เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2568  นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ แพร่บทความเรื่อง อำนาจศาลในคดีชั้น ๑๔ : ปัญหากฎหมายที่รอวินิจฉัย
                                                                                             
ถาม    เห็นรัฐมนตรียุติธรรม ย้อนนักข่าวว่าการส่งตัวนักโทษไปรักษานอกเรือนจำนั้น  ในกฎหมายไม่มีคำว่า “ป่วยถึงขั้นวิกฤต” เลยนะครับ
ตอบ    ในกฎหมายราชทัณฑ์บอกว่าถ้าอยู่ในเรือนจำแล้วรักษาให้ทุเลาไม่ได้ ก็ส่งตัวไปได้ทั้งนั้น  แต่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ( วิ.อาญา )  ระบุว่าทำได้เมื่อจะเป็นอันตรายถึงชีวิต นักกฎหมายก็เลยต้องเถียงกันเองว่าต้องป่วยวิกฤตไหม  
กฎหมายสองโครงสร้าง

ถาม    การบังคับโทษนอกเรือนจำ ตาม พรบ.ราชทัณฑ์ ๒๕๖๐ มีหลายมาตรการไหมครับ
ตอบ    มีทั้งเรื่องเจ็บป่วยส่งไปรักษานอกเรือนจำ, พักการลงโทษเพราะนักโทษร่างกายเดี้ยงสิ้นสภาพ หรือ มาตรการคุมขังนอกเรือนจำ เช่นส่งเยาวชนต้องโทษติดยาเสพติดไปฟื้นฟูในค่ายทหารใดที่กำหนดขึ้นมาเป็นสถานฟื้นฟูโดยเฉพาะ 
มาตรการทั้งหมดนี้ยังมีมาตรการควบคุมไม่ให้หลบหนี คุมให้ทำตัวตามที่กำหนด  หนีเมื่อไหร่ผิดอาญาเหมือนแหกคุกเลย  จึงนับเวลาที่อยู่นอกเรือนจำนี้ เป็นเวลาที่ถูกคุมขังตามหมายจำคุกของศาลด้วย

ถาม    แล้วมันกว้างแคบต่างจาก มาตรการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตรงไหน
ตอบ    วิ.อาญา  มีแต่เรื่องเจ็บป่วย วิกลจริต คลอดลูก  ทำได้โดยร้องขอคำสั่งศาล  และที่สำคัญคือ เมื่อหายดีกลับมาเรือนจำแล้วจะเอาเวลาที่อยู่นอกเรือนจำมานับเป็นเวลาต้องโทษไม่ได้ เพราะเป็นมาตรการชั่วคราวทุเลาการลงโทษให้จนกว่าจะหายเท่านั้น

ถาม    กรณีนักโทษทักษิณ  ถ้าทุเลาการลงโทษเพราะเจ็บป่วยโดยขอคำสั่งศาล ผลจะต่างกันอย่างไร กับการให้ราชทัณฑ์ส่งไป รพ.ตำรวจ เอง  

ตอบ    ถ้ามาทาง วิ.อาญา  มันต้องผ่านการตรวจสอบโดยศาลจนชัดเจนว่า เป็นโรคร้ายแรงอยู่เรือนจำแล้วรักษาไม่ได้ รักษานานไหม ต้องมีการรายงานศาลเป็นระยะอย่างไร  ที่สำคัญคือ หายเมื่อไหร่ต้องกลับมาติดคุก ๑ ปีต่อไปอีก

ถาม    ถ้ามาทางกฎกระทรวงตามกฎหมายราชทัณฑ์  มันมีการตรวจสอบกันอย่างไร
ตอบ    สำหรับนักโทษนั้นมีประโยชน์แน่ เพราะถ้ามาทางนี้การนับเวลาจำคุกจะไม่สะดุดหยุดลง  ส่วนการตรวจสอบนั้น กฏกระทรวงกำหนดให้มีความเห็นแพทย์จากการตรวจรักษาปรากฏเป็นหลักก่อน พร้อมการตรวจสอบภายในฝ่ายบริหาร ด้วยความเห็นของ ผบ.เรือนจำ และผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเท่านั้น   
การตรวจสอบกันเองอย่างนี้ ถ้านักโทษเป็นผู้ยิ่งใหญ่ระดับชาติแบบ คดีชั้น ๑๔ นี้ มันก็ยากที่จะทำใจให้เชื่อถือได้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ปัญหาความไม่ชัดแจ้งที่ต้องสะสาง

ถาม    ถ้าผมเป็นนักโทษที่มีปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เช่นนี้ตามกฎหมายทั้งสองโครงสร้าง เขาจะส่งผมไปนอน รพ.จุฬา ได้ไหม
ตอบ    ถ้าไปนอนเพื่ออุ่นใจอยู่ใกล้หมอเท่านั้นไม่ได้ครับ  ถ้ามีอาการจนต้องไปลงมือผ่าตัดใส่ขดลวดอย่างนี้ ส่งไปโรงพยาบาลชำนาญการได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้กฎหมายอะไร

ถาม    ผมโดนโทษ ๑ ปี  นอนผ่าตัดและพักฟื้นรวมเวลาอยู่ รพ. ๓ เดือน   เวลา ๓ เดือนนี้ อาจารย์ว่าสมควรไหมที่จะนับเป็นเวลาจำคุก
ตอบ    กฎหมายวิ.อาญาบอกว่าต้องไม่นับ  ใครติดคุกเท่าไหร่ก็ต้องติดจริงๆเท่านั้น รัฐยอมส่งตัวไปรักษาข้างนอกตามสิทธิที่เป็นมนุษย์ก็พอแล้ว   จะเกินเลยขอเหมานับเวลารักษาตัวเป็นเวลาจำคุกด้วยนั้น  มันยังเถียงกันได้นะครับ

ถาม    คนเขาเคราะห์ร้ายเสียเวลาในชีวิตติดคุกแล้ว ก็ยังป่วยอีก ผมว่าเราก็น่าจะมีเมตตานับรวมให้เขานะครับ
ตอบ    ข้อนี้เป็นเรื่องทัศนะแล้วล่ะครับ  ถ้าถือกันว่าโทษจำคุก ๑ ปี คือการป้องกันสังคม เก็บตัวนักโทษไม่ให้ออกไปเพ่นพ่าน ๑ ปี  ก็ควรนับรวมได้  แต่ถ้าคุณเห็นการลงโทษนั้น เราทำไปเพื่อให้หลาบจำ เช่นนี้ก็ไม่ควรนับรวมให้  กฎหมายทั้งสองมีความแตกต่างอยู่ที่ตรงหลักคิดนี้
ปี ๒๕๕๐ รัฐสภาตรากฎหมาย วิ.อาญา มาตรา ๒๔๖ ออกมาว่าไม่ให้นับ  พอปี๒๕๖๐ เขียนกฎหมายราชทัณฑ์ มาตรา ๕๕ ว่า  ให้ถือเวลารักษาตัวเป็นเวลาคุมขังด้วย   กฎหมายทั้งสองเป็น ระดับพระราชบัญญัติเหมือนกัน  แต่ดันขัดกันเสียได้  ข้อนี้ผมว่าอาจต้องถือว่าสภายกเลิกหลักในวิ.อาญาไปแล้วก็ได้

ถาม    แล้ว วิ.อาญา บอกว่าต้องได้คำสั่งศาล   ส่วนกฎกระทรวง ปี ๖๓ ดันไประบุให้เป็นอำนาจอนุญาตของ ผบ.เรือนจำ  ตรงนี้จะว่าอย่างไร
ตอบ    พรบ.ราชทัณฑ์ มาตรา ๖ ระบุว่าการออกกฎกระทรวงจะขัดกับ วิ.อาญาไม่ได้ แต่ปี ๖๓  สมัย รมต.สมศักดิ์ ตรากฎกระทรวงออกมากลับบัญญัติ ข้ามหัวศาลไปเลย  ตรงนี้ฝ่ายบริหารต้องแก้ไขกฎกระทรวงให้ถูกต้องว่า เรื่องเจ็บป่วย รักษาตัว ต้องได้คำสั่งศาล โดยอาจเปิดให้คล่องตัวไว้ก็ได้ว่า  ถ้าส่งไปตรวจรักษานอกเรือนจำจนชัดเจนว่าต้องอยู่ยาว เช่นนี้ก็ให้ไปขอศาล   ส่วนเวลาตรวจดูแลเบื้องต้นนั้น ให้ ผบ.เรือนจำว่าไปเองได้ 
คำตอบจากศาลฎีกาในคดี ชั้น ๑๔

ถาม    ถ้ากฎหมายสองโครงสร้างมันขัดกันอย่างนี้    ศาลฎีกาในคดีที่มีคนไปร้องให้ไต่สวนแล้วออกหมายจำคุก เอาทักษิณกลับเข้าคุกใหม่นั้น   ท่านจะว่าอย่างไรดีครับ
ตอบ    ข้อแรกท่านก็ต้องชี้ขาดก่อนว่า   เมื่อออกหมายจำคุกไปแล้ว ศาลยุติธรรมไทยยังมีอำนาจดูแลบังคับให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามหมายนั้นหรือไม่  ข้อนี้ชัดเจนว่าศาลมีอำนาจนี้   มี วิ.อาญา ยืนยันไว้ชัดเจน  ทั้งในมาตรา ๒๔๖ และในอำนาจออกหมายปล่อยตัวเมื่อคุมขังครบถ้วนตามหมาย 
ทั้งสองตำแหน่งนี้ ล้วนยืนยันอำนาจกำกับดูแลการบังคับโทษนี้ไว้ทั้งสิ้น

ถาม    แล้วจะให้ศาลเริ่มไต่สวนได้อย่างไร  เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับปัญหานี้เลย
ตอบ    มาตรา ๒๔๖ รับรองไว้ให้เห็นเป็นหลักไว้แล้วเช่นกันว่า เรื่องบังคับตามหมายจำคุกนี้  เริ่มโดยศาลเห็นสมควรเองก็ได้
 

ถาม    แล้วศาลจะไต่สวนเรื่องอะไรครับ
ตอบ    ก็ไต่สวนว่า
-    นักโทษป่วยจริงไหม ตรวจรักษากันอย่างไรทั้งช่วงส่งตัว รับตัว  
-    ช่วง ๖ เดือนที่อ้างว่านอนยาวนั้น  อยู่โรงพยาบาลจริงไหมทำอะไรกันบ้าง นอนห้องพิเศษฟื้นฟูสุขภาพดู Netfix ไปวันๆ  แล้วมีแถมผ่าเอ็นเปื่อยตรงหัวไหล่บ้างเล็กน้อยหรืออย่างไร 
-    ครั้นครบ ๖ เดือนก็มีการให้พักโทษ อ้างว่าร่างกายนักโทษแย่แล้ว ช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งกิน ขับถ่าย เดิน ลงบันได แต่งตัว เดี้ยงหมดเลย ตรงนี้ ก็ไต่สวนว่าใครประเมิน และตรงกับความจริงไหม
ถาม    ถ้าไต่สวนแล้วพบว่าไม่ป่วยจริง มีแต่ปัญหาร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ตามวัย เช่นกล้ามเนื้อหัวใจไม่ดี เอ็นไหล่เปื่อย ปอดมีผังผืด เท่านั้น  ศาลจะสั่งอย่างไร
ตอบ    ก็ออกหมายจำคุกใหม่ เพราะฟังได้ว่าไม่มีการบังคับตามหมายเลย ช่วยเหลือปล่อยตัวให้ไปนอนเล่น ห้องพิเศษ ที่ชั้น ๑๔ รพ.ตำรวจ เท่านั้น พอเกิดเรื่องถึงมาแก้ตัวว่า เป็นโน่น เป็นนี่
    ในทางตรงกันข้าม ถ้าพบว่าป่วยจริง รักษาจริง แต่ผิดตรงที่ไม่ได้มาขอคำสั่งศาล  กรณีก็เป็นเรื่องผิดขั้นตอนเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องละเว้นไม่บังคับตามหมาย 
ถาม    แล้วเจ้าหน้าที่ไม่โดนละเมิดอำนาจศาลหรือครับ
ตอบ    ไม่น่าโดนนะครับ  เป็นเรื่องที่เขาทำโดยสุจริตตามที่กฎกระทรวงกำหนดไว้โดยผิดพลาดเท่านั้น 
 

ถาม    แล้ว ๖ เดือนหลัง ที่พักโทษ นั่นล่ะครับ
ตอบ    ถ้าไต่สวนแล้วพบว่า ประเมินเท็จ นักโทษแกล้งใส่เฝือกมารยาทำเป็นเดี้ยง อย่างนี้การพักโทษก็ไม่ถูกต้อง   ศาลก็ต้องออกหมายจำคุกใหม่ แต่ถ้าพบว่าเดี้ยงจริง การพักโทษก็ต้องถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย  ศาลไปยุ่งอะไรไม่ได้

ถาม    เรื่องทั้งหมดนี้จะไปถึง ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือไม่
ตอบ    ต้องให้องค์คณะที่รับคำร้อง  ลงความเห็นเสนอประธานศาลฎีกาก่อนว่ามีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญถึงขนาดต้องขอมติที่ประชุมหรือไม่ แต่ถ้าองค์คณะไม่เห็นมีปัญหาอะไรสลักสำคัญก็วินิจฉัยไปเลยว่า  จะยกคำร้องหรือเห็นควรไต่สวนอะไรต่อไปบ้าง
สรุปแล้ววันนี้..ประเด็นที่รอศาลวินิจฉัยจึงอยู่ที่ปัญหาขอบอำนาจของศาลก่อนครับว่า ศาลมีอำนาจไต่สวนตรวจสอบคดีนี้หรือไม่เท่านั้น    
ถ้าวันนี้ยุติว่าศาลมีอำนาจ การไต่สวนถึงจะเกิดขึ้นต่อไปในภายหน้า

 แก้วสรร อติโพธิ

                             ................................
  

บทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๒๔๖  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ( แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๕๕ )
       เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงาานอัยการผู้บัญชําการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร  ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป  ในกรณีต่อไปนี้
(๑) เมื่อจำเลยวิกลจริต
(๒) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
(๓) ถ้ําจำเลยมีครรภ์
(๔) ถ้ําจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น
       ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้นศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกก็ได้  และให้ศาลกำหนดให้เจ้ําพนักงานผู้มีหน้าที่ จัดการตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง
       ลักษณะของสถานที่อันควรตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับสภาพของจำเลย และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย
       เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสาม หรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายจำคุกได้
       ให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตามมาตรานี้   ออกจากระยะเวลาจำคุก
ตามคำพิพากษา

มาตรา ๕๕ พรบ.ราชทัณฑ์ ๒๕๖๐
ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วย  มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต  หรือเป็นโรคติดต่อ   ให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการให้ผู้ต้องขังได้รับการตรวจจากแพทยโดยเร็ว หากผู้ต้องขังนั้นต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้าน หรือถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำ จะไม่ทุเลาดีขึ้น ให้ส่งตัวผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ  โรงพยาบาล  หรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต  นอกเรือนจำต่อไป  ทั้งนี้หลักเกณฑและวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ  ระยะเวลาการรักษาตัว  รวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต  ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ   ในกรณีที่ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำตามวรรคสอง  มิให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการคุมขัง  และถ้าผู้ต้องขังไปเสียจากสถานที่ที่รับผู้ต้องขังไว้รักษาตัว  ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนี ที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา 

มาตรา ๖ พรบ.ราชทัณฑ์
          กรมราชทัณฑ์อาจดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นนอกจาก การควบคุม  ขัง  หรือจำคุกไว้ในเรือนจำ  แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญารวมตลอดถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขที่กำหนด ในกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ