นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลถึงข้อระมัดระวังของ ธปท.ว่า ไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพหลายมิติ ที่กังวลเป็นพิเศษคือ เสถียรภาพการคลัง ธปท.จึงต้องดำเนินนโยบายเสถียรภาพอยู่ สำหรับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทได้แลกเปลี่ยนถึงความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพ โดยต้องติดตามรูปแบบที่ออกมา เพราะยังไม่มีความชัดเจน และถ้าทำรูปแบบเฉพาะกลุ่มจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า

“เงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบยังขาดความชัดเจน ถ้าออกมาเป็นดิจิทัลแอสเซ็ท ก็ไม่สนับสนุน เพราะจะเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อเสถียรภาพ ถ้าเป็นอี-มันนี่ ก็เป็นรูปแบบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ถ้าเป็นแบบนั้น ต้องดูว่าไปเกิดอุปสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบการคลังอย่างไร” 

สำหรับมาตรการพักหนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะทำ มองว่าการพักหนี้ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลัก และไม่ควรเป็นวงกว้าง ซึ่งได้แสดงความกังวลต่อรัฐบาลไป โดยการพักหนี้ในวงกว้างไม่เหมาะสม แต่จำเป็นในช่วงจังหวะเหมาะสมชั่วคราวเช่น ช่วงโควิด-19 ถูกล็อกดาวน์ เพราะได้รับผลกระทบ ซึ่งการพักหนี้ทุกคนไม่เหมาะ เพราะผลข้างเคียงเยอะ หนี้เกษตรกรบางกลุ่มมีศักยภาพ ปิดจบหนี้ได้ ชำระแล้วให้มีแรงจูงใจทำต่อ แต่บางกลุ่มหนี้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ปิดจบยาก โดย ธปท.แสดงความเป็นห่วง ซึ่งรัฐบาลได้รับฟัง แต่เรื่องนโยบายเป็นอย่างไร อยู่ที่การตัดสินใจ

ขณะเดียวกันได้ให้ข้อมูลกับนายกฯ เรื่องการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้จะขยายตัวแค่ 1.8% ในไตรมาส 2/66 แต่การเติบโตที่ผ่านมา การบริโภคฟื้นตัวได้ดี 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ยังขาดเรื่องการลงทุน ที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งภาพฟื้นตัวเศรษฐกิจ การกระตุ้นประเภทอื่นสำคัญกว่า โดยช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ ธปท.จะออกแนวทางสอดคล้องกับ financial landscape เช่น การทำโครงสร้างพื้นฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลให้มาตรฐานกลาง เช่น ธนาคาร การชำระค่าไฟ ค่าน้ำ มีข้อมูลอื่นที่นอกเหนือจากรายได้ เพื่อใช้ประกอบขอสินเชื่อ ช่วยลูกค้าได้สินเชื่อสะดวกขึ้น

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อมองว่า ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอยู่จากความเสี่ยงด้านพลังงานโลก และจากเอลนีโญที่ทำให้ราคาอาหารสูง โดยต้องดูนโยบายการเงินสอดคล้องภาพระยะยาว ดูเงินเฟ้อในกรอบยั่งยืน 1-3% ไม่สร้างพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงช่วงดอกเบี้ยต่ำ ยอมรับว่าดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนี้ ธปท.ต้องดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ เงินเฟ้อต้องทำตามกรอบ การมีเสถียรภาพด้านการเงินเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นต่อเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยที่พูดถึงไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ไทยต้องทำให้ดอกเบี้ยแลนดิ้งสอดคล้องกับภาพระยะยาว หมายถึงตอนนี้ถอนคันเร่งออก ไม่ถึงกับเหยียบเบรก