“สมศักดิ์” ไม่ทิ้งงานเก่า ตามโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ปลื้ม เดินหน้าไปมาก เอกชนขานรับ ผู้พ้นโทษเป็นแรงงานฝีมือดี ขณะที่ นิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร โอดโครงการสะดุด ติดภาครัฐพิจารณาสีผังเมือง แย้ม รออธิบดีกรมโยธาฯ เซ็นเร็วๆนี้ หวังโครงการเดินหน้าต่อ สร้างงานให้ผู้ต้องขัง “เอ็ม คนตัวลาย” ชี้ หากมีงานทำ ผู้ต้องขัง ก็ไม่กลับวังวนเดิม
วันที่ 23 กันยายน 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเสวนาวิชาการ“นวสมภพ”ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลผู้พ้นโทษ กับผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม และผู้ประกอบการภาคเอกชน นำโดย นายวิทยา สุริยะวงค์ ที่ปรึกษาพิเศษสมภพ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางสาวนันทรัศมิ์ เทพดลไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ดร.ศุภพรพงษ์ ชวนบุญ ประธานกรรมการบริษัทศิวาชัย จำกัด ดร.จิราภรณ์ วิริยะพงษากุล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นพ.วิฑิต อรรถเวชกุล โรงพยาบาลปิยะเวท และนายเฉลิมพล สิงห์วังชา หรือ “เอ็ม คนตัวลาย” อดีตผู้ต้องขัง ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
โดยนางสาวนันทรัศมิ์ รายงานความคืบหน้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ว่า โครงการนี้ ได้ถูกขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งนำร่องแห่งแรกที่จังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้ชื่อ นิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร เพื่อนำแรงงานผู้ต้องขัง มาสร้างงานสร้างอาชีพ เนื่องจากในพื้นที่สมุทรสาคร ขาดแคลนแรงงาน ต้องใช้แรงงานต่างด้าว จึงผลักดันโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังมีงานทำ ไม่ต้องกลับไปทำผิดซ้ำอีก โดยขณะนี้ กำลังขยายไปอีก 3 พื้นที่คือ จังหวัดลำพูน นครราชสีมา และสงขลา รวมถึงกระทรวงยุติธรรม ยังได้รับงบประมาณจาก ป.ป.ส. มาทดลองจ้างงานผู้ต้องขัง 15 คน ให้เข้ามาช่วยงานกระทรวงยุติธรรม ได้สำเร็จ หลังก่อนหน้านี้ อดีตผู้ต้องขัง จะไม่สามารถทำงานราชการได้ แต่เราก็ได้นำร่อง ส่งเสริมให้เขาเป็นคนปกติทั่วไป ที่คนภายนอกมองมา ก็ไม่รู้ว่าเป็นอดีตผู้ต้องขัง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ จากการทดลองให้ผู้ต้องขัง 500 คน ใส่กำไลอีเอ็ม ไปทำงาน พบข้อผิดพลาดไม่ถึง 10% เพราะส่วนใหญ่ทำงานได้ดี มีวินัยสูง โดยสิ่งที่จะพัฒนาต่อคือ การหาแหล่งทุนให้ผู้พ้นโทษ เพราะบางส่วนก็อยากทำเอสเอ็มอี เป็นของตัวเอง
ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในอดีตหากผู้พ้นโทษ ต้องการทำงาน ต้องอยู่บ้านกึ่งวิถี แต่ก็รับจำนวนได้น้อย ซึ่งตนเข้าใจว่า ผู้พ้นโทษรอนานไม่ได้ เนื่องจากถ้าเงินทุนหมด เขาก็จะกลับไปทำผิดซ้ำแบบเดิม โดยบางคนติดเรือนจำถึง 7 ครั้ง กว่าจะมีอาชีพที่เลี้ยงดูตัวเองได้ ตนจึงอยากสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อรองรับแรงงานผู้ต้องขัง ซึ่งวันนี้ ได้มาฟังความคืบหน้า และความร่วมมือจากภาคเอกชน ก็เป็นที่น่าภาคภูมิใจมาก ที่ทุกภาคส่วนช่วยกันให้โอกาสผู้พ้นโทษ เพราะต้องยอมรับว่า ผู้ต้องขังบางราย ไม่สามารถกลับไปอยู่พื้นที่ได้ เนื่องจากคนรอบข้างไม่ยอมรับ เราจึงจะสร้างอาชีพให้ จะได้เป็นที่ยอมรับ โดยตนรู้สึกดีใจมาก ที่ทุกคนคิดต่อยอดไปไกลมาก ซึ่งตนได้มีโอกาสพบปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีความสนใจเรื่องนี้ จึงส่งผู้ตรวจฯมานั่งฟังด้วย โดยหากสามารถเปิดเต็มที่ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับหลายภาคส่วน ทั้งผู้ต้องขังมีงานทำ ผู้ประกอบการขาดแรงงาน ดังนั้น หากติดขัดอะไร ก็ขอให้รีบช่วยกันผลักดันทันที
ด้าน ดร.ศุภพรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากตนเห็นนโยบายสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ก็ได้ประสานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ จึงตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร จังหวัดสมุทรสาคร เพระในพื้นที่นี้ มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่สามารถขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครได้ เนื่องจากติดขั้นตอนการพิจารณาของภาครัฐ ในเรื่องสีผังเมือง ซึ่งจากเดิมการขออนุญาตตามผังเมืองสีเขียว แต่ไม่ผ่านการพิจารณา จึงให้เอกชนขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการตั้งนิคม รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองสมุทรสาคร พิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า หรือ เขตสีม่วง แต่เรื่องขณะนี้ อยู่ที่อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว หากเซ็น ทางจังหวัดสมุทรสาคร ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนทันที โดยคาดว่า คำสั่งน่าจะออกเร็วๆนี้ ก็จะทำให้โครงการเดินหน้าได้ต่อ
ส่วนนายเฉลิมพล หรือ “เอ็ม คนตัวลาย” เล่าประสบการณ์ว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสจากกระทรวงยุติธรรม ในการสร้างงานสร้างอาชีพให้ โดยตนได้มีโอกาสเรียนชกมวยในเรือนจำ ฝึกฝนตั้งใจ จนสามารถได้แชมป์มวย 4 ปีซ้อน จึงได้รับการพิจารณาพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นนักโทษตัวอย่าง และหลังจากพ้นโทษ ตนก็ได้แชมป์มวยไทยโลก ซึ่งต้องยอมรับว่า หากไม่ได้รับโอกาสนี้ ก็จะกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก เพราะไม่มีอาชีพให้ทำ จึงมองว่า การสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังเป็นสิ่งที่ดีมาก อย่าง นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ก็จะเป็นที่รองรับแรงงานผู้พ้นโทษได้จำนวนมาก โดยไม่ต้องกลับเข้าวังวนเดิมอีกต่อไป
ขณะที่ ดร.จิราภรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานคนไทยหายไปจำนวนมาก น่าจะมาจากการส่งออกแรงงานไทย ไปต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการใช้แรงงานต่างด้าว แต่ก็มีข้อจำกัด ที่ไม่ดีเท่าแรงงานไทย รวมถึงแรงงานต่างด้าว ทำงานไม่ทน ทำให้เสียเวลาในการสอนงานใหม่ ซึ่งกระทบต่อการประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเมื่อทราบ กระทรวงยุติธรรม มีการทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อสร้างงานให้ผู้ต้องขังหลักแสนคน ก็มีความยินดีให้ความร่วมมือ เพราะผู้พ้นโทษ ถือเป็นแรงงานมีฝีมือ เป็นที่ต้องการของตลาด จึงเห็นด้วยที่จะขยายโครงการไปทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่จังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น
นพ.วิฑิต กล่าวว่า ปัจจุบันค่ารักษาของโรงพยาบาลสูงขึ้นมาก ทำให้เราพยายามลดลง ดังนั้น สิ่งที่จะลดลงได้คือ การจ้างเอาท์ซอร์ซ หรือ การจ้างคนภายนอก มาบริการด้านอาหาร ซักเสื้อผ้า ขยะติดเชื้อ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า โรงพยาบาล ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ตนจึงมองว่า นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ จะตอบโจทย์ของผู้ประกอบการ ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ รวมถึงเรามีโรงพยาบาลในสาขาต่างประเทศ ก็มักได้รับความนิยมด้านอาหารไทย หากเรามีการอบรมการทำอาหาร ก็น่าจะสนับสนุน ในการส่งครัวไทย ไปสู่ครัวโลก
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังได้สะท้อนว่า ปัจจุบันยังขาดแคลนแรงงานไทย อยู่จำนวนมาก หากเรือนจำ มีการพัฒนาทักษะ ก็จะเป็นสิ่งที่ผู้พ้นโทษเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ สนับสนุนให้กระทรวงยุติธรรม เดินหน้าสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พ้นโทษ เพราะผู้ประกอบการ จะได้มีแรงงานมีฝีมือเข้าทำงาน ซึ่งถือว่า ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งผู้พ้นโทษได้งานทำ ผู้ประกอบการได้แรงงานดี และกระทรวงยุติธรรม ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ต้องขัง