Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.53 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน แนะนำผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหว sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.47-35.54 บาทต่อดอลลาร์) โดยถึงแม้ว่า เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงมาบ้าง แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.30% อีกครั้ง ก็ยังคงกดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้างและเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าให้กับเงินบาท

แม้ว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพุธนี้ ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ นำโดย Tesla +10% หลังนักวิเคราะห์กลับมาแนะนำการลงทุนในหุ้น Tesla จากแนวโน้ม Super computer ใหม่ของบริษัทจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทได้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นเทคฯ ในธีม AI ต่างปรับตัวขึ้น ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.14% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.67% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.34% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +3.4%) จากความหวังว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด ปรับตัวขึ้น +0.1%y/y ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นทั้ง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหว sideway ใกล้ระดับ 4.30% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นได้บ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (นอกเหนือจากการรอลุ้นอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ) ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการทยอยซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว เนื่องจากระดับยีลด์ที่สูงขึ้น มี risk/reward ที่น่าสนใจและเรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ ก็อาจปรับตัวขึ้นไม่ได้มาก ยกเว้นว่าเฟดจะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ซึ่งเราคงประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวยังต่ำอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway หลังจากทยอยอ่อนค่าลงในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุม ECB ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.6 จุด (กรอบ 104.4-104.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหว sideway และมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง แต่ทว่าจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงผันผวนใกล้ระดับ 1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

สำหรับวันนี้ ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และค่าเงินยูโร (EUR) ได้ โดยจะเริ่มจาก รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษล่าสุด โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานอังกฤษมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น โดยอัตราการว่างงาน (Unemployment) อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงที่ไวกว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ เราประเมินว่า การชะลอตัวลงของตลาดแรงงานอาจไม่สามารถเปลี่ยนใจ BOE ต่อการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษยังคงอยู่ในระดับสูงมาก เมื่อเทียบกับเป้าหมายของ BOE กอปรกับ แรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าจ้างก็ยังคงมีอยู่ โดยอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ไม่รวมโบนัส ในเดือนกรกฎาคม อาจยังคงสูงกว่า +7.8%

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ซึ่งมีโอกาสที่บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันอาจปรับลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจลงได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรปในระยะนี้ออกมาแย่กว่าคาด

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่มาจากการที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนุนดังกล่าว ก็เริ่มแผ่วลงบ้าง ในขณะที่ ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้ง แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่เรายังไม่เห็นสัญญาณการกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยอย่างที่เราเคยคาดหวังไว้ ว่านักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมและคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลง นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้งข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ และดัชนี ZEW ของเยอรมนี ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษและเงินยูโร 

อย่างไรก็ดี เราคาดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ และรอลุ้นผลการประชุม ECB ทำให้การปรับสถานะถือครองอาจยังไม่ชัดเจนนัก

อนึ่ง ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาท/ดอลลาร์