กต.สรุปคนไทยดับ 12 เจ็บ 8 ถูกจับตัวประกัน 11 ขอกลับประเทศ 1,099 คน หลังสถานการณ์สู้รบในตะวัน ออกกลางปะทุหนัก! ด้าน รมว.กลาโหม ยันอพยพคนไทยไม่ล่าช้า รอแค่ไฟเขียวจากอิสราเอล เผย ทอ. เตรียมเครื่อง บิน 6 ลำ ทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน-ชุดคอมมานโดใช้ เครื่องแอร์บัส ลำเลียงศพผู้เสียชีวิต พร้อมตั้งวอร์รูมประเมินสถานการณ์
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.66 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจความพร้อมของกองทัพอากาศในการเตรียมเครื่องบินไปรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบ จากการสู้รบในตะวันออกกลาง โดยกองทัพอากาศได้เตรียมเครื่องบินลำเลียงแบบC-130 จำนวน 5 เครื่อง และเครื่องบินโดยสาร แอร์บัส A340 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมด้วยกำลังพลชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ MERT จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ ซึ่งเคยปฏิบัติภารกิจในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกีและการอพยพคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในซูดานมาแล้ว รวมถึงชุดปฏิบัติการพิเศษ คอมมานโด จากหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
ตอนนี้การอพยพคนไทย เหลือเพียงการได้รับอนุญาตจากประเทศอิสราเอลและดูแลอำนวยความสะดวกให้เรา เราถึงจะไปรับคนไทยได้ ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง โดยเป็นห่วงเพียงว่าสถานการณ์ที่จะนอกเหนือจากที่เราควบคุมได้ว่า มันจะรุนแรงขึ้นหรือจะลดลง ถ้ามันรุนแรงขึ้นที่เราเป็นห่วงก็คือ กลัวจำนวนคนไทย 30,000 กว่าคน ถ้าหากว่าคนไทยขอกลับหมด กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นกำลังหลักอยู่แล้วก็เกรงว่าจะไม่ทัน ก็อาจจะต้องขอความร่วมมือจากการบินไทย หรือสายการบินพลเรือน ให้ช่วยหรือถ้าจำเป็น กระทรวงต่างประเทศได้คุยกับทางอิสราเอล อาจจะใช้เช่าเหมาลำบินมาก่อน
นายสุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งรัฐบาล และกองทัพ ได้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด โดยมีทั้งทูตทหาร และทูตต่างประเทศ เข้าไปประสานการให้ความช่วยเหลือ ดูแล และแก้ปัญหาให้คนไทยที่อยู่ในอิสราเอลอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงกลาโหมจะมีการตั้งวอร์รูม เพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งหากมีภารกิจที่สามารถสนับสนุนได้ ก็พร้อมปฏิบัติการทันที
ด้าน พลอากาศเอกพันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงการลำเลียงศพผู้เสียชีวิตกลับประเทศว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าไหร่และอยู่ในจุดไหนของประเทศอิสราเอลบ้าง คงต้องรอข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศในส่วนของเครื่องบินแอร์บัส ทอ. สามารถลำเลียงศพได้ แต่ขึ้นอยู่กับขั้นตอนในเรื่องของการอนุญาต การพิสูจน์ทราบ โดยเรามีช่องคอมพาสเมนท์ 8 ช่อง ในการลำเลียงแต่ละเที่ยวบิน หรืออาจจะเป็นการใช้บริการของบริษัทเอก ชน ชื่อว่าเคมาร์ ซึ่งต้องรอการพิจารณาสั่งการต่อไป
ส่วนที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีความไม่สงบในพื้นที่ตะวันออกกลางและอิสราเอลว่า ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตชาวไทยที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างอยู่ที่ 12 ราย ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย ซึ่งรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีชาวไทยถูกจับกุมเป็นตัวประกัน 11 ราย ส่วนรายชื่อของผู้เสียชีวิตจะขอยังไม่เปิดเผยในตอนนี้
นอกจากนั้นแล้วในเรื่องความพยายามที่จะอพยพคนไทยและพลเรือนในพื้นที่ ตอนนี้ได้รับแจ้งว่ากองทัพอิสราเอลเริ่มอพยพคนไทยจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว มีหลายที่ด้วยกันที่ได้มีการอพยพ โดยขณะนี้มีผู้แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว 1,099 คน ขอไม่กลับอีก 22 คน ซึ่งจะมีการทยอยแจ้งความประสงค์เข้ามา
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เป็นการพิจารณากระทู้ถามด้วยวาจาของ นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ ส.ว. ถาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีการดำเนินงานนโยบายต่างประเทศต่อสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส โดยนายเศรษฐา มอบหมายให้ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือความปลอดภัยของชาวไทยที่บาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัส รวม 8 ราย และผู้ที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกันอีก 11 ราย รวมถึงประชาชนไทยที่อยู่ในอิสราเอล 30,000 คน ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิสราเอลและปาเลสไตน์เป็นปัญหาสะสมมานาน คนที่ติดตามปัญหาดังกล่าวจะเข้าใจว่าเมื่อสหประชาชาติ (UN) มีมติให้ตั้งรัฐอิสราเอลในปี 2490 และมีการจัดตั้งรัฐอิสราเอลในปี 2491 สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐอิสราเอลตั้งอยู่ แต่ขณะเดียวกันมติสหประชาชาติฉบับนั้นพูดถึงการมีรัฐคู่ และการดูแลเมืองเยรูซาเร็มให้เป็นระบอบพิเศษระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มี ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดความขัดแย้งและการสู้รบจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
นายสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตนเคยเป็นหัวหน้าทีมที่เคยช่วยชาวไทยอพยพจากประเทศเลบานอนในปี 2549 ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างอิสราเอลและเฮซบอลเลาะห์มีชาวไทยกว่า 200 คน จึงเชื่อว่าขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่ตนไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะดำเนินการได้โดยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ สิ่งที่ใหม่คือการโจมตีที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ จึงอยากให้รัฐบาลคิดถึงความสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศคู่กรณีพิพาท
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า การที่ประชาชนไทยอยู่ในอิสราเอลร่วม 30,000 คน การกล่าวถ้อยแถลงมีความสำคัญ เพราะหากกล่าวเร็วและเอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมมีฝ่ายตรงข้ามที่มีความรู้สึกที่ไม่ดี ซึ่งต้องระวังให้ดี และความสัมพันธ์กับทูตประเทศต่างๆ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเจรจา รวมถึงการช่วยเหลือคนไทยที่เป็นตัวประกัน อพยพประชาชนไทยที่อยู่ในเขตอันตรายไปอยู่ในที่ ที่ปลอดภัย ซึ่งต้องจัดลำดับความสำคัญ หวังอย่างยิ่งว่านอกจากการดำเนินงานของรัฐบาล บุคลากรในฝ่ายนิติบัญญัติสามารถมีส่วนสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนไทยในอิสราเอลได้ รวมถึงต้องมีแผนต่อไปว่าการสู้รบนี้จะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าใด และมีกระบวนการการช่วยเหลือประชาชนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร
ด้านนายจักรพงษ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศและได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งเราเห็นความจำเป็นที่รัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์จะต้องเจรจากัน เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อความมั่นคงและสันติภาพที่ยั่งยืน รวมถึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและสันติ ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยการเจรจาอย่างสันติเท่านั้น
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะตระหนักถึงความสำคัญของบรรยากาศการเจรจาที่จะเป็นโอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงอย่างสันติ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการประณามการกระทำที่รุนแรงที่เกิดขึ้นที่ส่งผลต่อความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมีคนไทยที่ได้รับผลกระทบทั้งชีวิต บาดเจ็บ และถูกลักพาตัว โดยในขณะนี้การปกป้องดูแลความปลอดภัยของคนไทยและการนำคนไทยกลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัยในโอกาสแรกที่ทำได้ ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญลำดับต้นของรัฐบาล
ขอให้รัฐบาลอิสราเอล ปาเลสไตน์ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลสันติภาพ ปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับกุมออกมาอย่างปลอดภัย รวมถึงรัฐบาลกำลังเจรจากับรัฐบาลปาเลสไตน์เพื่อช่วยคนไทย ทั้งนี้ ในส่วนของการช่วยเหลือทางรัฐบาลได้เตรียมเครื่องบินที่จะอพยพชาวไทยที่อยู่ในปาเลสไตน์ ซึ่งมีการวางแผนกันไว้แล้วว่าหากเราสามารถเอาเครื่องบินลงที่ปาเลสไตน์ได้ เราก็จะเอาเครื่องลงที่นั่น แต่หากไม่ได้ก็จะเอาลงบริเวณใกล้ๆ รวมถึงเตรียมช่องทางการติดต่อไว้แล้ว โดยเราจะรับเรื่องการเจรจาไปดำเนินการ ยืนยันว่าเราใช้ทุกวิถีทาง ทุกช่องทางในการที่จะช่วยเหลือและนำคนไทยออกมาได้อย่างปลอดภัย