"ส.ว."ดาหน้าคัดค้าน"นโยบายแจกเงินดิจิทัล" 1 หมื่นบาท จี้รัฐบาลยอมรับความจริงแนะให้ถอนโครงการออก อ้างเสี่ยงขัดรธน. ด้านสมศักดิ์ลั่นเพื่อไทยพร้อมรับผิดชอบแจกเงินดิจิทัล บอกหากไม่ดีก็มีผลกระทบในการเลือกตั้งครั้งหน้า จวกนักวิชาการชอบวิจารณ์ฟรี ขณะที่ปดิพัทธ์ซบเป็นธรรม
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ตามระเบียบวาระในช่วงหารือ ได้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายคนทักท้วงถึงการเดินหน้าทำโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและประชาชนระยะยาว พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลถอยโครงการดังกล่าว โดย นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. ได้หารือที่ประชุมว่าโครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล มองว่าเป็นโครงการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 162 เนื่องจากไม่ชี้แจงรวมถึงแถลงแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะนำมาใช้ รวมถึงสุ่มเสี่ยงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของรัฐ
นอกจากนี้ยังส่อขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว อย่างไรก็ดีตนทราบว่ารัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินรับโครงการดังกล่าวไปดำเนินการแทนโดยใช้เงินของธนาคาร รวม 5.6แสนล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยให้ภายหลัง อย่างไรก็ดีตนพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารออมสิน แล้วมองว่าการดำเนินการดังกล่าวจะขัดกับกฎหมายของธนาคาร
ผมขอให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ หากจะทำเพราะได้หาเสียงไว้ ควรพิจารณาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเงินการคลัง หากทำผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ แม้จะบอกว่าประชาชนต้องรับผิดชอบ แต่ผมมองว่าผู้รับผิดชอบคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ฐานะประธานวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมถึง ครม. ผมขอให้ดูโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง ขอให้นำความเห็นผู้ที่คัดค้านไปปรับปรุงแก้ไข นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้าน นายถวิล เปลี่ยนสี ส.ว. หารือในประเด็นเดียวกัน โดยย้ำว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเป็นนโยบายที่เป็นปัญหาและไม่ถูกต้องด้วยกาลเทศะ เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องกระตุ้นมากนัก ดังนั้นตนมองว่าควรเน้นเสถียรภาพมากกว่าการสร้างภาระหนี้สินให้รัฐในอนาคต อย่างไรก็ดีขณะนี้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยท้วงติง ตนมองว่ารัฐบาลควรรับฟังเหตุผล
รัฐบาลยืนยันทำโครงการ โดยอ้างว่าเป็นความต้องกการของประชาชน ผมว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง หากสิ่งใดเป็นพิษต้องไม่ตามใจประชาชน นายกฯ เหมือนหมอที่รักษาไข้ราษฎร หมอให้ยาพิษเคลือบน้ำผึ้งกับคนไข้ไม่ได้ ประชาชนย่อมไม่รู้ถึงพิษที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ ผมเสนอแนะว่ารัฐบาลต้องกล้าหาญและยอมรับสารภาพความจริงกับประชาชนว่าไม่ทำโครงการนี้ ความมุ่งมั่นทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกล้าหาญ แต่เป็นเรื่องดื้อรั้นไม่มีเหตุผล ดังนั้นยังมีเวลาจะทบทวน ผมหวังนายกฯ จะรับฟังเสียงท้วงติง นายถวิล กล่าว
ส่วน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. หารือด้วยว่า สินทรัพย์หรือเงินดิจิทัลที่ใช้ตลาดเก็งกำไรทั่วโลก เป็นความเสี่ยงหากรัฐบาลจะเข้าไปรับประกันมูลค่าและนำเข้าสู่การซื้อขายเงินคริปโต เพราะมีกรณีของบิตคอยน์ ที่พบว่ามีมูลค่าขึ้นสูงสุด 6.9หมื่นเหรียญสหรัฐ แต่วันนี้ เหลือ 2.7หมื่นเหรียญสหรัฐ และบิตคอยน์นั้น เชื่อว่าอยู่ในกกลุ่มของฟอกเงินของนักพนัน ผู้ค้าของเถื่อน หลบเลี่ยงภาษีทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรมองแค่ผลบวกอย่างเดียว และไม่ควรเอาประเทศไปเสี่ยงในวงการดังกล่าว
นพ.เจตน์ กล่าวด้วยว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะแจกเงินแบบเหวี่ยงแหทุกกลุ่ม เพราะเป็นนโยบายที่ไม่สร้างความเป็นธรรม และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ดังนั้นรัฐบาลควรจะทำคือ เน้นการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก รวมถึงเน้นการลงทุนภาครัฐ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นโยบายแจกเงินเป็นความเลื่อนลอยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นความคาดหวังเกินจริง การใช้จ่ายเงินของรัฐ แจกหรือ โอน จะมีมูลค่าต่ำกว่าตัวคูณในการลงทุนของภาครัฐ ดังนั้นผมขอให้รัฐบาลถอยโครงการนี้และนำเงินไปใช้ในทางที่เหมาะสมของประเทศต่อไป
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนมากร่วมลงชื่อให้ทบทวนนโยบายแจกเงินผ่านระบบดิจิทัลให้ประชาชนรายละ 10,000 บาท ว่า เป็นเรื่องการคิดและวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งสามารถทำได้ แต่ในเรื่องที่เราจะดำเนินนโยบายอะไรสักเรื่องเป็นการรับผิดชอบในนโยบายของพรรคการเมืองที่มีต่อประชาชน เราต้องคิดมาดีแล้วถึงดำเนินการ โดยหากทำแล้วออกมาดีก็ไม่มีอะไร ส่วนคนวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ขาดทุนหรือเข้าเนื้ออะไร ทุกเรื่องมีสองมุม จะดีหรือไม่ดี แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันมีผลอย่างไร แต่ให้รอดูว่าเมื่อรัฐบาลดำเนินการออกมาแล้ว หากผลออกมาไม่ดี คะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะมีผลต่อพรรคการเมืองที่นำเสนอ พรรคเพื่อไทยรับผิดชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ทำอะไรต้องรับผิดชอบในด้านนั้น
คนวิพากษ์วิจารณ์ก็พูดฟรีๆ ถึงจะผิดก็ไม่มีใครว่า ผมเห็นควรว่าต้องเดินหน้านโยบายนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประกาศต่อสาธารณะแล้วนายสมศักดิ์ กล่าว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก รองประธานสภาฯ คนที่ 1 พร้อมด้วย นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม , นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม แถลงถึงกรณีรับนายปดิพัทธ์เข้าร่วมสังกัดพรรคเป็นธรรม หลังจากที่นายปดิพัทธ์ถูกพรรคก้าวไกลขับออกจากสมาชิกเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคเป็นธรรม เนื่องจากอุดมการณ์และแนวทางใกล้เคียงกันมากที่สุด ตนต้องขอขอบคุณหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ที่มีน้ำใจเพราะตนรู้ดีว่าการทำงานของตนต้องเผชิญความเสียดทานแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสภาให้โปร่งใส ผลักดันวาระก้าวหน้าถึงนโยบายที่ตนได้แถลงไว้ต่อสภาตอนเข้าชิงตำแหน่งรองประธานสภา ซึ่งตนได้หารือกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเป็นธรรมแล้ว ก็ยินดีที่จะสนับสนุนแนวทางนี้เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
"ในส่วนของผมวันนี้ในทางกฎหมายยังไม่มีการสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรม เพราะต้องรอหนังสือยืนยันการพ้นจากสมาชิกพรรคก้าวไกลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมาในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะสมัครเข้าพรรคเป็นธรรมต่อไป แต่วันนี้เพื่อคลายความสงสัยและสร้างความมั่นใจว่าผมไม่ได้นิ่งนอนใจกับการที่จะไร้สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งวันนี้ไม่ได้ถือฤกษ์ 10 เดือน 10 แต่เป็นวันดี เพราะพรุ่งนี้วันที่ 11 ต.ค. ถือว่าผมมีความชัดเจนในเรื่องสังกัดพรรค ผมจะทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมบนบัลลังก์ที่ทุกคนเข้าใจได้ว่าผมมีพรรคอยู่เรียบร้อยแล้ว และเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่แท้จริง"
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ตนจะทำงานตามที่มีบังคับบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าต้องทำงานเป็นกลางเพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ตนอยู่พรรคใดพรรคหนึ่งแล้ว จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นในสภา ดังนั้นการทำงานทั้งหมดของตนไม่ว่าจะเป็นการบรรจุกฎหมายหรือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเงิน ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตนก็จะอำนวยความสะดวกให้กับทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน และแน่นอนว่าสัดส่วนของฝ่ายค้านต่อให้พรรคเป็นธรรมเพิ่ม ส.ส.เป็น 2 คน นายกัณวีรณ์ก็คงไม่ได้อภิปรายอะไรมาก และตนคงไม่ได้เข้าร่วมการประชุมของพรรคเป็นธรรมในการกำหนดแนวทางการอภิปราย หรือแม้แต่วิปฝ่ายค้านตนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด เพราะตนจะต้องทำงานร่วมกับประธานสภา และรองประธานสภาคนที่ 2 มากกว่า ยืนยันว่าตนจะทำงานเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็น สส.สังกัดพรรคไหน
เมื่อถามว่า การทำงานในสภาต่อจากนี้อาจจะถูกจับจ้องในการปฏิบัติหน้าที่ได้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้บรรยากาศดีขึ้น จากที่ นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ก็มีท่าทีที่สนับสนุนและเคารพการตัดสินใจของตน ส่วนเรื่องการจับจ้องทางการเมืองก็แน่นอนเราปฏิเสธไม่ได้เพราะเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ตนจะอยู่พรรคเป็นธรรมแล้ว ฉะนั้นตนคิดว่าคงจะมีแรงเสียดทานเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรับสภา ซึ่งมีมหากาพย์รออยู่ ยังไม่รวมอีกหลายเรื่องที่คิดว่าต้องทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องต่างๆ สัญญาแม่บ้าน สัญญาร้านอาหาร สัญญาซื้ออุปกรณ์ไอซีที ซึ่งทั้งหมดเป็นความท้าทายที่รออยู่ แรงเสียดทานคงไม่ได้น้อยลง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทีมงานของพรรคก้าวไกลที่อยู่กับนายปดิพัทธ์จะย้ายมาอยู่กับพรรคเป็นธรรมด้วยหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งคนที่มีตำแหน่งบริหารก็ลาออกจากตนหมดแล้ว เมื่อถามว่า การที่นายปดิพัทธ์เข้าพรรคเป็นธรรมบ่งบอกอะไรหรือไม่ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังอยู่กับพรรคเป็นธรรมต่อไป ไม่มีการย้ายกลับไปสังกัดพรรคก้าวไกลเหมือนเดิม เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเป็นธรรมเป็นแค่พรรคกาฝาก นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่มีการตัดสินใจอะไรในระยะยาว ตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นก่อน เพราะตนก็ต้องสังกัดพรรคให้ได้ภายใน 30 วัน และพรรคเป็นธรรมจริงใจที่สุด เปิดรับที่สุด และมีแนวทางที่ใกล้เคียงที่สุด ส่วนเรื่องการเลือกตั้งเป็นเรื่องของอีกหลายปีก็ค่อยๆ พิจารณาไปก่อน ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของทั้งพรรคเป็นธรรมและของตน
"ส่วนประชาชนในพื้นที่ จ.พิษณุโลกก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะตอนนี้เมื่อไปเดินตลาดเขาไม่ได้ทักทายสวัสดี คำพูดคืออย่าออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ เพราะชาวพิษณุโลกต้องการให้คนพิษณุโลกดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯมาก สิ่งที่ตนทำขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าได้" นายปดิพัทธ์ กล่าว
ด้าน นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของพรรคเป็นธรรม เพราะเราเป็นพรรคที่มีบริบทการทำงานทางการเมืองที่ชัดเจน ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้เมื่อนายปดิพัทธ์ส่งเอกสารสมัครเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ก็จะมีนายทะเบียนพรรคเป็นผู้รับมอบใบสมัครสมาชิกพรรคและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ จากนั้นให้กรรมกาการบริหารพรรครับรอง เพราะนายปดิพัทธ์ไม่ใช่สมาชิกทั่วไป มีตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทั้งนี้นายปดิพัทธ์ ไม่สามารถมีตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคได้ เพราะเป็นรองประธานสภาฯ โดยจะสนับสนุนการทำงานของพรรคในฐานะสมาชิกพรรคเท่านั้น
"ผมยืนยันจุดยืนการทำงานของพรรคเป็นธรรมจะสนับสนุนนายปดิพัทธ์ในฐานะรองประธานสภาฯ ที่ทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ และกิจการที่ดำเนินในปัจจุบัน และผมตอบรับเป็นทีมที่ปรึกษาของนายปดิพัทธ์ทำงานในสภาฯ แล้ว ทั้งนี้ผมสนับสนุนการทำงานประชาธิปไตยทางการเมืองไม่มีระบบกล้วย แต่เป็นอุดมการณ์พรรคเป็นธรรมไม่ได้ตกปลาในบ่อเพื่อนยืนยันไม่ได้เป็นสาขาของพรรคใด แต่เป็นพรรคประชาธิปไตยด้วยกัน มีบ้านคนละหลัง กินข้าวคนละชาม แม้ข้าวชามของผมไม่อร่อยเท่าของพรรคก้าวไกล แต่ไม่ถึงขนาดเป็นข้าวคลุกน้ำปลา" นายปิติพงศ์ กล่าว
ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า การทำงานของเราชัดเจนตรงไปตรงมาโดยเราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก และตรวจสอบการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นสาขาของพรรคก้าวไกลนั้น ยืนยันว่าพรรคเป็นธรรมไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรคก้าวไกล ตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เราก็ต่อสู้กันมา ซึ่งทำให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่าเราไม่ใช่พรรคสาขาแต่เราทำงานเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน ดังนั้นพรรคสาขาตนคิดว่าไม่น่าจะเป็นคำถามที่ออกมาจากสังคม