วันที่ 30 ก.ย.66 นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการ เผยแพร่บทความเรื่อง ก้าวถอยหลัง...ของก้าวไกล ความว่า...
ถาม ทำไม หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงยังไม่ได้เป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน”
ตอบ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ประธานวันนอร์ก็นำชื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นกราบบังคมทูล ให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งได้แล้ว เพราะบัญญัติระบุแต่เพียงว่า “ ฝ่ายค้าน” คือพรรคที่ไม่มีใครเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเท่านั้น แต่มารัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเติมเงื่อนไขจุกจิกขึ้นมาอีก
ถาม เติมอะไรเข้าไปอีกครับ
ตอบ เติมมาว่า “พรรคฝ่ายค้าน” นอกจากจะต้องไม่มีใครไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องไม่มีใครไปเป็น ประธานสภาหรือรองประธานสภาด้วย พอบัญญัติอย่างนี้พรรคก้าวไกล ก็เลยยังไม่เป็น “ฝ่ายค้าน” เพราะมี สส.ในพรรค คือคุณปดิพัทธ์ หรือ “รองอ๋อง”เป็นรองประธานสภา อยู่
วันนี้ก็เลยมีแต่ประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่เป็น “ฝ่ายค้าน” และให้หัวหน้า ปชป.ขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งก็ไม่สมควรเพราะจำนวน สส.น้อยเกินไป
ถาม ถ้าพรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ต้องทำอย่างไร
ตอบ ก็ต้องทำทางใดทางหนึ่ง คือให้ “รองอ๋อง” ลาออกจากรองประธานสภา หรือให้รองอ๋องออกจากพรรคก้าวไกลไปซะ จากนั้นประธานวันนอร์ถึงจะนำชื่อหัวหน้าก้าวไกลขึ้นกราบบังคมทูลเป็น ผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งวันนี้เขาก็เลือกแล้วว่า ให้ “รองอ๋อง” ออกจากพรรคก้าวไกล
ถาม แล้วทำไมเขาใช้วิธีให้ “รองอ๋อง”ออกจากพรรค ด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคกับ สส. ครับ ให้ รองอ๋องยื่นใบลาออกจากพรรคเลยไม่ได้หรือ
ตอบ ถ้าใช้วิธียื่นใบลาออก รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ “รองอ๋อง”ขาดสมาชิกภาพ สส.ทันที เพราะเรากำหนดให้ สส.ต้องสังกัดพรรค พรรคเป็นผู้เสนอชื่อให้ประชาชนเลือกมาแต่แรก ถ้าได้เป็น สส.แล้ว จะลาออกไม่ได้ เพราะนี่เป็นพันธะที่มีต่อประชาชน แต่ถ้าเป็นมติพรรคให้ออกจากพรรค เช่นนี้ “รองอ๋อง”ก็ไม่ขาดจาก สส. แต่ต้องไปหาพรรคใหม่มาสังกัด
ถ้าทำได้อย่างนี้ “รองอ๋อง”ก็ได้ทำหน้าที่ รองประธานสภาต่อไป ข้างพรรคก้าวไกลก็ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไป
ถาม แล้วอาจารย์ไปว่าก้าวไกล “ก้าวถอยหลัง”ทำไม
ตอบ มันเป็น “การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต” ครับ การมีมติพรรคให้ สส.ออกจากพรรคนั้น ต้องเป็นเรื่อง สส.ทำผิดร้ายแรง หรือขัดแย้งกับพรรค จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ ข้อบังคับพรรคก้าวไกลก็เขียนข้อนี้ไว้ชัดมาก จะมามีมติให้ออกกันดื้อๆง่ายๆ เพียงเพื่อเปิดทางให้ พรรคได้ตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นไม่ได้
ทำอย่างนี้ “รองอ๋อง”เองก็ยังเป็นคนก้าวไกลเหมือนเดิม เพียงแต่ใส่เสื้อพรรคอื่นทับลงไปบนเสื้อก้าวไกล อีกตัวหนึ่งเท่านั้นเอง
ถาม ก้าวไกลเดินมาทางนี้ แล้วมันทำลายหลักกฎหมายที่ตรงไหน
ตอบ หลักรัฐธรรมนูญให้ สส.สังกัดพรรคการเมือง ก็กลายเป็นเรื่องตลก หลักห้ามเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนสองพรรค ก็เป็นแค่กระดาษ หลักนิติธรรมให้ใช้สิทธิโดยสุจริตก็เลื่อนเปื้อนไปอีก ทั้งหมดกลายเป็นหลักที่เขียนไว้ให้อ่านเล่นบนประตูส้วม ระหว่างขับถ่ายเท่านั้น
ถาม “รองอ๋อง”เขาว่า เขาต้องการปฏิรูปสำนักงานสภา ตามพันธะกิจที่สัญญาไว้ นี่ครับ จะให้เขาลาออกได้อย่างไร
ตอบ ชาวบ้านเขาเลือกให้คุณเป็น สส.ก้าวไกล นั่นคือพันธะที่สำคัญที่สุด ทั้งกรรมการบริหารและ สส. จะต้องยึดตรงนี้ จะเอากฎหมายมาเล่นลวงเป็นลิเกอย่างนี้ไม่ได้
ถาม ถ้าเล่นลวงโลกกันอย่างนี้ ใครจะจัดการให้ถูกต้องได้บ้าง
ตอบ กลุ่มแรกคือ สส.ในสภาจำนวน 50 คน ยื่นเรื่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลยว่า “สส.อ๋อง” ขาดสมาชิกภาพหรือไม่ เพราะพฤติการณ์จริงที่ทำไปคือการออกจากพรรคด้วยการลาออก ไม่ใช่ด้วยมติขับออกจากพรรคตามข้อบังคับ
ถาม กลุ่มสองคือใคร ครับ
ตอบ คือ เลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ภายใต้มติเห็นชอบของ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เองเช่นกันว่า สส.อ๋องได้ลาออกจนสิ้นสมาชิกภาพแล้วหรือไม่
ถาม แล้วปล่อยให้ กราบทูลเสนอหัวหน้าก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปก่อนหรือ
ตอบ เลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ด้วยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจปฏิเสธไม่รับรู้รับรองมติก้าวไกล ที่ให้ “รองอ๋อง” ออกจากพรรคโดยไม่มีเหตุขัดแย้งใดๆได้ เพราะตรงนี้ขัดข้อบังคับชัดแจ้ง แล้วก็รายงานประธานวันนอร์ให้ทราบ ทำแค่นี้การกราบบังคมทูลเพื่อแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่เกิดขึ้น ประโยชน์จากการทำผิดก็ไม่บรรลุ ส่วนในที่สุด สส.อ๋องจะสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ ก็รอศาลตัดสินอีกที
ถาม เรื่องนี้แท้ที่จริงมันผิดกันทั้งพรรค ทั้งคณะกรรมการบริหาร และ สส.เลยนะครับ
ตอบ น่าจะทำความชัดเจนด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องสมาชิกภาพ สส.อ๋อง ก่อน ถ้าเห็นเป็นความผิดชัดเจนแล้วก็ค่อยว่ากันอีกทีดีกว่าครับ ราตรียังอีกยาวนานนัก