วันที่ 10 ตุลาคม 2566 สำนักงาน ป.ป.ช ประจำจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม จับกุมตัวนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองม่วง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยของกลางธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ เป็นเงิน 20,000 บาท   

โดยพฤติการณ์ในการจับกุม คือ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองม่วง มีพฤติการณ์ในการเรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าต่อสัญญาจ้างลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองม่วง ที่หมดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2566 จำนวนประมาณ 17 ราย โดยเรียกรับเงินค่าต่อสัญญารายละ 17,000 – 25,000 บาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและเงินเดือนของแต่ละราย โดยมีผู้เสียหายจำนวน 6 รายที่ประสงค์จะดำเนินคดีกับนายก อบต.หนองม่วง จึงได้มาร้องเรียนกับสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม จากนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม จึงได้ประสานไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 เพื่อดำเนินการในการดำเนินการ

จากนั้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ได้ประสานความร่วมมือกับตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม เพื่อร่วมวางแผนการจับกุมดังกล่าว โดยหลังจากสอบปากคำผู้เสียจำนวน 6 ราย มีเพียงผู้เสียหายรายที่ 1 ที่มีเงินสดจำนวนเพียงพอที่จะจ่ายได้ 

จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ได้นำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ ซึ่งรับมอบจากผู้เสียหาย ไปลงบันทึกประจำวันล่อซื้อไว้ที่ สภ.เมืองมหาสารคาม จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ภจว.มหาสารคาม เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้วางแผนโดยนำธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้มอบให้ผู้เสียหายนำไปมอบให้กับนายก อบต.หนองม่วง โดยนัดหมายที่จะมอบให้นายก อบต.หนองม่วงที่ห้องทำงานของนายก อบต.หนองม่วง ในช่วงบ่าย

 

หลังจากผู้เสียหายนำเงินของกลางดังกล่าวไปมอบให้กับนายก อบต.หนองม่วง แล้วจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทราบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เข้าแสดงตัวและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ผลการตรวจค้นปรากฏว่า พบของกลางคือ ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ซึ่งนายก อบต.หนองม่วง เป็นผู้เปิดลิ้นชักด้วยตนเอง ชุดจับกุมจึงได้นำมาตรวจสอบกับสำเนาธนบัตรที่ได้ลงประจำวันไว้ โดยของกลาง คือ ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ ถูกต้องตรงกันกับที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ทั้ง 20 ฉบับ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิผู้ต้องหา นำตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา