"นายกฯ" แจ้งข่าวดี เตรียมเฮ! ประชุมครม.นัดแรกมีเซอร์ไพรส์ ลดค่าไฟ-น้ำมัน ด้านสอท. ระบุพิษส่งออกวูบ-เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ต่ำสุดรอบ 1 ปี เสนอตรึงดอกเบี้ย-ลดค่าไฟประคองธุรกิจ

    
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดแรกวันที่ 13 ก.ย. ว่า ขอให้พี่น้องสื่อมวลชนเตรียมทำข่าวไว้ได้เกี่ยวกับนโยบายหลัก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน วีซ่าฟรี และอีกหลายๆเรื่อง ซึ่งมีเรื่องเยอะมาก เมื่อถามว่า แสดงว่ามีอะไรจะเซอร์ไพรส์ประชาชนตั้งแต่ครม.นัดแรกเลยใช่หรือไม่ นายกฯ ยิ้มพร้อมกับกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าจะทำให้แปลกใจหรือเซอร์ไพรส์ที่จะมีอะไรบ้าง แต่มีนโยบายเยอะและหลายๆ อย่างจะเป็นการตอบโจทย์สิ่งที่แถลงนโยบายไปบ้างในเบื้องต้น และจะพยายามนำมาทำให้ได้เร็วที่สุด ฉะนั้นจะมีหลายเรื่อง
    
 เมื่อถามว่า การใช้จ่ายบล็อกเชนเรื่องเงินดิจิทัลจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตการใช้จ่ายทิพย์ได้ใช่หรือไม่ อย่างกรณี 10,000 บาท แต่ร้านค้าให้เงินสด 9,000 บาท เหมือนเป็นการหักหัวคิว นายเศรษฐา กล่าวว่า เข้าใจถึงปัญหาก็ต้องไปเขียนเป็นข้อบังคับไป เมื่อถามว่า ราคาค่าไฟที่ลดลงเปิดเผยได้หรือไม่จะลดที่เท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวคอยฟังดีกว่า ไม่อยากพูดไปก่อน ใจเย็น วันที่ 13 ก.ย.ตอนบ่ายทราบแน่นอน
    
 ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค.66 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลง จาก 92.3 ในเดือนก.ค. ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 1 ปี เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 
    
 โดยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐคือ 1.เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภาย ในประเทศทดแทนอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวอาทิ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมาตรการเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เป็นต้น 2.เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบ การ SMEs เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันและก๊าซ การสนับสนุนสินค้า SMEs เป็นต้น 3.เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี รวมถึงกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ 4)เร่งรัดโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แล้ว