วันที่ 24 ก.ย.2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติและกำหนดแนวทางการแก้ไข รธน. ของรัฐบาลว่า การที่รัฐบาลจะใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นแบบ ตนขอให้คิดให้รอบคอบ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป จนบางยุคทำให้การตรวจสอบรัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีทำได้ยากมากจนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้เลย ถ้านายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่า 3 ใน 5 คือเกินกว่า 300 เสียงขึ้นไป เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ระบุว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ฝ่ายค้านต้องมีเสียงเกินกว่า 200 เสียงหรือ2ใน 5 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้บางยุคไม่สามารถตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้เลยตลอดอายุรัฐบาล นำไปสู่การมีรัฐบาลกินรวบ ดังที่เคยประสบในบางยุค เพราะนายกรัฐมนตรี อาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญตั้งรัฐบาลเกิน 300 เสียงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบ และก็ยังให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าไปมีบทบาทในการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ จนนำไปสู่การใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหารเกิดรัฐบาลกินรวบ จนต้องแก้ไขในปี 2550 ในที่สุด
"ถ้าใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มาสวมในสถานการณ์ปัจจุบันการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเพราะรัฐบาลมีเสียงเกิน 3 ใน 5 นั่นคือมีถึง 314 เสียง ฝ่ายค้านมีไม่ถึง 200 เสียง ก็จะไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ถ้านายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ล้มเหลวและเกิดการทุจริตคอรัปชั่นขึ้นมาในอนาคต จะเท่ากับพาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตได้อีก จึงควรคิดกันให้รอบคอบ" นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ที่พูดนี้ไม่ได้แปลว่าจะตั้งธงอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ซึ่งตนขอพูดเสียก่อนเลยว่าไม่เกี่ยวกันและยังไม่ใช่เวลา เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้น ตนเพียงแต่ต้องการทักท้วงไว้เพราะ รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญของประเทศและหากแก้แล้วต้องใช้ต่อไปในอนาคต จะได้ไม่พาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดในอดีตที่เราไม่อยากเห็นอีก
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พรรคพร้อมให้การสนับสนุน และเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติของรัฐบาล ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดี แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงโดยจะต้องไม่มีการพิจารณาที่ล่าช้าเกินสมควร ไม่ควรตั้งท่านานจนเกินไป และการเตรียมการเพื่อจะนำไปสู่การจัดทำประชามติมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความละเอียดรอบคอบรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง