กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ “บุกแม่ฮ่องสอน” ของดีจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และนำรายได้มาสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพื่อสร้างรายได้กับให้เกษตรกรและชุมชน โดยได้ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นหรือเกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ซึ่งเป็นสินค้าที่เชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้สินค้า GI มีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันนำมาสู่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI บุกแม่ฮ่องสอน ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นบุกสายพันธุ์บุกไข่หรือบุกเนื้อทราย หัวบุกมีลักษณะหัวกลมแป้น ผิวเรียบถึงขรุขระเล็กน้อย เมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาล เนื้อในหัวแน่นละเอียดคล้ายเม็ดทราย มีสีขาวอมเหลือง ขาวอมชมพู เหลือง ชมพู ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยพื้นที่เพาะปลูกควรเป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง มีฝนสม่ำเสมอ และไม่ควรอยู่ในเขตที่มีลมพัดแรง ปลูกในดินร่วนเหนียวถึงร่วนปนทรายระบายน้ำดี สภาพภูมิอากาศและระดับความสูงทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนถือได้ว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกบุกไข่หรือบุกเนื้อทราย ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของบุก ทำให้บุกแม่ฮ่องสอนมีปริมาณสารกลูโคแมนแนนสูงกว่าพื้นที่อื่น โดยบุกเป็นพืชพื้นถิ่นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถพบได้ทั่วไปในบริเวณป่า ชาวบ้านมักนำมาประกอบอาหารและนำมาจำหน่าย เช่น แกงบุกใส่หมู บุกโก้ (ยำบุก) ยำบุกใส่หมูสับ หน่อโก้ใส่บุก(ยำหน่อไม้ใส่บุก) และเส้นบุกทรงเครื่องยูนาน เป็นต้น ซึ่งบุกเป็นอาหารของชาวชาติพันธุ์และไทใหญ่มานานนับ 100 ปี ต่อมาชาวบ้านหันมาปลูกบุกมากขึ้น โดยสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนกว่า 50 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ด้วยความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ของจังหวัดที่เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับวิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะตามแหล่งภูมิศาสตร์ และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368