นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน ลงพื้นตรวจความคืบหน้า การพัฒนาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา หลังจากได้ก่อสร้างฝายทดน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทับเสลาที่ หมู่ 6 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา ซึ่งสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอทัพทัน อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค บรรเทาอุทกภัย อีกทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎรในเขตจังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา ได้ใช้งานเป็นเวลากว่า 40 ปี ระบบส่งน้ำชลประทานบางส่วนมีความชำรุดเสียหาย เกิดปัญหาประสิทธิภาพการส่งน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน อีกทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ส่งผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ รวมกับการที่มีฝายกั้นน้ำในคลองระบายธรรมชาติจำนวนมากส่งผลให้ไม่สามารถส่งน้ำได้ตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกปี
กรมชลประทาน จึงได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี มีระยะเวลา 540 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2565 ถึง เดือนตุลาคม ปี 2566 เพื่อปรับปรุงโครงการทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน สภาพเศรษฐกิจ สังคม การใช้ที่ดิน การใช้น้ำที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลามีพื้นที่ชลประทานประมาณ 164,196 ไร่ แบ่งการบริหารงานด้านการส่งน้ำและบำรุงรักษาออกเป็น 2 ฝ่าย 12 โซนส่งน้ำ
โครงการได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่โครงการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูล ข้อคิดเห็น มาประกอบในการกำหนดแนวทางบริหารหารจัดการน้ำ แนวทางการปรับปรุงโครงการที่เหมาะสมและให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เช่น โครงการปรับปรุงซ่อมแซมระบบส่งน้ำ พร้อมอาคารประกอบ จำนวน 20 คลอง และ อาคารชลประทาน 328 แห่ง การปรับปรุงซ่อมแซมระบบระบายน้ำ พร้อมอาคารประกอบ จำนวน 9 คลอง และ อาคารชลประทาน 13 แห่ง
โครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำพร้อมอาคารประกอบของพื้นที่ สปก.
เมื่อปรับปรุงโครงการแล้ว สามารถรองรับแผนบรรเทาปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ เพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำทับเสลาเพิ่มขึ้น 16.72 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากการปรับปรุงโครงการเพิ่มขึ้น 23,335 ไร่ แบ่งเป็นในพื้นที่โครงการ 20,290 ไร่ และนอกพื้นที่โครงการ 3,045 ไร่ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 15,698 ไร่ ทำให้ทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 52,624 บาทต่อครัวเรือนต่อปี กรมชลประทาน ยังต้องการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง มรดกโลกของไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าชุมชน และพร้อมพัฒนา ยกระดับการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เมื่อปริมาณน้ำมีอย่างเพียงพอ