“เท้ง” แย้มข้อมูล “ซักฟอก” รบ.พร้อม 100% ปูดมีคนในรัฐบาลส่งให้ พร้อมเดินหน้าล่าชื่อ สส.ถอด “ประธาน ป.ป.ช.” เซ่นคลิปหลุด คาดไม่เกินสัปดาห์หน้า เชื่อ “วันนอร์” ไม่ปล่อยฟรี ด้าน “ปูอัด”รอด “ไทยก้าวหน้า”ออกแถลงการณ์ยังไม่ “ขับ”พ้นพรรค ชี้ รอผลคดีชั้นอัยการ ส่วน “นิด้าโพล” เผยประชาชนมอง “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” ขัดแย้งกันแต่ไม่ค่อยจริงจัง เชื่อสุดท้ายตกลงกันได้
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2568 ที่เขตสายไหม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่าไม่มีความเป็นเอกภาพ ล่าสุด ที่เป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการที่สภาฯล่ม จากการประชุมวาระที่หนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในส่วนของการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะมีอีกหลายประเด็นที่พวกเราได้ข้อมูลมาหลายทาง บางส่วนก็ได้รับมาจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง สิ่งต่างๆเหล่านี้เห็นได้ชัดว่าการที่รัฐบาลขาดความมีเอกภาพ ทำให้การดำเนินนโยบายหลายอย่าง ซึ่งหลายนโยบายได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาไม่สามารถที่จะเดินหน้าเพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะไปรอด 4 ปีหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น เป็นการผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ซึ่งเราเองไม่เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้จะช่วยในการผลักดันนโยบายที่สำคัญเป็นนโยบายใหญ่ให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้ ครึ่งเทอมที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดที่สุดแล้ว
"ผมเชื่อว่าประชาชนเฝ้ามองอยู่เช่นเดียวกัน และเชื่อว่าตอนนี้ รอยร้าวก็จะยิ่งแสดงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภา แต่ไม่สามารถผลักกันได้ เพราะพรรคร่วมฯ ไม่เอาด้วย" นายณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน วุฒิสภา (สว.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาซัดกัน จะมีข้อมูลลับมาถึงฝ่ายค้านให้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของดีเอสไอกำลังดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการฮั้วเลือก สว. ตนคิดว่า เป็นไปตามกระบวนการ สามารถดำเนินการได้ ส่วนมีข้อมูลที่จะใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ตนคิดว่า เรื่องนี้อยู่ในกรอบญัตติที่เราจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนจะมีเรื่องนี้หรือไม่ขอให้รอติดตามดูกัน
เมื่อถามว่า 2 ฝ่าย นิติบัญญัติและบริหารปะทะกันแบบนี้ มองอย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า แสดงให้เห็นว่าตอนนี้ในส่วนต่างๆของฝั่งรัฐบาลเอง ถึงแม้สว. โดยหลักการ อาจจะไม่ได้มีความยึดโยงกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ในสังคมเอง เราก็มีข้อคิดเห็นว่ามีความยึดโยงกับการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ สิ่งต่างๆเหล่านี้เราจะเห็นแต่ว่า สว. มีการโต้ตอบ ขู่กลับว่าจะมีการร่วมลงชื่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญในการดำเนินการถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นการตอบโต้การทางการเมือง เป็นสิ่งที่ตนคิดว่าประชาชนไม่อยากเห็น เราอยากจะเห็นการเมืองที่ตรงไปตรงมา
เมื่อถามว่าความขัดแย้งนี้จะนำมาสู่การยื่นข้อมูลลับ เพื่ออภิปราย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า อย่างที่ได้บอก ประเด็นนี้อยู่ในกรอบญัตติแน่นอน จะมีเรื่องความไม่โปร่งใส การไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง รวมถึงปัญหาที่สำคัญของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือปัญหาอื่น ส่วนในรายละเอียดว่าตนจะพูดถึงไม่พูดเรื่องใดบ้าง ขอให้รอติดตามกันการอภิปรายไม่ไว้วางใจจริงๆ
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจตอนนี้เกือบ 100% แล้ว เรื่องเนื้อหาก็มีความเข้มข้น แต่ตัวผู้อภิปรายเองรวมถึงประเด็นที่จะอภิปราย ขอยังไม่บอก รอให้อภิปรายจริงๆ รอติดตามกันดีกว่า
เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งกันแบบนี้ จะส่งผลให้ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจมีการซื้อเสียงงูเห่าจากพรรคประชาชนไปโหวตรัฐมนตรีรายบุคคลหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าพรรคประชาชนเป็น 1 ในกระบวนการอย่างนั้น ถ้ามีก็อาจจะมีได้
"ผมเชื่อมั่นว่าไม่มี สส.ของพรรคประชาชนคนไหนที่จะโหวตสวนหรือถูกซื้อตัวไปโหวตให้กับฝั่งรัฐบาลแน่นอน” หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าว
เมื่อถามว่ามีการคาดโทษคนในฝ่ายค้านหรือไม่ หากโหวตสวน นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า นิยามของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือคนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น จะไปคาดโทษเขาไม่ได้ สส.ของแต่ละพรรคที่จะโหวตหรือไม่โหวตอย่างไรก็เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรคร่วมฝ่ายค้านเอง แต่ตนคิดว่าสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากฝ่ายค้านคือการตรวจสอบรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อที่จะเอาไปใช้เป็นผลประโยชน์หรือข้อต่อรองทางการเมืองใดๆหรือไม่
เมื่อถามว่าสูตรรัฐบาลใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคประชาชนจะเข้าร่วม นายณัฐพงษ์ กล่าวทันทีว่า “คงเป็นไปไม่ได้ครับ เราประกาศชัดว่าในสมัยสภาชุดนี้คงไม่ได้ไปร่วมเป็นฝ่ายบริหารแน่นอน ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านต่อ”
นายณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าที่พรรคประชาชนรวบรวมเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนประธานสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนปัจจุบัน ว่า ตอนนี้ยังขาดรายชื่อบางส่วน ไม่มีปัญหาอะไร สส.พรรคประชาชน ยังลงชื่อไม่ครบ แต่มั่นใจว่าได้ครบทุกรายชื่อแน่นอน และ สส.ทุกคน ไม่ได้แสดงข้อกังวลใจใดๆ พร้อมจะแสดงชื่อและยื่นต่อประธานรัฐสภา เราตั้งเป้าไว้ในช่วงสัปดาห์นี้จะล่ารายชื่อให้ครบ
เมื่อถามว่าหากล่ารายชื่อได้ครบแล้วแต่ประธานรัฐสภาไม่ส่งต่อ จะดำเนินการต่ออย่างไร นายณัฐพงษ์ เผยว่า ส่วนตัวไม่อยากเชื่อว่าประธานรัฐสภาจะดำเนินการแบบนั้น สังคมเห็นหลักฐานที่ประจักษ์ว่ามีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนใน ป.ป.ช. และรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าเป็นดุลพินิจของประธานรัฐสภา หากมีมูลเหตุที่เชื่อว่าเป็นไปตามข้อกล่าวอ้าง รัฐสภาจะต้องส่งต่อไปยังศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เราจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะสังคมเฝ้ามองว่าการทำหน้าที่ของรัฐสภาเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะมีส่วนได้ส่วนเสีย ถูกมองว่าไม่โปร่งใสนั้น หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวย้ำว่า ยังไม่อยากวิเคราะห์มากขนาดนั้น ต้องรอดูก่อนหลังเรายื่นต่อประธานรัฐสภาจะดำเนินการอย่างไร เชื่อว่าท่านดำเนินการตรงไปตรงมา แต่ถ้าหากไม่ส่งขึ้นมาก็เชื่อว่าพรรคประชาชนจะพิจารณาแนวทางอื่นแน่นอน
ขณะเดียวกัน “พรรคไทยก้าวหน้า” ออกแถลงการณ์เรื่อง “มติที่ประชุมพรรคไทยก้าวหน้า กรณีความผิดมาตรฐานจริยธรรม ของนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ (ปูอัด) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ (ปูอัด) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคไทยก้าวหน้า ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานักท่องเที่ยวสาวชาวไต้หวัน ณ โรงแรมที่พัก หลังจากกลับจากสถานบันเทิงในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อคืนวันที่ 9 มกราคม 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างถูกการดำเนินคดีชั้นพนักงานสอบสวน
พรรคไทยก้าวหน้า มีความตระหนักต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทราบดีว่าเรื่องดังกล่าวนี้เป็นที่สนใจและกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องประชาชนจำนวนมากและพรรคก็จะปฏิเสธความรับผิดไม่ไม่ได้เช่นกัน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะพยายามแก้ไขให้ดีที่สุด ตามขั้นตอนระบบการดำเนินงานของพรรค โดยยึดหลักความถูกต้อง เป็นธรรม ความรู้สึกพี่น้องประชาชน
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา พรรคได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคไทยก้าวหน้า เพื่อพิจารณาเรื่องความผิดมาตรฐานจริยธรรม ตามข้อบังคับพรรคไทยก้าวหน้า พ.ศ.2567 ข้อที่ 83 กรณีนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ (ปูอัด) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าข่มขืนกระทำชำเรานักท่องเที่ยวสาวชาวไต้หวัน
โดยคณะกรรมการบริหารพรรค ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่พร้อมด้วยหลักการเหตุผล เพื่อความรอบคอบและเป็นธรรม ที่ประชุมจึงมีมติให้รอผลคดีในชั้นพิจารณาของอัยการก่อนจึงจะมาประชุมพิจารณาลงมติอีกครั้ง
พรรคไทยก้าวหน้า จึงกราบขอโทษพี่น้องประชาชน ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและพร้อมน้อมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จะตระหนักต่อเรื่องนี้ มิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับพรรคอีก โดยพรรคจะยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมอันดี ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีและพร้อมรับใช้พี่น้องประชาชนต่อไป
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “เพื่อไทย VS ภูมิใจไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยในช่วงที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.85 ระบุว่า มีความขัดแย้งกัน แต่ไม่ค่อยจริงจังเท่าไร รองลงมา ร้อยละ 32.91 ระบุว่า มีความขัดแย้งกันอย่างจริงจังพอสมควร ร้อยละ 17.40 ระบุว่า ไม่มีความขัดแย้งกันเลย ร้อยละ 10.38 ระบุว่า มีความขัดแย้งกันอย่างจริงจังมาก และร้อยละ 0.46 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ของบทสรุปของความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.09 ระบุว่า ท้ายที่สุดทั้งสองพรรคจะตกลงกันได้ และยุติความขัดแย้ง รองลงมา ร้อยละ 37.40 ระบุว่า ความขัดแย้งจะมีต่อไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังอยู่ร่วมรัฐบาลกันเหมือนเดิม ร้อยละ 10.31 ระบุว่า มีการปรับคณะรัฐมนตรี ดึงกระทรวงที่สำคัญออกจากพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 7.10 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี จะประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 2.52 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทยจะประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ร้อยละ 2.21 ระบุว่า ท้ายที่สุดพรรคภูมิใจไทยจะยอมถอยให้พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 1.30 ระบุว่า ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยจะยอมถอยให้พรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 1.07 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทยจะถูกปรับออกจากรัฐบาล
ท้ายที่สุดเมื่อถามความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับบทสรุปของความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.73 ระบุว่า ท้ายที่สุดทั้งสองพรรคจะตกลงกันได้ และยุติความขัดแย้ง รองลงมา ร้อยละ 21.60 ระบุว่า ความขัดแย้งจะมีต่อไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังอยู่ร่วมรัฐบาลกันเหมือนเดิม ร้อยละ 17.40 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 9.24 ระบุว่า มีการปรับคณะรัฐมนตรี ดึงกระทรวงที่สำคัญออกจากพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 2.82 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทยจะประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ร้อยละ 1.68 ระบุว่า ท้ายที่สุดพรรคภูมิใจไทยจะยอมถอยให้พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 1.53 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทยจะถูกปรับออกจากรัฐบาล และร้อยละ 1.00 ระบุว่า ท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยจะยอมถอยให้พรรคภูมิใจไทย
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก โดยตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยตัวอย่าง ร้อยละ 96.18 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.82 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 1.00 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 36.26 สถานภาพโสด ร้อยละ 61.37 สมรส และร้อยละ 2.37 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ โดยตัวอย่าง ร้อยละ 0.53 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 16.72 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 33.44 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.92 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 33.74 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.65 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 9.31 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.18 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.38 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.46 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.18 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.31 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงานและร้อยละ 6.18 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 20.77 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 3.28 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 14.27 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 34.50 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 11.68 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.66 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 2.21 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 1.15 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,001-60,000 บาท ร้อยละ 0.15 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 60,001-70,000 บาท ร้อยละ 0.31 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 70,001-80,000 บาท ร้อยละ 0.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 80,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.64 ไม่ระบุรายได้