กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.25-35.80 ลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐฯ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.25-35.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.08-35.64 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์แตะจุดสูงสุดรอบ 6 เดือน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นตอบรับข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกและดัชนีภาคบริการซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น ส่วนเงินหยวนดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 16 ปี ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะตกต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ขณะที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตลาดจับตาดูว่าทางการญี่ปุ่นจะเข้าพยุงค่าเงินเยนซึ่งอ่อนค่าลงต่อเนื่องหรือไม่ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 5,733 ล้านบาท และ 7,872 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดตั้งแต่เดือนพ.ย. 65
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ระบุว่า นักลงทุนจะติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคและยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งตลาดไม่แน่ใจว่าจะคงดอกเบี้ยในวันที่ 14 ก.ย. หรือไม่ โดยหากอีซีบีตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยหนุนค่าเงินยูโรได้ชั่วคราวและดอลลาร์อาจเข้าสู่รอบปรับฐานหลังดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินปิดในแดนบวก 8 สัปดาห์ติดต่อกัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและค่าเงินหยวน รวมถึงแนวโน้มการปรับท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)เกี่ยวกับนโยบายที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจะเป็นประเด็นชี้นำตลาดการเงินเช่นกัน
โดยประเด็นในประเทศ กรุงศรีคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เพิ่มขึ้น 0.88% ในเดือนส.ค.จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.79% โดยก.พาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ย.มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากราคาพลังงานรวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงในหลายประเทศทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรลดลง ทางด้านผู้ว่าการธปท.ระบุว่าการส่งออกฟื้นตัวช้าและรายได้จากการท่องเที่ยวต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ใกล้ระดับที่เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าเงินบาทธปท.จะพยายามดูแลไม่ให้ผันผวนสูงเกินไป แต่จะไม่ฝืนทิศทางหรือกลไกตลาด