นายกฯ ลงนามแต่งตั้ง 35 คกก.ศึกษาแนวทางทำประชามติ แก้รธน.นักการเมือง-นักวิชาการ-ตร.-ทหาร-นักกิจกรรม-นักศึกษา ร่วมคณะ ด้าน ภูมิธรรม คาด 10 ตุลาฯ ถกกรอบทำงานนัดแรก ชี้ ก่อนสิ้นปีได้ข้อสรุปชัดเจน มอบ ประเสริฐ ประสานก้าวไกลย้ำหลักการไม่แตะหมวด 1-2 ขณะที่ปลัดศธ.ขู่ลาออก-ฟ้องศาลปกครอง หลังถูกย้ายนั่งเลขาฯสกศ.ส่วน กกต. ห่วงปมร้องยุบพรรคตั้ง "อนุกก.ที่ปรึกษานายทะเบียนพรรคการเมือง" ช่วยกลั่นกรอง "ข้อมูล-กฎหมาย" ก่อนชี้ขาด เศรษฐา ยอมรับ กังวลสารพัดม็อบจ่อร้องทำเนียบฯ เชื่อถ้ารัฐบาลยกระดับความเป็นอยู่ ให้ปชช.สบายใจ ปัญหาจะลดลง
เมื่อวันที่ 3 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในฐานะประธานกรรมการกองทุน เพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ได้ลงนาม ในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษานายทะเบียนพรรคการเมือง โดยมี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานฯ นายบรรเจิด สิงคเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตสถาบันบัณ ฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายชัยรัตน์ กรรณิการ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีแพ่ง พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช. น. นายยงเกียรติ อดิเศรษฐกุล อดีตผู้อำนวยกา รสำนักกฎหมายสำนักงาน กกต. และ นายพชรธัช โควสุรัตน์ ร่วมเป็นอนุ กรรมการ เนื่องจากเห็นว่าตามกฎหมายพรรคการเมือง ได้กำหนดหน้าที่ และ อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้หลายเรื่อง ก่อนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีความเห็นเสนอต่อ กกต.หรือกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการ เมืองจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวจึงจะมีหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และให้ความเห็น รวมถึงเรื่องอื่นๆ ตามที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมอบหมาย
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การแต่งตั้งอนุกรรมการดังกล่าว นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้เสนอเรื่องและทาบทามบุคคลให้มาทำหน้าที่ โดยเห็นว่าตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 กำหนดอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ค่อนข้างกว้างขวางและเด็ดขาด ที่ผ่านมาเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำของพรรคการเมือง และสำนักงานฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบ หรือสอบสวนแล้วและเสนอเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณามีความเห็นชี้ขาดนั้น หลายกรณีเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับกฎหมายอื่นด้วย โดย เฉพาะเรื่องของการร้องยุบพรรคการเมือง จึงอยากให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลและข้อกฎหมาย จึงเสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น
ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เปิดเผยว่า ได้ส่งรายชื่อคณะกรรมการให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เรียบร้อยแล้ว และล่าสุดนายกรัฐมนตรี เซ็นแต่งตั้งแล้ว
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า หลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่แตะต้องหมวด 1-2 และพระราชอำนาจ โดยตั้งใจให้เสร็จภายใน 4 ปีที่เป็นรัฐบาล ซึ่งจะต้องทำกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จด้วย เพื่อให้ทันต่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยจะไปพบกับกลุ่มวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งเชิญนักธุรกิจ นักการเมือง ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบ จากความไม่เป็นประชาธิปไตยมาพูดคุย เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากที่สุด
คณะกรรมการฯ จะประชุมนัดแรกวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ก่อนเดินหน้าพูดคุยกับทุกภาคส่วน และคาดว่าก่อนสิ้นปีจะมีข้อสรุป คณะกรรมการชุดนี้ควรจะมีความเห็นของทุกๆฝ่าย ให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น หากยังไม่พร้อมหรือไม่สนใจ เป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่เราก็ยังมีเวทีที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้เสนอความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งทางคณะกรรมการจะรวบรวมตัวแทนใส่ให้ได้มากที่สุด แม้อาจจะไม่ครบถ้วนบ้างก็ตาม
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนจะต้องใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ตนคิดว่าภารกิจในการรับฟังภาคส่วนต่างๆ มันมีคำถามใน 3 ประเด็น คือ 1.กระบวนการแก้ไขหรือจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างไร 2. ยังมีขบวนการทำประชามติ เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในกรณีต่างๆ จะต้องทำกี่ครั้ง ซึ่งก็ต้องดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ แต่เราก็อยากจะเซฟให้ทำจำนวนครั้งน้อยที่สุด เพื่อที่จะไม่เสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก และ 3.การทำประชามติในครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร พร้อมยืนยันเราเปิดรับฟังทุกอย่างยกเว้นเพียงการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2
เราพยายามคำนึงว่า จุดใดที่เป็นความขัดแย้ง เราก็พยายามสลายความขัดแย้ง หาทางที่อยากจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปให้ได้มากที่สุด ส่วนตัวแทนของพรรคก้าวไกลนั้น กำลังพิจารณาเรื่องผู้แทนเข้าร่วมคณะกรรมการ โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ประสาน ด้านตัวแทนของ ilaw ได้เชิญมาแต่ถูกปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่ง โดยจะเชิญมาร่วมรับฟังด้วย ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มประชาชน คาดว่าจะใช้เวลา3 เดือน ซึ่งภายในเดือนธันวาคม จะได้ความชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการทำประชามติ รวมทั้งหมด 35 คน ประกอบด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 นายนิกร จำนง เป็นกรรมการและโฆษกคณะ
ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายพิชิต ชื่นบาน เป็นตัวแทนที่ปรึกษานายกฯ พล.อ.ชัชวาล ขำเกษม พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายวิรัตน์ วรศสิริน นายศุภชัย ใจสมุทร นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายวิเชียร ชุบไธสง นายวัฒนา เตียงกุล นายยุทธพร อิสรชัย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นายประวิช รัตนเพียร นายนพดล ปัทมะ นายธนกร วังบุญคงชนะ นายธงชัย ไวยบุญญา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ นายเดชอิศม์ ขาวทอง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้แทนพรรคก้าวไกล นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกฯ เป็นกรรมการ และ เลขานุการคณะกรรมการ นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขา นุการ
ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ ศธ.เสนออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน สังกัด ศธ.ให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารระดับสูง ระดับ 11 จำนวน 4 ราย ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดาเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) , นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นปลัดศธ. , นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดศธ. เป็นเลขาธิการสกศ. และนายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดศธ. เป็น เลขาธิการ กอศ.
ด้านนายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่เป็นธรรม และคิดว่าอยากจะลาออกจากราชการ จึงได้เข้าไปสอบถามเหตุผลกับ รมว.ศธ. และ รมว.ศธ. ก็ให้เหตุผลว่าอยากให้ช่วยเรื่องเดินหน้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และขอให้ทำงานต่อไป เพื่อผลักดันงานวิชาการให้ประสบความสำเร็จ ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจ เพราะไม่ได้มีความผิดอะไร และจากนี้จะขอลาพักร้อนเป็นเวลา 10 วัน เพื่อให้รมว.ศธ. ทบทวนความเหมาะสม เพราะการให้ตนกลับไปนั่งเลขาธิการ สกศ. เหมือนกับถูกลดศักดิ์ศรี และอาจจะพิจารณาใช้ฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป
ส่วนเรื่องการลาออกจากราชการนั้น ก็จะนำไปไตร่ตรองดูอีกครั้งว่าจะอยู่ต่อหรือลาออก โดยจะขอกลับไปถามครอบครัวก่อน แต่ส่วนตัวกว่า 80% คิดว่าอยากลาออก เพราะรู้สึกว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่เป็นธรรมกับเรา ผมรับราชการมากว่า 40 ปี หลายครั้งก็โดนการเมืองเล่นงาน ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมมาตลอด ซึ่งผมตั้งใจทำงาน แต่เมื่อมีมติดังกล่าวออกมา ผมก็เคารพ เพราะรมว.ศธ. คงมีดุลยพินิจแล้ว แต่ถ้าจะให้ไปเริ่มต้นทำงานที่เคยทำมาแล้ว ก็ไม่อยากที่จะทำ และผมเองก็ครบ 60 ปีแล้ว ปีนี้ถือว่าเป็นปีแถม อาจจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานน่าจะดีกว่า เพราะผมถือว่า ไม่ได้รับเกียรติเท่าที่ควร แต่ขอให้เวลาปรึกษาผู้ใหญ่และครอบครัวให้รอบคอบก่อน นายอรรถพล กล่าว
วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณีที่ผ่านมาทำเนียบรัฐบาลกลายเป็นศูนย์รวมสารพัดม็อบ ต้องปิดถนนรอบทำเนียบฯอยู่บ่อยครั้ง มีนโยบายอย่างไรไม่ให้ประชาชนต้องมาชุมนุมกันถึงทำเนียบฯ ว่า เป็นเรื่องที่เรากังวลเหมือนกัน และเชื่อว่าถ้าเราสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ทุกๆภาคส่วนมีความสบายใจและมั่นใจในรัฐบาล ตนเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะลดน้อยลงไป
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 255/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552
นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป