คนไทยในอิสราเอลดับแล้ว 20 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 14 ยอดขอกลับไทยทะลุ 5 พัน
วันนี้(11 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวสถานการณ์ในอิสราเอลหลังถูกกลุ่มฮามาสบุกโจมตีว่า แรงงานไทยในพื้นที่ที่เห็นเหตุการณ์แจ้งว่าแรงงานไทยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย (ข้อมูล10 ต.ค.66) รวมเป็น 20 ราย รอการยืนยันจากทางการอิสราเอล สถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ ได้รับรายงานผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก 4 คน รวมเป็น 13 คน น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้ไปเยี่ยมคนไทยที่ถูกยิงและรักษาอาการอยู่ในโรงพยาบาล ใกล้กรุงเทลอาวีฟ ได้คุยกับหมอ ผู้ที่ถูกจับไปเพิ่มขึ้นอีก 3 คน รวมเป็น 14 คน รายงานระบุว่า กลุ่มฮามาส จับประชาชนหลายประเทศ 150 คน มีการคาดการณ์กันว่า เมื่อจับไปและกระจายอยู่ในสถานที่ต่างๆ ความปลอดภัยไม่สามารถยืนยันได้ การช่วยเหลือเพิ่มเติมจากพื้นที่เสี่ยง ได้ช่วยเหลือเพิ่มอีก 14 คน จากการช่วยเหลือก่อนหน้านี้
โดย น.ส.พรรณนภา เดินทางไปเยี่ยมกลุ่มแรงงานไทย จำนวน 46 คน ซึ่งได้อพยพออกมาจากพื้นที่เสี่ยงใกล้ฉนวนกาซา ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมทั้งชี้แจงเรื่องการเตรียม เครื่องบินอพยพคนไทยในรอบต่อไปคือ วันที่ 15 ต.ค.66 และ 18 ต.ค.66 ขอรายชื่อคนที่จะเดินทาง และไม่ต้องห่วงเรื่องพาสปอร์ต กระทรวงการต่างประเทศ จะออกเอกสารให้ การอพยพคนไทย พรุ่งนี้(11 ต.ค.66) รอบแรก 15 คน เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 10.35 น.ทำให้เช้าพรุ่งนี้กระทรวงการต่างประเทศจะไม่มีการแถลงข่าว จะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ในตอนบ่าย
สำหรับคนไทยลงทะเบียนขอเดินทางกลับเพิ่มขึ้นตัวเลขอยู่ที่ 5,019 คน (ข้อมูลวันที่ 10 ต.ค.66) ไม่ประสงค์เดินทางกลับ 61 คน จากคนไทยอยู่ที่อิสราเอลประมาณ 30,000 คน ไม่สามารถกรอบเวลาในการเดินทางกลับได้ มั่นใจ พยายามทำอย่างเร็วที่สุด การอพยพคนไทยต่างจากประเทศต่างๆในยุโรป เนื่องจากคนในยุโรปที่มีการอพยพเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้เป็นแรงงาน ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสู้รบเช่น เป็นนักท่องเที่ยว เป็นพลเรือน อยู่ใกล้กรุงเทลอาวีฟ รวมพลได้ง่าย ไม่ใช่คนที่ต้องฝ่าพื้นที่เข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย เรื่องนี้ได้คุยกับอิสราเอลในการอพยพคนเป็นกลุ่มก้อน ขอให้อพยพออกมาในพื้นที่ที่ปลอดภัยก่อน ไทยกังวลการเข้าไปช่วยเหลือช้า ทางการอิสราเอล เสียใจ แต่ขอให้เข้าใจถึงข้อจำกัดในการช่วยเหลือ หากสถานการณ์สู้รบรุนแรงจนอาจปิดน่านฟ้า มีการคุยกันเรื่องการอพยพทางเรือ แต่ในขณะนี้การอพยพทางเรือ มองว่ายังเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย สหประชาชาติพยายามไกล่เกลี่ย อยากให้สถานการณ์ดีขึ้น และทุกประเทศมีความพยายามดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรง