ความมุ่งมั่นของ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. คือกำหนดยุทธศาสตร์การสื่อสารโทรคมนาคมเป็นแกนหลักให้บริการประชาชน ซึ่ง “โครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า” (Universal Telehealth Coverage : UTHC) พัฒนาระบบสุขภาพแบบดิจิทัล 

โครงการริเริ่มและผ่านการระดมความคิด สอบถามความเห็น มาตั้งแต่ปี 2562 กสทช.ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท (Telehealth) และมอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างความเข้าใจระบบเทเลเฮลท์ และพัฒนาสื่อเพิ่มพูนความรู้ประชาชนในโรคเฉพาะด้านที่ยุ่งยากซับซ้อน 

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ มีความเข้าใจปัญหาผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไกลมารับบริการในโรงพยาบาล เสียเวลาค่าใช้จ่าย กลายเป็นความเหลื่อมล้ำของประชาชน ในฐานะที่ท่านเป็นแพทย์เชี่ยวชาญสาขาโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อสวมหมวกประธานกสทช. จึงต้องการขับเคลื่อนเทเลเฮลท์ให้สำเร็จ 

โครงการนี้ ทาง กสทช. ได้ตั้ง “คณะทำงานด้านการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมสำหรับบริการสาธารณสุข” ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ได้ศึกษา เสนอแนะ วางแนวทางไว้อย่างครอบคลุม

เทเลเฮลท์ ของ กสทช. จะเชื่อมต่อระบบสุขภาพด้วยเทคโนโลยีให้คนเข้าถึง ด้วย WiFi 6E สัญญาณจะมีความเร็วสูงเหนือกว่าปัจจุบัน สร้างแพลตฟอร์มบริการสุขภาพแบบเปิด (OTTP) สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ระยะไกล รองรับเทคโนโลยีแบบ VR , AR และ XR ซึ่งไม่เพียงยกระดับการรักษา แต่ยังช่วยการศึกษาแพทย์สมัยใหม่ด้วย

โครงการจะใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ USO ครอบคลุมบริการทุกเขตสุขภาพ เชื่อมการแพทย์ตั้งแต่ชุมชน ตำบล จังหวัด ทุกคนมีโอกาสหาหมอดีๆ รักษาได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องไปแออัดในโรงพยาบาล

กสทช.กำหนดงบประมาณ 3,508 ล้านบาท สอดคล้องกับแผนโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565) และสอดรับ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่ให้ประชาชนทุกคนมีหมอประจำตัว ซึ่งผ่านโครงการเทเลเฮลท์ที่รวดเร็วและไร้รอยต่อ

“กลุ่มคนไข้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มคนไข้ติดเตียง คนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายแรกของการทำ Telemedicine เริ่มต้นจากที่ อสม.ไปเยี่ยมบ้านตามรายชื่อของคนไข้ที่จากการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน สามารถปรึกษาแพทย์ปฐมภูมิทางโทรศัพท์มือถือได้เลยว่ามีอาการอะไร ต้องไปหาหมอหรือไม่ หรือกินยาดูอาการก่อน ซึ่งจะมีรายชื่อร้านยาที่จะให้ไปรับยา ถ้าผ่านไปสามวันอาการยังไม่ดีขึ้น ค่อยไปหาหมอ”

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ มองโครงการนี้ในระยะยาวด้วย โดยประชุมร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล อดีตรมว.สาธารณสุข ผลักดันการส่งเสริมนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ และสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Digital Health Platform) 

แต่สุดท้าย เมื่อมีการนำเสนอโครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดกสทช. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 กลับถูก กรรมการกสทช. “ตีกลับ” ไม่เห็นชอบ เพราะบอร์ดกสทช.ส่วนหนึ่ง ให้เหตุผลว่า โครงการมีลักษณะใกล้เคียงกับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข วงเงิน 1,514 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติไปเมื่อเดือน ม.ค.2566 แล้ว 

ทั้งนี้ ความเป็นจริงคือระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข เป็นโครงการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพสำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และ เช่าใช้ระบบคลาวด์พื้นฐาน เป็นแพลตฟอร์มกลางของรัฐ เรียกว่าเป็น “ถังข้อมูล” ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการรักษาใดๆ

ในการประชุมมีบอร์ดกสทช. 4 ท่าน ที่ไม่เห็นชอบโครงการเทเลเฮลท์ ประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ , พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และรศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านโทรคมนาคม 

ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า บอร์ด กสทช. กลุ่มดังกล่าว มักคิดต่างกับแนวทางของประธานกสทช.อยู่เสมอ ไม่ว่ากรณีการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค หรือ การคัดเลือกเลขาธิการกสทช.คนใหม่ ฯลฯ ทำให้การบริหารกสทช.ขณะนี้ถือว่าติดหล่ม เดินหน้าแก้ปัญหาประเทศไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่บอร์ด 3 คน ที่ยกมือโหวตให้โครงการเดินหน้าต่อ ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. , นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร

เส้นทางการพัฒนาโครงการเทเลเฮลท์ของกสทช. ที่เริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ที่มองเห็นประโยชน์ประชาชนยากจนให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์แบบครอบคลุม มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนเทคโนโลยี 6E เพื่อสนับสนุน กระทรวงสาธารณสุข และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อบอร์ด กสทช.กลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย ในที่สุดโครงการ “เทเลเฮลท์” จึงไม่เกิดขึ้น สุดท้ายโอกาสการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาคนป่วย คนเจ็บ คนไข้ และระบบสุขภาพที่ดีของคนไทยจึงเสมือน “ย่ำอยู่กับที่” เพราะติดปัญหากลุ่มก้อนภายในองค์กรของ กสทช.ใช่หรือไม่?