เมื่อวันที่ 6 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรค และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.หญิง ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ระบุว่า...
“บุหรี่ไฟฟ้า” ช่องโหว่ในสังคมไทยที่กำลังทำร้ายเยาวชน
ทุกวันนี้ถ้าเราเดินไปตามที่ต่าง ๆ เราจะพบคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น ในสัดส่วนที่อาจจะพอ ๆ กับบุหรี่ปกติเลยนะคะ การนำเข้า การขาย การซื้อ การสูบบุหรี่ไฟฟ้า หมุนเวียนใกล้ชิดอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป แต่นั่นก็อาจไม่เป็นปัญหาใหญ่สักเท่าไหร่ ถ้าหากบุหรี่ไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้การควบคุมไม่ให้เข้าไปถึงมือของเด็กและเยาวชนได้อย่างง่ายดายเช่นปัจจุบัน
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายมีโทษจำคุกและปรับในอัตราสูง แต่กลับพบว่ามีการจำหน่ายให้แก่ เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลาย เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีการใช้สารโพรพลีลีนกลีเซอรอล (Propylene Glycerol) ที่ทำให้สารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติหรือกลิ่นคล้ายน้าหอมหรือ เครื่องสำอาง จึงดึงดูดให้มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว
ปัญหาใหญ่ของสังคม เมื่อมีเยาวชนติดบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อมูลล่าสุดจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งสำรวจไว้เมื่อกลางปีเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าในภาพรวมของประเทศ มีเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 9.1 ตัวเลขของเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเกือบ 1% จากร้อยละ 8.29 เมื่อปี 2564 ในระยะเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น พฤติกรรมดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการถูกชักชวนจากคนรอบข้าง ส่วนใหญ่ถูกเพื่อนชวน ร้อยละ 92.2 รองลงมา คือญาติ ร้อยละ 3.2 และคนในครอบครัว ร้อยละ 1.6
จากแต่ก่อนที่เราอาจจะเคยเห็นภาพเด็กนักเรียนแอบมั่วสุมสูบบุหรี่มวนกันตามมุมอับ หรือห้องน้ำในโรงเรียน ทุกวันนี้ก็ถูกแทนที่ด้วยภาพนักเรียนที่เดินสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างสบายใจ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าพกพาง่าย มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นติดเนื้อติดตัวเหมือนกับบุหรี่มวน แถมจำนวนเด็กที่อยากลองสูบบุหรี่เป็นครั้งแรกก็เพิ่มขึ้น เพราะด้วยความสะดวกสบายในด้านต่าง ๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เคยรายงานปัจจัยของพฤติกรรม การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกว่า เกี่ยวข้องกับการรับสื่อ และความสามารถ ในการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งในด้านความสะดวกสบายในการซื้อ-ขาย ราคา และโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย กลิ่นของบุหรี่ไฟฟ้า รูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีทั้งแบบใช้แล้วทิ้งและเปลี่ยนหัวน้ำยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีพลวัตรและพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา เพื่อดึงดูดเด็กมากกว่าบุหรี่และยาสูบแบบเดิม แต่สิ่งเดียวที่ไม่เคยมีการปรับตัวเลยก็คือ “กฎหมายกำกับดูแล”
เหตุการณ์เช่นนี้ มีกรณีตัวอย่างแล้วอย่างเช่นที่ประเทศอังกฤษ จำนวนวัยรุ่นอังกฤษที่สูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 24% ภายในเวลา 1 ปีครึ่ง ซึ่งข้อมูลนี้มาจากรายงาน การสำรวจแนวโน้มการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนจากชุดข้อมูล สำรวจเพื่อประเมินผลนโยบายควบคุมยาสูบระหว่างประเทศ (International Tobacco Control Policy Evaluation Project : ITC) โดยมหาวิทยาลัยวอร์เตอร์ลู แคนาดา ที่คาดว่าจำนวนเยาวชนอังกฤษที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นขนาดนี้ เป็นผลมาจากรัฐบาลมีท่าทีสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมคนถึงหันมานิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้นล่ะ? นั่นก็เพราะในช่วงหนึ่ง บุหรี่ไฟฟ้าเคยถูกโฆษณาว่า ช่วยให้เลิกบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมได้ แต่นัั่นก็เป็นเพียงแค่การเลิกบุหรี่มวนเพื่อมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทนเท่านั้นแหละค่ะ
ผลกระทบต่อสุขภาพ
สถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Academics of Sciences Engineering Medicine: NASEM) เคยระบุไว้ว่า 80% ของผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่แล้ว สูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนนั้น จะหันมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ต่างจากกลุ่มที่ใช้วิธีอื่น เพื่อเลิกบุหรี่ (Nicotine Replacement Therapy: NRT) เหลือแค่ 9% เท่านั้นที่เลิกไม่ได้
บางคนอาจจะบอกว่า “เลิกไม่ได้ แต่อันตรายน้อยกว่าไหม?” นั่นก็อาจจะจริงที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัว เช่น น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่สารประกอบอื่น ๆ ที่เหลือในบุหรี่ ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
มีการประมาณว่า หากไทยมีการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตจากบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้นจากปกติประมาณปีละ 2,762 ล้านบาทต่อปี แต่ทุกวันนี้แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะยังคงผิดกฎหมายในบ้านเรา แต่ก็มีการซื้อขายกันเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์ หรือวางแผงขายกันบนทางเท้า ซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้กำลังหมุนเวียนอยู่นอกระบบภาษี ทำให้ประเทศชาติเสียรายได้ที่ควรถูกนำมาพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปอย่างน่าเสียดาย
แต่หากเราลองมองมุมกลับและปรับมุมมอง การทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐจะสามารถลดอันตรายแก่ผู้สูบได้ โดยการออกกฎหมายที่ครอบคลุมและเหมาะสม ดีกว่าปล่อยให้กลายเป็นธุรกิจนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายเหมือนในปัจจุบัน และเรายังสามารถจัดเก็บภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนที่เราจัดเก็บภาษีจากบุหรี่มวน เพื่อนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นได้
หากเราคิดจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายก็ควรจะต้องเริ่มศึกษาได้แล้ว เพราะช่องโหว่ตรงนี้อาจกลายเป็นช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชัน เรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ได้ ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวว่า มีนักท่องเที่ยวไต้หวันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับและปรับเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทย
ถึงเวลาที่เราต้องศึกษาอย่างจริงจัง
สุดท้ายแล้ว เราควรจะมีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะหรือไม่ หากเราลองมองออกไปไกลจากนอกประเทศเราเสียหน่อยจะพบว่า มาตรการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้งและแตกต่างหลากหลายอย่างมาก
ไม่ว่าจะด้วย เรื่องการจำหน่ายและการกำหนดอายุขั้นต่า การควบคุมผลิตภัณฑ์ ปริมาณ และความเข้มข้นของนิโคติน ความปลอดภัยและความสะอาดของส่วนประกอบของอุปกรณ์ กลิ่นและรส การโฆษณา ส่งเสริมการขายและให้การสนับสนุน กิจกรรม บรรจุภัณฑ์ คำเตือนด้านสุขภาพ ความปลอดภัยกับเด็ก การขออนุญาตก่อนจำหน่าย และมาตรการทางภาษี ซึ่งหากเปรียบเทียบข้อกำหนดเหล่านี้ในต่างประเทศ กับกฎหมายควบคุมของบ้านเราที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทบจะเรียกว่าการควบคุมในบ้านเราอยู่ใน “ภาวะสุญญากาศ” เลยทีเดียว
ภาวะสุญญากาศเช่นนี้ ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น
1. ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม (The Rule of Law) อย่างเคร่งครัด
2. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐไม่สามารถเก็บภาษีนำเข้าและภาษีการจำหน่าย (VAT)
3. ปัญหาด้านสังคม บุหรี่ไฟฟ้ามีการจำหน่ายกันแพร่หลายทำให้ เยาวชน นิสิต นักศึกษาและประชาชนเสพติดได้ง่าย และมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนบุคคลและที่สาธารณะกันอย่างแพร่หลาย
4. ปัญหาด้านสุขภาพ รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณการรักษาดูแลและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เนื่องจากการได้รับสารนิโคตินโดยไม่รู้ตัวฃ
หญิงคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะหันมาสนใจอย่างจริงจังกับเรื่องนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นจริงในประเทศไทย และทำให้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ภายใต้การควบคุมเช่นเดียวกับบุหรี่มวน เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดตามมาเหมือนในต่างประเทศ
ถึงที่สุด ไม่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าสมควรจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายตามเดิม หรือเราจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย การหันมาสนใจปัญหานี้บ้างก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย
ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย
5 ตุลาคม 2566