วันที่ 16 กันยายน 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ไปทบทวนคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ไม่ได้ใช้ และเป็นอุปสรรคกับประชาชน รวมถึงคณะกรรมการที่ตั้งตามคำสั่งคสช.ว่า อย่าไปคิดว่าเป็นการสังคายนา เรื่องดังกล่าวนายกฯให้คำชี้แนะต่อครม. ไปทบทวนคณะกรรมการตามคำสั่งคสช.ที่ขณะนี้มี 174 คณะ โดยให้แต่ละกระทรวงไปพิจารณา หากคิดว่าประกาศหรือคำสั่งใดที่ล้าสมัย สามารถปรับแก้หรือยกเลิก โดยแจ้งเรื่องมาที่ครม.เพื่อขอยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง หากครม. เห็นว่าคำสั่งของเดิมมีศักดิ์เทียบเท่ากับมติครม. ก็ออกเป็นมติครม.เพื่อยกเลิกของเดิม แต่หากเป็นกฎหมาย ที่มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ก็ต้องจัดทำเป็นร่างพ.ร.บ.เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาพิจารณายกเลิก อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องยาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า การได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่าเป็นการทำหน้าที่เนติบริกรได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แม้ไม่ได้เรียนด้านกฎหมาย แต่เข้าใจเรื่องงานที่ได้รับมอบ และไม่เคยเห็นว่ารองนายกฯคนใดร่างกฎหมายเป็น ส่วนสส.ก็มีน้อยคนที่จะร่างกฎหมายเอง เพราะมีเจ้าหน้าที่ ที่ชำนาญในการยกร่าง แต่เรารู้ว่ากฎหมายฉบับใดล้าสมัย หรือฉบับใดทำให้เสียสมดุล