นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ออกประกาศคำสั่งให้บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมิน จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ที่นำเงินได้นั้นเข้าประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเหล่านี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และลดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษี
ปัจจุบัน บริบทการทำธุรกิจนั้นเปลี่ยนแปลงไป และกรมได้เข้าร่วมความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศ จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของภาคี และสรรพากร กำหนดจะเริ่มบังคับใช้ในปี 67 เพื่อยื่นจ่ายภาษีเงินได้ในปี 68 ยืนยันว่าประกาศดังกล่าว ไม่ได้เป็นการเก็บภาษีที่ทับซ้อน หากใครมีการเสียภาษีที่ประเทศต้นทางที่มีอนุสัญญาร่วมกันอยู่แล้ว ก็จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีที่ไทยอีก
อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ฉะนั้น กรมจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเพื่อทางปฏิบัติร่วมกัน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกรายละเอียดกฎหมายย่อยเพิ่มเติม และในระยะยาวจะมีการออกเป็นประมวลราษฎากร
“การจัดเก็บภาษีนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องเป้าหมายเพื่อการเพิ่มรายได้ แต่เน้นการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี ซึ่งกรมคาดว่าปีนี้จะจัดเก็บภาษีเกินเป้า 1.8 แสนล้านบาท“
นายลวรณ กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมตรี ได้มอบหมายให้ทบทวนเรื่องภาษีมรดก หลังเก็บได้น้อยเพียง 200 ล้านบาทว่า ขณะนี้กรมได้รับนโยบายแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการเพิ่มประสิทธิภาพและความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษี ทั้งเรื่องอัตราการเก็บภาษี และโครงสร้างต่างๆเพราะมีรายละเอียดหลายส่วน
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการออกภาษีมรดกช่วงแรก จะมีอัตราภาษีไม่สูง เนื่องจากช่วงแรกถือเป็นภาษีใหม่ ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก และเกิดแรงต้าน แต่เมื่อปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม
ขณะเดียวกัน กรมจะไปศึกษาและดูรายละเอียดภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเด้วย เช่น ภาษีการให้ ที่มีการโอนทรัพย์สินให้ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ส่วนแผนปฏิรูปภาษีในภาพใหญ่ของกรมนั้น จะต้องนำเสนอรัฐบาลอีกครั้ง รายงานข่าวแจ้งว่าการเก็บภาษีมรดกปัจจุบันจะเก็บในอัตรา 5% ของทรัพย์สินในกรณีที่เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่หากไม่เกิน 100 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้น