สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา "ปฏิรูปตำรวจ" ยกปมร้อน "กำนันนก" สะท้อนรัฐซ้อนรัฐ องค์กรตำรวจล้มเหลว ซื้อขายเก้าอี้-รับส่วย-แสวงอำนาจ "วิชา" หวั่นเป็นชนวนกลียุค

วันที่ 17 ก.ย.66 เวลา 10.15 น. ที่ห้อง Meeting A ชั้น 7 ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อาคารบางซื่อจังชั่น (ตึกแดง) สมาคมนักข่าวฯจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 2/2566 หัวข้อ “ปฏิรูปตำรวจ” กู้วิกฤตศรัทธาหรือดิ่งเหว?" โดยมีคณะวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบัน เพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย)

ศาสตราจารย์พิเศษวิชา กล่าวว่า การปฎิรูปตำรวจมีการพูดกันมานานแล้ว ซึ่งงานของตำรวจต้องใกล้ชิดประชาชน เพื่อความอุ่นใจ ความปลอดภัย และสันติสุข แต่องค์กรตำรวจมีเจ้าหน้าที่จำนวนมาก 2-3 แสนคน และเป็นองค์กรรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ซึ่งผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติดูแล แต่จะสามารถควบคุมเจ้าหน้าที่ 2-3 แสนคนไหวหรือไม่ นอกจากนี้ตำรวจยังเป็นองค์กรแห่งอำนาจตั้งแต่จับกุม ควบคุมตัว ทำให้คนสิ้นอิสรภาพ หรือทำให้คนหลุดจากถูกลงโทษที่ชี้เป็นชี้ตายได้ รวมถึงยังมีระบบอุปถัมภ์ในองค์กรที่ยั่งยืนสืบทอดกันมา ทำให้มีการพูดถึงการซื้อขายตำแหน่ง การมีส่วย หรือมีการครอบงำ โดยกระบวนการภายนอก ซึ่งเป็นผลประโยชน์มากมายมหาศาล ไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่มีการค้ำชูซึ่งกันและกันในระบบอุปถัมภ์

"สมัยผมเป็น ป.ป.ช.ครั้งแรกเจอคดีส่วยยาเสพติด เป็นการจับครั้งใหญ่มากมีการรื้อกันว่ามีใครบ้างในสมุดเล่มนั้นปรากฏว่า ในที่สมุดหายไปไม่รู้ว่าใครรับส่วยบ้าง แต่ผมรู้ว่ามีอยู่ และสุดท้ายก็จับได้แต่ตัวจิ๊บจ๊อย ไม่ถึงตัวข้างบน ก็ทำให้รู้ว่ามีอำนาจซ้อนรัฐ " ศาสตราจารย์พิเศษวิชากล่าว

ขณะที่อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างที่รวมศูนย์อยู่ที่ อบต. อบจ. ทำให้คดีที่เกี่ยวกับฮั็วจับตรงไหนก็เจอทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องกำนันนก เท่านั้นที่รวยมหาศาล แต่คนอื่นก็นั่งเงียบๆ จึงไม่เกิดเรื่อง แต่เป็นกระบวนการที่รู้กันและกระซิบบอกกันว่า ใครสายใคร เพื่อมีส่วนช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะฉะนั้นระบบของประเทศไทยที่เป็นรัฐซ้อนรัฐที่มีเป็นไปตามกฎหมายและเป็นระบบใต้ดิน ซึ่งระบบนี้ก็มีอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมก็มีด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษวิชา กล่าวอีกว่า เหตุใดจึงเกิดคดีเหล่านี้เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นคดีบอส คดีผู้กำกับคลุมหัวผู้ต้องหา หรือมาคดีกำนันนกที่ฆ่าตำรวจตาย จะเป็นตัวอย่างที่แรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน แต่ทำไมยังอยู่ภายใต้อำนาจองค์กรใต้ดินเหล่านี้อยู่ดังนี้ หากให้มีอำนาจรัฐซ้อนรัฐแล้วไม่กำจัดออกไปในที่สุดแล้วจะเกิดกลียุค

"มันเริ่มผันแปรถ้าไปอ่านที่เขียนไว้ในก็อดฟาเธอร์กระบวนการนี้เป็นการฟอกเงิน และฟอกคน เพื่อส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือแล้วส่งมาในองค์กรต่างๆ ก็อดฟาเธอร์บอกเลยว่าการสิ้นสุดลงคือมานั่งอยู่ในรัฐเอง มาเป็นรัฐมนตรีเอง มาเป็นผู้จัดการประเทศเอง"ศาสตราจารย์พิเศษวิชา กล่าว

ส่วนการปฏิรูปองค์กรตำรวจจะแก้ที่จุดใดนั้น ศาสตราจารย์พิเศษวิชา กล่าวว่า ต้องลดองค์กรให้เล็กลง ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจแบบนี้ เช่น เนเธอเร์แลนด์ แยกระหว่างตำรวจนครบาลและตำรวจภูธร ซึ่งอาจจำเป็นสำหรับเมืองใหญ่ เพื่อการบริหาร โดยตำรวจภูธรให้แยกไปเลยอย่าง เช่น ญี่ปุ่นมีของการแต่งตั้งด้วยตัวเองแต่ละจังหวัด และมีตำรวจชุมชนที่เรียกว่า "โคบัง"  ที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจของประชาชนไม่ใช่ตำรวจของ "นาย" จึงต้องสลายองค์กรอำนาจและมาร่วมมือกับชุมชน ที่สำคัญการฝึกอบรมต่างๆ ทำเพื่อสถาปนาอำนาจและคอนเนคชั่นเท่านั้น จนกลายเป็นการครอบงำจากวัฒนธรรมขององค์กรตำรวจด้วยกันเอง

"กระบวนการจัดการอย่างน้อยเรื่องของโรงพักใน พ.ร.บ.ตำรวจฉบับปฏิรูปต้องทำเร่งด่วนใน เรื่องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของตำรวจ ซึ่งจะเป็นส่วนดีๆ ของ พ.ร.บ.นี้ที่ต้องทำให้จริงจัง ถ้ารัฐบาลใหม่จริงใจ ช่วยนำพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาขึ้นมาได้หรือไม่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงอยากให้นำมาปัดฝุ่น โดยให้สภาพิจารณาว่าเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้มีการยกร่างไว้เรียบร้อยแล้ว" ศาสตราจารย์พิเศษวิชา กล่าว

ส่วนตำแหน่งนายพลตำรวจนั้น ศาสตราจารย์พิเศษวิชา กล่าวว่า องค์กรตำรวจเป็นรูปแบบเดียวเช่นกับกองทัพ จึงต้องนำรูปแบบตำรวจประชาชนมาใช้ ไม่ใช่รูปแบบองค์กรอำนาจที่ใช้ยุทโธปกรณ์หรือการมีชั้นยศ ทำให้การทำงานของตำรวจที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ประชาชนก็ถูกพรากออกไปด้วย

ด้านดร.มานะ กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องชั่วร้ายที่สะท้อนการคอรัปชั่นของระบบราชการ ซึ่งเป็นภาพระบบราชการที่ล้มเหลวทุจริตคดโกง ซึ่งทุกคนก็รู้กันอยู่ว่าขาดธรรมภิบาล ไร้ความผิดชอบชั่วดี ทำให้ข้าราชที่ดีต้องก้มหัวผู้มีอิทธิพล ถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้คนดีจะไม่มีที่ยืนและสังคมไทยเดินต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐจะล้มเหลวไม่มีใครจะเชื่อถือ ที่ผ่านมาตำรวจถูกร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช.หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อยู่เสมอ ก็เห็นว่าประชาชนไม่เชื่อมั่น และได้รับความเดือดร้อนจากองค์กรตำรวจ

โดยเรื่องส่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีการร้องเรียนจากประชาชน หรือจากสมาคมการค้าทั้งไทยและต่างชาติว่ามีการเรียกเก็บส่วย เช่น ส่วยรถบรรทุกมีการชี้เป้าที่ส่วยสติ๊กเกอร์ที่มีเงินหมุนเวียนประมาณหมื่นล้านบาท โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ คนในกระบวยการยุติธรรม หรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ขณะเดียวกันอุปสรรคของระบบไอทีหน่วยงานหลีกเบี่ยงจะป้อนข้อมูลหรือทำข้อมูลที่นำไปใช้งานได้อย่างเช่นเป็นไฟล์ JPEG จึงต้องทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้

"กรณีกำนันนกประชาชนเห็นชัดเจน เป็นการทำลายเกียรติภูมติของเครื่องแบบถ้าเรื่องนี้จะไปเป็นไฟไหม้ฟาง ถ้าจะต้องปฏิรูปต้องเลิกมุมมิบในสภาฯ ต้องบอกว่า ถ้าจะปฏิรูปตำรวจ ประชาชนจะได้อะไร และตำรวจต้องไม่ตบทรัพย์ ต้องไม่ขอค่าดำเนินคดีกับประชาชน ต้องไม่ให้ประชาชนไปขอหลักฐานจากกล้องวงจรปิดเสียเอง หรือเรื่องตั๋วช้างจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร ก็ขอให้ ผบ.ตร.คนใหม่จะทำให้ประชาชนจดจำแบบไหนเท่านั้น"ดร.มานะกล่าว

ขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า คดีกำนันนกสะท้อนในหลายมิติมากกว่าที่เป็นข่าว เวลานี้จะหาทางอกอย่างไร จะพัฒนาตำรวจอย่างไร แต่ทำไมตำรวจที่ต้องใช้คำว่าเลวร้ายขนาดนี้ ขณะนี้เป็นเรื่องขององค์กรแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคล ที่ผ่านมามีการวิ่งกันในตำแหน่งมีการถามถึง ว่า จ่ายเท่าไหร่แพงหรือไม่ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในองค์กรนี้ ขณะเดียวกันคดีที่ประชาชนไปแจ้งความจากร้อยคดีก็มีไม่เกิน 5 คดีเท่านั้นที่ได้ดำเนินการ และส่วนใหญ่เป็นคดีดังแต่คนจนหมดสิทธิ ทำให้ประชาชนต้องไปร้องภาคส่วนอื่นหรือไปรายการข่าวดังๆเท่านั้น

"เรื่องส่วยมีทุกเรื่องเลย ทั้งหวยใต้ดิน สถานบริการ บ่อน รถบรรทุก การพนันออนไลน์ต้องจ่ายส่วยทั้งสิ้น ไม่มีการทำผิดกฎหมายใดที่เปิดอยู่แต่ไม่จ่ายเงินให้ตำรวจ"พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องปฏิรูปองค์กรที่เป็นปัญหาทั้งระบบ โดยต้องลดระบบการปกครองออกจากรูปแบบมีชั้นยศแบบทหารหรือมีความคิดแบบทหาร แต่ตำรวจกลับนำวินัยทหารมาใช้ ทำให้โครงสร้างไม่สอดคล้องกับการทำงานให้ประชาชาเช่นเดียวกับตำรวจหลายแห่งทั่วโลก เพราะการไม่มียศเป็นมิตรกับประชาชนมากกว่า รวมถึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีอำนาจตรวจสอบตำรวจได้ด้วย