ชาวลำปาง 500 ประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาเหมืองแร่แม่เลียง กรรมการบริษัทแจงเหตุไม่เข้าใจกัน-ยืนยันจัดเวทีรับฟังความเห็น ย้ำไม่ต้องการสร้างความแตกแยก
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 เครือข่ายต่อต้านการทำเหมืองแร่บ้านแม่เลียง ได้ชุมนุมเพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองของ บ.ทรัพย์ธรณี ลานนา จำกัด เวลา 09.00 น. ที่ศาลาเอนกประสงค์ หมู่ที่ 7 บ้านแม่เลียง ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง โดยมีนายเชาว์ ทวีพัฒน์ดนัยนันท์ นายอำเภอเสริมงาม นายสุภชัย ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง มารับมอบหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่บ้านแม่เลียง ทั้งนี้มีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 500 คน
นายสุภชัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ที่เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวกรณีการทำประชามติถ้ามีผู้คัดค้านแค่เพียงเสียงเดียวก็จะไม่สามารถทำเหมืองได้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากประชามติเหมือนการเลือกตั้ง ถ้าเสียงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เอาเหมือง ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถทำได้
นายเชาว์ นายอำเภอเสริมงาม กล่าวว่า การใช้สิทธิของชาวบ้านในการชุมนุมครั้งนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน นายอำเภอเป็นเพียงส่วนราชการ ชาวบ้านจะเอาหรือไม่เอานายอำเภอพร้อมที่จะรับเรื่องเพื่อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางดำเนินการต่อไป
“เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะชุมนุม นายอำเภอเคารพสิทธิของพี่น้องทุกท่าน ผมเป็นเพียงตัวแทนส่วนราชการขอให้พี่น้องเห็นใจด้วย คนเสริมงามต้องรักกันอย่าโจมตีกัน เมื่อไหร่ที่โจมตีกันเราจะอ่อนแอ เราต้องสามัคคีกัน การทำงานของนายอำเภอเดินตามความต้องการของชาวบ้าน ไม่เอาหน้าไปรับศอกใคร” นายเชาว์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.รภัสสรณ์ นิยะโมสถ ส.ส.เขต 4 จ.ลำปาง พรรคก้าวไกล และทีมงานได้เข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีคัดค้านเหมืองแร่ โดยกล่าวว่า เคยเข้ามารับฟังชาวบ้านแล้วครั้งหนึ่ง คราวนี้ภาคประชาคมจัดเวทีนอกจาก ส.ส.แล้วยังมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เชื่อมั่นว่าเสียงของประชาชนจะดังไปถึงหัวหน้าส่วนราชการ ขอให้พี่น้องมั่นใจว่าถ้าชาวบ้านคัดค้านเสียงของประชาชนจะต้องสำคัญที่สุด และจะขอยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนทุกคน
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ยังได้ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ห้ามหน่วยงานภาครัฐ ที่ปรึกษาบริษัทเหมืองแร่ หน่วยงานอื่นใดที่ส่งเสริมการทำเหมืองแร่จัดการประชุมขึ้นในพื้นที่และคัดค้านการทำเหมืองแร่พลวงบ้านแม่เลียง เพื่อป้องกันความเดือดร้อนเสียหาย ผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับการติดต่อจาก บริษัททรัพย์ธรณี ลานนา จำกัด ผู้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่พลวง เนื้อที่ 52 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา บ้านแม่เลียง หมู่ที่ 7 ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง เพื่อชี้แจงกรณีการขอประทานบัตรเหมืองแร่ซึ่งทำให้ชาวบ้านออกมาคัดค้านจนถึงขณะนี้ โดยมีนายอดิสรณ์ แซ่ว่าง นายทรงศักดิ์ แซ่มัว และนายพิชัย แซ่ย่าง กรรมการบริษัทฯ เดินทางมาชี้แจงด้วยตัวเอง
นายอดิสรณ์ แซ่ว่าง กรรมการบริษัท กล่าวถึงสาเหตุที่มีการชุมนุมคัดค้านว่า คนที่อยู่นอกชุมชนและไม่ได้อยู่ใน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ผึ้ง บ้านแม่เลียง และบ้านแม่เลียงพัฒนา ได้เข้ามา ซึ่งไม่เป็นไปตาม พรบ.แร่ ปี 2560 เกิดความเข้าใจผิดหลายอย่าง
“วันนี้ในฐานะกรรมการบริษัทอยากจะมาชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ชาวบ้านคิดกันไปเอง สาเหตุที่คัดค้านกันเขายังไม่เข้าใจ พรบ.แร่ ปี2560 คำว่าเหมืองมันดูน่ากลัวกับชุมชน แต่บริษัทได้ยื่นขอใช้พื้นที่แค่52 ไร่ เพราะคำขอประทานบัตรแปลงนี้อยู่ในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ E ทั้งแปลง ในกระบวนการขอประทานบัตรพื้นที่ตรงนี้เปิดกว้างสำหรับธุรกิจที่ประสงค์จะเข้าไปขอประทานบัตร” กรรมการ บริษัททรัพย์ธรณีฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการยื่นขอประทานบัตรเดือนธันวาคม ปี 2565 แต่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ลำปาง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ไม่ตรงตามกฎหมายกำหนด 30 วัน กรรมการบริษัททรัพย์ธรณีฯ กล่าวว่า การยื่นขอประทานบัตรครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม เนื้อที่ 128 ไร่ กฎหมายให้ สอจ.ลำปาง นำคำขอไปติดประกาศภายใน 7 วัน ว่าทับที่ดินใครหรือเปล่าจะได้ออกมาทวงสิทธิ เมื่อไม่มีก็ส่งคำขอไปที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อให้กรมตรวจสอบการรังวัดจากเจ้าพนักงานแร่ประจำท้องที่ เขาใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากมีแผนแม่บทแร่แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ตามออกมา ซึ่งกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ไหนขอได้ เขาให้คำตอบราวๆ เดือนพฤษภาคม
กรรมการบริษัทฯกล่าวว่า สอจ.ลำปางตอบกลับมาว่า 128 ไร่ไม่ได้ทั้งหมดเนื่องจากพื้นที่บางส่วนไม่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ขอประทานบัตรแร่ได้ คำแนะนำ สอจ.ลำปาง บอกให้เราตัดพื้นที่ออกจากคำขอจาก128 ไร่เข้าไปรังวัดใหม่เหลือ 52 ไร่เศษ แต่มีความกังวลใจว่าถ้าเราได้ทำก็จะขยายออกไป กฎหมายไม่ให้ขยายครับ ให้ทำได้ในพื้นที่ 52 ไร่ เมื่อตัดพื้นที่เสร็จก็ต้องส่งแผนที่นั้นกลับเข้าไปที่กระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้ง ก็ใช้เวลาบริษัทเราก็ตามเรื่อง สุดท้ายก็แจ้งว่าตรวจสอบผลการรังวัดของบริษัทแล้วถูกต้องตามกฎหมายสามารถดำเนินตามขั้นตอนต่อไปได้ ก็คือการจัดรับฟังความคิดเห็น
“มันคือการขอรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พอพูดคำว่าเหมืองชาวบ้านก็กังวลว่าจะเป็นแบบเหมืองแม่เมาะที่มีเป็นหมื่นๆไร่ ตรงนี้ 52 ไร่ ขยายไม่ได้ด้วย เราแค่จะรับฟังชาวบ้านว่าบริษัทเข้ามาจะว่าอย่างไร แค่นี้จริงๆ แทนที่เราจะได้ฟังความเห็นของชุมชนกลายเป็นว่าเรากังวลมากถ้าจัดแล้วคน 2 กลุ่มจะมาปะทะกัน” บ.ทรัพย์ธรณีฯ กล่าว
นอกจากนี้ทาง กรรมการบริษัททรัพย์ธรณีฯ ยืนยันว่าพื้นที่ 52 ไร่ที่ขอประทานบัตร ส่วนหนึ่งเป็นแอ่งน้ำจากเหมืองเก่าและไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณใกล้เคียง แต่มีแพรกห้วยที่ระบายน้ำตามหุบเขาเวลาฝนตกไม่มีทางน้ำที่จะไหลลงไปแม่น้ำ จากพื้นที่ขอประทานบัตรมีภูเขาสูงคั่นกลางห่างออกไปหลายกิโลเมตร ไม่ได้ติดกับแม่น้ำเลียง ซึ่งบนเขาไม่มีแหล่งน้ำหากทำเหมืองต้องนำน้ำในแอ่งนั้นมาใช้
“นั่นหมายความว่าในหลุมเหมืองที่มีน้ำขังอยู่ตรงนั้นไม่ใช่ต้นน้ำที่ชาวบ้านใช้ อ่างแม่เลียงห่างจากเหมืองในทางตรง 2,800 เมตรแล้วมีภูเขากั้นอยู่ ไม่มีสายน้ำจากอ่างแม่เลียงไหลมาหรือน้ำจากตรงพื้นที่ประทานบัตรข้ามเขาไปแน่นอน ข้างล่างมีสระบ้านแม่เลียงห่างจากตรงนี้ 3,500 เมตร สระบ้านแม่เลียงรับน้ำจากอ่างบ้านแม่เลียงไม่ได้รับน้ำจากที่นี่ น้ำตรงนี้ไม่ได้ไหลไปไหน” บ.ทรัพย์ธรณีฯ กล่าว
ส่วนความกังวลของชาวบ้านว่าการทำเหมืองจะปล่อยสารพิษลงแม่น้ำนั้น กรรมการบริษัททรัพย์ธรณีฯ กล่าวว่า กรณีเหมืองดีบุกที่เคยมีผู้ประกอบการเข้ามาขุดเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้วมีพื้นที่อยู่เหนืออ่างเก็บน้ำแม่เลียง ไม่ใกล้กับพื้นที่ขอประทานบัตรปัจจุบัน
“ทำเหมืองดีบุกเขาใช้น้ำฉีดแล้วชะล้างสารพิษมาลงแหล่งน้ำ แต่ของเราไม่เกี่ยว ขุมเหมืองเดิมถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเขาบอกว่าเมื่อก่อนมี 2 บริษัทเข้ามา แต่เทคโนโลยีการทำเหมืองของอดีตไม่ได้เจริญก้าวหน้าเท่ายุคนี้ เขาทำได้แค่นั้นแล้วถอนทุนออกไป ทิ้งร้างไว้อย่างนี้ เราบอกเจตนาที่บริสุทธิ์ว่าจะเข้าไปทำตรงนี้” กรรมการบริษัท กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับบริษัทแม่น้ำโขงสามเหลี่ยมทองคำหวางฉิ่ง จำกัด ซึ่งเคยยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่นี้เมื่อปี2560 กรรมการบริษัท ตอบว่าไม่เกี่ยวข้องกัน
“เราทราบว่าเขายกเลิกคำขอไป ไม่รู้ว่าควรจะพูดไหมนะ ใครก็ตามที่ไปยื่นคำขอประทานบัตรไว้ที่ไหน ถ้าเขาไม่ยกเลิกคำขอใครก็ยื่นขอทับไม่ได้ พวกผมไปซื้อต่อมา ไปซื้อสิทธิเขา เหมือนไปเซ้งมา รู้จักกันเพราะเราต้องไปเซ้งเขา เราทำอะไรกันอยู่ เราค้าขาย เรามีแหล่งที่เราจะขายสินค้าถ้าเรามีวัตถุดิบภายในมือเราก็แค่หาที่ขาย เรารู้ว่ามีแหล่งแร่ที่ไหนเราก็แค่ยื่นมาตามช่องทางแค่นั้นเอง” กรรมการบริษัททรัพย์ธรณีฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทจึงยื่นขอเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ศาลาเอนกประสงค์ หมู่ที่ 7 บ้านแม่เลียง นายอดิสรณ์ กล่าวว่า เวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่คาบเกี่ยว 3 หมู่บ้าน ตาม พรบ.แร่ ปี 2560 ที่ต้องยกเลิกเพราะมีการคัดค้านขึ้น ซึ่งประชาชนที่ออกมาคัดค้านไม่ได้อยู่ใน 3 หมู่บ้าน
“แล้วเกิดความเข้าใจผิดกันหลายเรื่องอาจเป็นเพราะได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอ เขาเลยมาคัดค้าน แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือการเลื่อนเวทีวันที่ 23สิงหาคมเนื่องจากมีการขัดแย้งกันในระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย เป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะไปเปิดการรับฟังแล้วไม่ใช่คนใน 3 หมู่บ้านต่อต้าน ผมในขณะนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะไปยืนพูดแล้วให้เขาเข้าใจในประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อ ก็เลยเกิดข้อโต้แย้งหลายๆอย่าง เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องขอเลื่อน มันเกิดบรรยากาศที่บริษัทไม่อยากเข้าไปสร้างความแตกแยก เราอยากจะให้ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ” นายอดิสรณ์ กล่าว
กรรมการบริษัทฯกล่าวว่า ไม่อยากให้ น.ส.รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 4 จ.ลำปาง พรรคก้าวไกล ที่เข้าไปรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านเข้าใจผิด จึงไม่อยากให้ทาง ส.ส.ให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนบิดเบือนกับประชาชนไม่อยู่ในพื้นที่ตามกฎหมาย
“นั่นจึงทำให้ผมเขียนจดหมายไปเพื่อขอให้จัดเวทีเสวนาขึ้น แล้วมีคำที่ทิ้งท้ายไว้ว่าทางบริษัทจะออกค่าใช้จ่าย ผมอยากจะให้เหตุผลว่าในส่วนภาคเอกชนเราไม่สามารถมีการประชุมในพื้นที่เปิดได้ มันจะสร้างสถานการณ์ความไม่เรียบร้อย นั่นเป็นเหตุผลว่าถ้าจัดในพื้นที่สาธารณะไม่ได้ ก็ขอคุยกันก่อน ไม่ใช่เวทีรับฟังความเห็น” นายอดิสรณ์ กล่าว