"สส.พปชร." อภิปรายทวงคืน บัตรประชารัฐ เดือนละ700บาท - เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละพันบาท บอกปชช.รอคอย "สว." ตั้งคำถามงบแจกเงินดิจิทัล-พักหนี้ ใช้เงินใน-นอกงบประมาณฯ เบรกนำเงินทุนสำรองออกมาใช้
วันที่ 11 ก.ย.2566 เวลา 09.33 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ต่อมาเวลา 11.12 น.นายวรโชติ สุคนธ์ขจร สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ขอให้รัฐบาลยืนยันความชัดเจนต่อการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ และบัตรประชารัฐ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่พบว่ามีประชาชนสอบถามความชัดเจน ซึ่งตนยืนยันว่ารัฐบาลปัจจุบันคงไม่ทอดทิ้ง ดังนั้นตนขอให้รัฐบาลพิจารณา ทั้งเบี้ยผู้สูงอายุที่ควรปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือนและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้นตนขอให้พิจารณาปรับเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้ให้เหมาะสม เนื่องจากในพื้นที่จ.เพชรบูรณ์ หากกำหนดให้ใช้ในระยะ 4กม. พบว่าไม่มีร้านค้าที่สามารถใช้ได้
ต่อมาเมื่อเวลา 11.18 น.นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. อภิปรายว่า นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นเป็นเรื่องที่ชาญฉลาด กล้าหาญ แต่สุ่มเสี่ยงและมีข้อโต้แย้งมาก จะเป็นการจุดชนวน กระตุ้น กระตุก ได้แค่ไหน เปรียบเหมือนกระดุมเม็ดแรกถ้าทำสำเร็จสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการหมุนเวียนในรอบ 6 เดือน บทสรุปดีและตนเห็นด้วยภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยที่มาเป็นแกนนำถือเป็นการเปิดหน้าใหม่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการเดิมพันไว้สูงมาก การที่นายกฯกล่าวถ้อยคำไว้ว่าเทหมดหน้าตักในครั้งนี้ไม่ใช่หน้าตักของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นหน้าตักของประเทศไทยใช่หรือไม่ จะต้องใช้งบประมาณสูงในโครมเดียว
ดังนั้นที่มาของเงินมากจากไหน ซึ่งที่เคยชี้แจงต่อกกกต.เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ว่าเงินทั้งหมดจะนำมาจากการบริหารงบประมาณระบบปกติ และการภาษี จะเป็นโครงการที่อยู่ในโครงการงบประมาณในปี 67 แต่ไม่กี่วันก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีออกมาพูดว่าที่มาของเงินจะต้องปฏิบัติตามวินัยการเงินการคลัง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้รัฐวิสาหกิจทำไปก่อนแล้วรัฐจ่ายเงินคืนภายหลัง เหมือนโครงการรับจำนำข้าว เพราะฉะนั้นงบประมาณปี 67 กว่าจะใช้ได้จริงเหมื่อไหร่เพราะบอกว่าจะเริ่มโครงการในเดือนเม.ย.ปี67
ดังนั้นที่มาของเงินเป็นเงินในโครงการงบประมาณ หรือโครงการนอกงบประมาณในลักษณะใด รวมกับโครงการพักหนี้เกษตรกรต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ เมื่อรวมสองโครงการเป็นเงินเท่าไหร่ จะใช้เงินในหรือนอกงบประมาณ ดังนั้นตนเป็นห่วงแหล่งที่มาของเงินเกรงว่าจะไปแตะสินทรัพย์ที่มีมากพอ อย่างเช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือไม่ เพราะมีแนวความคิดตั้งกองทุนเงินมั่งคั่งแห่งชาติ