วันที่17​ ก.ย.2566​-นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า  ได้ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดลพบุรี เรื่องสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 1/2566 ระบุว่า ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีความเสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 17-21 กันยายน 2566 นั้น


ปัจจุบัน มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูล วันที่ 17 กันยายน 2566 เวลา 0600 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่าน สถานี C2 จังหวัดนครสวรรค์ วัดได้  665 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น อยู่ระดับ +16.50 ม.รทก. และคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 300-500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1.00-1.50 เมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวยังคงอยู่ในตลิ่งลำน้ำ 


ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 12 จะควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมิให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลกระทบให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป