พาณิชย์ถกแดนกิมจิ เล็งเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ดึงดูดลงทุนจากเกาหลีใต้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายอัน ชาง-ยอง อธิบดีกรมนโยบายเขตการค้าเสรี กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน ของเกาหลีใต้ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ระหว่างกัน หรือเรียกว่า การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) แบบสองฝ่าย ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีร่วมกันอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

โดยปัจจุบัน ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างศึกษาประโยชน์ และผลกระทบของการจัดทำ FTA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี และเร็วๆ นี้ จะเตรียมจัดรับฟังความเห็นสาธารณะและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อรวบรวมผลเสนอ รมว.พาณิชย์ และให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ขณะที่เกาหลีใต้ ได้ทำการศึกษาและหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เสร็จแล้ว รวมทั้งสนใจที่จะหารือความคาดหวังและความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจา FTA กับไทย โดยทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าที่จะทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอผลต่อระดับรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบการเปิดเจรจา FTA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดยเร็วต่อไป

นางอรมน กล่าวอีกว่า การจัดทำ FTA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ จะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่าย ต่อยอดจาก FTA ที่มีอยู่แล้วในกรอบอาเซียน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเฉพาะในสินค้าที่ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังไม่ได้ลดเลิกภาษีศุลกากรให้ไทย เช่น เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารสัตว์ ผลไม้สดเมืองร้อน (มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) กากมันสำปะหลัง ซอสและของปรุงรส น้ำยางธรรมชาติ ยางล้อ และถุงมือยาง เป็นต้น ขณะเดียวกัน จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งช่วยเพิ่มความร่วมมือในเรื่องใหม่ๆ ระหว่างกัน เช่น การค้าดิจิทัล และห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น

ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.66) การค้าไทยและเกาหลีใต้มีมูลค่า 8,999.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปเกาหลีใต้ มูลค่า 3,725.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 5,274.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่วนสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์