"สุทิน" แนะ "ก้าวไกล" อยากได้รธน.ที่ตัวเองต้องการ ไม่ควรจะมีเงื่อนไข ส่งคนร่วมคกก.ประชามติ ภูมิธรรมยันไม่แตะหมวด1,2 ระบุอาจเป็นชนวนปัญหาใหม่ ย้ำก้าวไกลไม่ร่วมไร้ปัญหา มีเวทีอื่นรับฟัง ด้านคารมเผยก้าวไกลอ้างเหตุขับหมออ๋องฟังไม่ขึ้น ขณะที่"หมออ๋อง"คาดหาสังกัดพรรคใหม่ได้ใน 15 ต.ค.
       
    
 เมื่อวันที่ 4 ต.ค.66 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคก้าวไกลยังไม่เสนอชื่อบุคคลมาเป็นคณะกรรมการฯ จะมีผลกระทบกับการทำงานหรือไม่ ว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะเรามีความจริงใจในการเชิญทุกฝ่ายมาคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น แต่ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร เพราะแนวทางของเราไม่สามารถนำคนเข้ามาได้ครบอยู่แล้ว ดังนั้นคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเราก็จะจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็น เหมือนพีมูฟที่อยากคุยก็จัดเทวีคุย
    
 เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจึงไม่เข้าร่วม นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราชัดเจนว่าแก้ทั้งฉบับแต่ไม่แตะหมวด หนึ่ง หมวดสอง และพระราชอำนาจที่อยู่ในมาตราต่างๆ นอกนั้นก็แก้ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ก็ไม่เป็นไรถือเป็นเรื่องเห็นต่าง แต่เราเห็นว่าการแก้ไขในเรื่องที่กล่าวไว้ไม่ควรจะมี เพราะเป็นเรื่องที่เห็นต่างในสังคม
    
   เรื่องนี้ผมขอจริงๆ เพราะจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งใหม่ขึ้น แต่อะไรที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยขึ้นก็ให้เสนอเข้ามาเพราะทำได้หมด
    
 เมื่อถามว่า จะเสนอส่วนไหนเข้ามาแทนพรรคก้าวไกล นายภูมิธรรม กล่าวว่า คงต้องมีการดึงเข้ามาปรับกันนิดหน่อย แต่อย่างไรจะไม่เกิน 35 คน
    
 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเต็มใจหรือไม่เต็มใจที่จะทำ แต่ถ้าเต็มใจก็เป็นโอกาสที่ดี ที่ต้องรีบมาทำ เพราะมีโอกาสเสนอก็ให้รีบมา จึงอยากเชิญชวนพรรคก้าวไกลให้มาร่วม เพราะโอกาสนี้เป็นไปได้สูงที่สุด ที่จะร่วมกันทำงาน ถ้าไม่ร่วมโอกาสนี้ และจะไปร่วมโอกาสไหน จะไปทำเอง ได้เมื่อไร เพราะเป็นฝ่ายค้าน แต่หากอยากได้รัฐธรรมนูญที่ตัวเองต้องการไม่น่าจะมีเงื่อนไข
   
  เมื่อถามว่า เป็นเกมยื้อของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ก็คิดได้ แต่เราไม่อยากกล่าวหา ซึ่งก็ไม่มีเหตุผลอื่น และยืนยันว่า แม้ไม่มาร่วมก็ไม่กระทบต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่อยากให้มา อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของประชาชน ก็ต้องได้รับการยอมรับจากฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายก่อน ซึ่งเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด คือรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากต่างประเทศ เพราะหากฝ่ายการเมืองมาทำร่วมกันแล้วประชาชนก็ยอมรับ
   
  ทั้งนี้ ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 3 ต.ค. มีมติไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหตุรัฐบาลไม่ยืนยันหลักการ ร่างใหม่ทั้งฉบับ-เลือกตั้งส.ส.ร. หรือไม่
   
  ด้าน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 ถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล ว่า เป็นการใช้กฎหมายเอื้อประโยชน์และเกรงว่าจะลุกลามได้ พร้อมยกตัวอย่างที่เคยโหวตสวนมติของพรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยเรื่องแก้มาตรา 112 ตอนนั้นพรรคยังไม่ขับออก เพราะโหวตสวนมติพรรค แต่เห็นว่ากรณีที่พรรคก้าวไกลขับนายปดิพัทธ์ เป็นการเลี่ยงกฎหมาย เพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านถ้าเข้าไปทำอะไรเอาแต่ใจตัวเองซึ่งไม่ได้เพราะการเมืองต้องช่วยกัน
  
   นายคารม ยังขอบคุณผู้ใหญ่ในพรรคภูมิใจไทยที่ให้ โอกาสเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล แต่จะไม่ขอตอบโต้ทางการเมือง หากแต่เป็นเรื่องข้อกฎหมาย โฆษกรัฐบาล ก็ให้โอกาสในการชี้แจง พร้อมย้ำว่ายังมีตัวตน แต่ต้องช่วยขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลความขัดแย้งให้น้อยลง และยืนยันว่าไม่ใช่งูเห่า แต่เมื่อที่ไหนไม่สามารถทำงานให้กับประชาชนไม่มีพื้นที่ทำงาน ก็จะขอเลือกไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักการเมือง ประกอบกับ ที่ย้ายพรรคช่วงนั้นก็ได้รอให้มีการยุบสภาก่อน จึงขอความกรุณา อย่าเรียกว่างูเห่า วันนี้มีความใจเย็น สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ไม่เคยทิ้งอุดมการณ์ช่วยบ้านเมือง นับตั้งแต่เป็นทนายและเป็น สส.
  
   ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 กล่าวถึงกรณี หาสังกัดพรรคการเมืองใหม่ หลัง พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีมติขับออกจากพรรค ว่า อยู่ในช่วงเริ่มพูดคุย เพราะการจะไปอยู่พรรคไหนต้องเห็นด้วยกับนโยบายและอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งพรรคก็ต้องพูดความคาดหวังให้ชัดเจน เพราะก็อยากทำให้เป็นประโยชน์กับพรรคใหม่ ฉะนั้นไม่ใช่กระบวนการที่จะคุยกันสั้นๆ แต่ต้องทยอยคุย
  
   เมื่อถามว่า พรรคเป็นธรรมอยู่ในใจหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า มีพรรคให้เลือกเยอะ ซึ่งตอนนี้มีพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 พรรค และพรรคการเมืองนอกสภาที่กำลังพิจารณาข้อเสนออยู่ แต่ขอย้ำว่าพรรคฝั่งรัฐบาลไม่ต้องติดต่อมา เพราะเสียเวลา เมื่อถามว่า จะหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ได้เมื่อไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า มีเวลา 30 วัน คือภายในวันที่ 28 ต.ค. แต่ถ้าการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี คาดว่าภายในวันที่ 15 ต.ค. ก็จะมีความชัดเจน
    
 เมื่อถามถึงกรณีวิปรัฐบาลมีมติเตรียมยื่นการถูกขับออกของนายปดิพัทธ์ ให้องค์กรอิสระวินิจฉัย จะถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติ หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูคำแถลงที่เคยประกาศไว้ว่าเราจำเป็นต้องฟื้นฟูองค์กรนิติบัญญัติให้ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล และตุลาการ 3 อำนาจอธิปไตยต้องถ่วงดุล มีอิสระและความรับผิดชอบต่อกัน จึงคิดว่าสามารถจัดการเรื่องภายในองค์กรนิติบัญญัติได้ หากเราต้องพึ่งพาองค์กรที่เต็มไปด้วยคำถามถึงความเป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะองค์กรที่สืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะเป็นประเด็นที่สังคมต้องถามถึงบทบาทต่างๆ ของฝ่ายการเมือง