด้วยความโด่งดังของวงคาราบาวนั้น ได้ทำให้เล็กได้รับบทเป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่อง หยุดหัวใจไว้ที่รัก ในปี พ.ศ. 2527
คาราบาวประสบความสำเร็จมากที่สุดในปลายปี พ.ศ. 2527 เมื่อได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 เมด อิน ไทยแลนด์ เป็นอัลบั้มชุดที่ 5 ซึ่งทำยอดขายได้ถึง 5,000,000 ตลับ ซึ่งเป็นสถิติยอดจำหน่ายอัลบั้มเพลงของศิลปินไทยที่สูงที่สุดของไทยที่ขณะนั้นยังไม่มีใครทำลายได้[1] และเมื่อคาราบาวจัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก คือ คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย ที่เวโลโดรม หัวหมาก ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ก็มียอดผู้ชมถึง 60,000 คน แต่นั่นกลับทำให้เกิดเหตุสุดวิสัยคือผู้ชมขึ้นไปชมคอนเสิร์ตบนอัฒจันทร์ที่เลิกใช้งานแล้ว และมีผู้ชมตีกันกลางคอนเสิร์ต จนกลายเป็นนิยามว่า คาราบาวเล่นที่ไหนก็มีแต่คนตีกัน แอ๊ดได้เตือนเรื่องความปลอดภัยของอัฒจันทร์เป็นระยะๆ ในที่สุดก่อนจบการแสดงครึ่งชั่วโมง และเหลือเพลงที่ยังไม่ได้แสดงอีก 3-4 เพลง เจ้าหน้าที่ตำรวจเกรงว่าอัฒจันทร์จะถล่มลงมาทับผู้ชมจนอาจจะทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก จึงสั่งยุติการแสดง แอ๊ดจึงประกาศยุติคอนเสิร์ตโดยทันที และเพลงสุดท้ายที่แอ๊ดร้อง คือ รอยไถแปร เพื่อเป็นการปลอบใจและส่งผู้ชมให้ค่อย ๆ ทยอยกลับบ้าน
สมาชิกคาราบาวยุคคลาสสิคทั้ง 7 คน ในอัลบั้ม เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2530)
สมาชิกในวงคาราบาวในยุคนั้นเรียกว่า ยุคคลาสสิก มีสมาชิกในวงทั้งหมด 7 คน ประกอบไปด้วย
ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : หัวหน้าวง, ร้องนำ, กีตาร์, แต่งคำร้องและทำนอง
ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : กีต้าร์, แบนโจ, ร้องนำ, แต่งคำร้องและทำนอง
เทียรี สุทธิยง เมฆวัฒนา (เทียรี่) : กีต้าร์, ร้องนำ, ร้องประสาน, แต่งทำนอง
กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) : กีตาร์,เบส, ร้องนำบางส่วน, ประสานเสียง, คีย์บอร์ด, ควบคุมการผลิต, เพอร์คัสชั่น
เกริกกำพล ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส, ร้องนำบางส่วน
อาจารย์ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (เล็ก , ธนิสร์) : คีย์บอร์ด, ขลุ่ย, ฟลุต , แซ็กโซโฟน , ประสานเสียง , ร้องนำบางส่วน
อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) : กลอง , เพอร์คัสชั่น
ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2533 เรียกได้ว่าเป็นปีทองของวงคาราบาว โดยมีแอ๊ดเป็นผู้นำ โดยออกอัลบั้มออกมาทั้งหมด 5 ชุด ทุกชุดประสบความสำเร็จทั้งหมด ได้เล่นคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกา และในทวีปยุโรปหลายครั้ง รวมทั้งปี พ.ศ. 2528 วงคาราบาวได้แสดงภาพยนตร์เรื่องเสียงเพลงแห่งเสรีภาพร่วมกันทั้งวง และมีหลายเพลงของวงดนตรีคาราบาวที่ฮิตและติดอยู่ในความทรงจำของแฟน ๆ คาราบาวจนถึงปัจจุบัน เช่น เมด อิน ไทยแลนด์ , มหาลัย , เรฟูจี , บัวลอย (ถึกควายทุย ภาค 5) , คนจนผู้ยิ่งใหญ่ , ซาอุดรฯ , เจ้าตาก , เวลคัม ทู ไทยแลนด์ , กระถางดอกไม้ให้คุณ , คนหนังเหนียว , บาปบริสุทธิ์ , แม่สาย , ทับหลัง , รักทรหด เป็นต้น อีกทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเพลงไทยในด้านต่าง ๆ เช่นดังนี้
วงคาราบาวเป็นศิลปินกลุ่มแรกของไทยที่มีโฆษณาลงในปกอัลบั้มและได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ในสังคม เช่นเครื่องดื่มโค้ก
คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวง ทำโดยคนไทย ในปี พ.ศ. 2528 นับเป็นคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ครั้งแรกของไทย และ เป็นครั้งแรกที่มีการแสดงดนตรีในเวทีกลางแจ้ง อัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ที่เป็นประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทย ถึงแม้เพลงนี้จะไม่มีมิวสิกวีดีโอ แต่เมื่อเพลงได้ถูกเผยแพร่ออกไป และ ได้รับความนิยมถึงขีดสุด ทางรัฐบาลในขณะนั้นนำโดย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในเนื้อหาที่รณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย จึงได้จัดทำมิวสิกวีดีโอขึ้นมาต่างหากเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ไม่ได้ส่งเสริมการขายอัลบั้มแต่อย่างใด
แต่เพลงของวงคาราบาวบางเพลง แอ๊ดจะแต่งโดยมีเนื้อหาส่อเสียด จึงมักจะถูกคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว. สั่งห้ามนำไปเผยแพร่ออกอากาศอยู่เสมอ ในแต่ละอัลบั้ม เฉพาะในยุคก่อตั้งจนถึงยุคคลาสสิกจะมีเพลง ท.ทหารอดทน, ทินเนอร์ ในอัลบั้ม ท.ทหารอดทน , หำเทียม ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ , หำเฮี้ยน ในอัลบั้ม อเมริโกย , วันเด็ก , ผู้ทน , ค.ควาย ค.คน ในอัลบั้ม ประชาธิปไตย และ พระอภัยมุณี ในอัลบั้ม ทับหลัง
แยกย้ายและปัจจุบัน
สมาชิกวงคาราบาวยุคปัจจุบันในอัลบั้มกำลังใจคาราบาว 30 ปี อัลบั้มที่ทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีของวง
ในปี พ.ศ. 2532 เป็นปีแยกตัวของสมาชิกวงคาราบาวยุคคลาสสิก โดยเทียรี่ เมฆวัฒนา, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และเป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ก็ได้แยกตัวออกจากวง และออกอัลบั้มร่วมกันในชื่อชุด ขอเดี่ยวด้วยคนนะ (ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำอัลบั้มเดี่ยวจริง ๆ ของแต่ละคน) ส่วนแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ได้แยกออกไปทำอัลบั้มเดี่ยวในชื่อชุด ทำมือ + ก้นบึ้ง และ โนพลอมแพลม โดยมีอ๊อด - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ และ เขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร รวมทั้งวงตาวันมาร่วมเล่นแบ็คอัพ และเล็ก - ปรีชา ชนะภัย ได้แยกออกไปทำอัลบั้มเดี่ยวในชื่อชุด ดนตรีที่มีวิญญาณ
และในปี 2533 คาราบาวได้ออกอัลบั้มชุดที่ 10 ห้ามจอดควาย โดยชุดนี้มีสมาชิกเหลือเพียง 4 คนคือ แอ็ด, เล็ก, เขียว และ อ๊อด และได้วงตาวันมาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์-นักดนตรีห้องอัดเสียง และร่วมเล่นแบ็คอัพให้ด้วย (สมาชิกวงตาวัน ปุ้ม-พงษ์พรม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คีย์บอร์ดและร้องประสาน, ต้น-วงศกร รัศมิทัต กลอง, หมู-กิติพันธ์ ปุณกะบุตร กีต้าร์และคีย์บอร์ด, ปริ๊นส์-มรุธา รัตนสัมพันธ์ กีต้าร์, เพอร์คัสชั่นและคีย์บอร์ด)
และหลังจากทัวร์คอนเสิร์ตอัลบั้มชุดที่ 10 เสร็จสิ้น เขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ก็ลาออกเพื่อไปทำอัลบั้มเดี่ยว และออกอัลบั้มชุดแรกชื่อชุด "ก่อกวน" ส่วนทางวงคาราบาวก็ได้รับสมาชิกเพิ่มเข้ามา มาแทนที่ตำแหน่งที่ออกไปคือ ดุก - ลือชัย งามสม (มือคีย์บอร์ด, ทรัมเป็ท) โก้ - อัทธนันต์ ธนอรุณโรจน์ (มือกลอง) และสมาชิกรับเชิญ น้อย ซานตานอย (คีย์บอร์ด และ แซ็คโซโฟน) ในอัลบั้มชุดที่ 11 วิชาแพะ เมื่อปี พ.ศ. 2534
ในปี พ.ศ. 2535 คาราบาวได้ออกอัลบั้มชุดที่ 12 สัจจะ ๑๐ ประการ หลังจากชุดนี้ เล็ก ได้ขอพักจากวง เพื่อไปทำอัลบั้มเดี่ยว
และในปี พ.ศ. 2536 คาราบาวได้สมาชิกคือ หมี - ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ (กีตาร์โซโล่) มาร่วมเล่นกีต้าร์ในชุดที่ 13 ช้างไห้ เป็นต้นมา
น้อง - ศยาพร สิงห์ทอง (เพอร์คัสชั่น, เบส ในบางเพลง) ได้มาร่วมเล่นกับคาราบาวในชุดที่ 14 รุ่นคนสร้างชาติ ในปี พ.ศ. 2537 และในอัลบั้มชุดที่ 15 แจกกล้วย เมื่อปี พ.ศ. 2538 และในปีเดียวกันนั้น วงคาราบาวมีอายุครบรอบ 15 ปี คาราบาวจึงได้ออกอัลบั้มชุดพิเศษ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอีกครั้งของสมาชิกในยุคคาสสิกทั้ง 7 คน ในชื่อชุด หากหัวใจยังรักควาย โดยออกมาถึง 2 ชุดด้วยกัน และมีการจัดคอนเสิร์ตปิดอัลบั้มคือ คอนเสิร์ตปิดทองหลังพระ ในปี พ.ศ. 2539 แต่หลังจากคอนเสิร์ตนี้ ชื่อเสียงและความนิยมของวงคาราบาวเริ่มซาลง เนื่องจากกระแสดนตรีที่เปลี่ยนไป แต่ทางวงก็ยังคงผลิตผลงานออกมาอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดย เล็ก - ปรีชา ชนะภัย, เทียรี่ เมฆวัฒนา ที่แยกตัวออกไปได้กลับมาร่วมวงอีกครั้งตั้งแต่อัลบั้มอเมริกันอันธพาลในปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน มีเพลงดังในช่วงซบเซานี้คือเพลง บางระจันวันเพ็ญ ในอัลบั้มชุด เซียมหล่อตือ หมูสยาม และทางวงก็ได้รับสมาชิกใหม่คืออ้วน - ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย ในตำแหน่งมือกลอง , ขลุ่ย และ แซกโซโฟนตั้งแต่อัลบั้มชุด สาวเบียร์ช้าง ในปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีที่ทางวงวางจำหน่ายอัลบั้ม ลูกลุงขี้เมา ที่ทางวงจัดทำขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 25 ปี ทางวงได้ปรับไลน์อัพของวงไปเป็นลักษณะแบบปัจจุบัน เนื่องจากน้อง - ศยาพร สิงห์ทอง ได้ขอลาออกจากวงจากปัญหาเรื่องสุขภาพ และได้เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557
ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 มีกระแสข่าวออกมาว่า เนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของคาราบาว เพื่อผลประโยชน์ด้านการเมือง และเพื่อให้การบริหารจัดการในวงมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่วินิจ เลิศรัตนชัย ผู้บริหารบริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ในฐานะผู้จัดมหกรรมดนตรี 30 ปี คาราบาว ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีของคาราบาวในวาระครบรอบ 30 ปีของวง ซึ่งแสดงเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555 เพื่อโปรโมทอัลบั้มกำลังใจคาราบาว 30 ปี ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว
จนถึงปัจจุบันนี้ คาราบาวมีอัลบั้มทั้งสิ้น 29 ชุด โดยอัลบั้มชุดล่าสุดที่วงคาราบาวออกจำหน่าย คือ 40 ปี ฅนคาราบาว ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งไม่นับรวมถึงอัลบั้มพิเศษของทางวงหรือของสมาชิกในวง หรือบทเพลงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากนับรวมกันแล้วคงมีไม่ต่ำกว่า 100 ชุด มีเพลงไม่ต่ำกว่า 1,000 เพลง เป็นวงดนตรีที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดทั้งในวงการดนตรีทั่วไปและวงการเพลงเพื่อชีวิต เป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคมทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ฟังเพลง หรือผู้ที่นิยมในเพลงเพื่อชีวิตเท่านั้น จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ตำนานเพลงเพื่อชีวิต
แต่ในช่วงหลัง เนื่องจากอายุที่มากขึ้นของสมาชิกวงคาราบาว ทำให้การทัวร์คอนเสิร์ตเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 แอ๊ดจึงได้ประกาศเตรียมยุบวงคาราบาวลงอย่างเป็นทางการ โดยคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของวงจะจัดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567
สมาชิกปัจจุบัน
ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : หัวหน้าวง , ร้องนำ , กีตาร์ , แต่งเพลงและดนตรี , ประสานเสียง เกิด 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497
ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : ร้องนำ , กีตาร์ , แบนโจ , ซอ,คีย์บอร์ด,เบส,กลอง, แต่งเพลงและดนตรีบางส่วน , ประสานเสียง เกิด 18 เมษายน พ.ศ. 2498
เทียรี่ เมฆวัฒนา (เทียรี่) : ร้องนำ , กีตาร์ ,เบส, ประสานเสียง, แต่งดนตรีบางส่วน เกิด 23 เมษายน พ.ศ. 2501
เกริกกำพล ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส , ประสานเสียง , ร้องนำบางส่วน เกิด 14 มิถุนายน พ.ศ. 2494
ลือชัย งามสม (ดุก) : คีย์บอร์ด , ทรัมเป็ท, แอคคอร์เดียน , ร้องนำบางส่วน , ประสานเสียง เกิด 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2496
ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ (หมี) : กีตาร์ , แมนโดลิน , พิณ ,เบส, ประสานเสียง เกิด 20 กันยายน พ.ศ. 2509
อัทธนันต์ ธนอรุณโรจน์ (โก้) : กลอง, เครื่องเคาะ , เพอร์คัสชั่น เกิด 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย (อ้วน) : กลอง , ขลุ่ย , เพอร์คัสชั่น , แซ็กโซโฟน , ประสานเสียง, ร้องนำบางส่วน เกิด 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516
อดีตสมาชิก
ไพรัช เพิ่มฉลาด (รัช) : เบส เกิด 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 (เสียชีวิต)
ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (เล็ก , ธนิสร์) : คีย์บอร์ด , แซกโซโฟน , ขลุ่ย ,ฟลุต, ร้องนำบางส่วน , ร้องประสาน เกิด 23 มกราคม พ.ศ. 2494 (;ร่วมวงในโอกาสครบรอบ 30 ปี คาราบาว)
อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) : กลอง , เพอร์คัสชั่น,ทรัมเป็ต เกิด 20 มีนาคม พ.ศ. 2494 (เสียชีวิต)
กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) : กีตาร์ , เบส, ร้องนำ , คีย์บอร์ด , เพอร์คัสชั่น, ประสานเสียง เกิด 25 มกราคม พ.ศ. 2495 (ร่วมทัวร์คอนเสิร์ตในโอกาสครบรอบ 30 ปี)
ศยาพร สิงห์ทอง (น้อง) : เพอร์คัสชั่น เกิด 19 กันยายน พ.ศ. 2506 (เสียชีวิต)
ผลงานสตูดิโออัลบั้ม
บทความหลัก: รายชื่ออัลบั้มเพลงที่ขับร้องโดยคาราบาว
เฉพาะสตูดิโออัลบั้มภาคปกติของวงคาราบาว มีดังนี้
อัลบั้มยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2524 - 2526)
ขี้เมา (พ.ศ. 2524)
แป๊ะขายขวด (พ.ศ. 2525)
วณิพก (พ.ศ. 2526)
ท.ทหารอดทน (พ.ศ. 2526)
อัลบั้มยุคคลาสสิค (พ.ศ. 2527 - 2531)
เมด อิน ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2527)
อเมริโกย (พ.ศ. 2528)
ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2529)
เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2530)
ทับหลัง (พ.ศ. 2531)
อัลบั้มยุคหลัง (พ.ศ. 2533 - 2541)
ห้ามจอดควาย (พ.ศ. 2533)
วิชาแพะ (พ.ศ. 2534)
สัจจะ ๑๐ ประการ (พ.ศ. 2535)
ช้างไห้ (พ.ศ. 2536)
รุ่นคนสร้างชาติ (พ.ศ. 2537)
แจกกล้วย (พ.ศ. 2538)
หากหัวใจยังรักควาย (พ.ศ. 2538)
เส้นทางสายปลาแดก (พ.ศ. 2540)
เช' ยังไม่ตาย (พ.ศ. 2540)
อเมริกันอันธพาล (พ.ศ. 2541)
พออยู่พอกิน (พ.ศ. 2541)
อัลบั้มยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2543 - ปัจจุบัน)
เซียมหล่อตือ หมูสยาม (พ.ศ. 2543)
สาวเบียร์ช้าง (พ.ศ. 2544)
นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ (พ.ศ. 2545)
สามัคคีประเทศไทย (พ.ศ. 2548)
ลูกลุงขี้เมา (พ.ศ. 2550)
โฮะ (พ.ศ. 2553) (ร่วมร้องเพลงเพื่อชีวิตติดล้อกับเสก โลโซ) ฉลองเทศกาลฟุตบอลโลก 2010
กำลังใจ คาราบาว 30 ปี (พ.ศ. 2554)
สวัสดีประเทศไทย (พ.ศ. 2556)
40 ปี ฅนคาราบาว (พ.ศ. 2565)
ขอบคุณรูปภาพจากเพจ วงคาราบาว