วันที่ 28 ส.ค.66 พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. เปิดเผยว่า ทาง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ตอท. ประสานข้อมูลกับทาง สภ.บางแก้ว ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ หลังมีข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ น.ส.วิภาพร (ขอสงวนนามสกุล) ภรรยาผู้ก่อเหตุ และเป็นผู้เสียชีวิต ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ว่าถูกแอพเงินกู้นอกระบบในลักษณะแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน โดยเริ่มจากติดต่อขอกู้เงินหนึ่งแสนบาท แต่ถูกให้โอนยอดไปยังบัญชีปลายทาง เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าเปิดระบบ ตลอดจนค่าอื่นๆ จนกระทั่งมีการโอนเงินไปกว่าล้านบาท เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
พล.ต.ต.อำนาจ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ทางตำรวจ ได้พิสูจน์ทราบกลุ่มบัญชีม้า ที่ทางผู้เสียชีวิตได้โอนเงินไปให้ โดยจากนี้จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อหาเส้นทางการเงินทั้งหมดเพื่อที่จะสนับสนุนการคลี่คลายคดีให้กับตำรวจสภ.บางแก้ว และชุดทำงานของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.
พล.ต.ต.อำนาจ เผยว่า ในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA เรื่องของให้ข้อมูลระหว่างธนาคารนั้น ขณะนี้ตำรวจกำลังมีความร่วมมือกับสมาคมธนาคาร ไม่ว่าบัญชีม้าจะมีกี่บัญชีก็จะอายัดบัญชีตามลำดับไปเป็นทอดๆ แต่ระบบนี้ยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เพราะบางธนาคารระบบยังไม่มีความพร้อม การเชื่อมข้อมูลให้ไปในทิศทางเดียวกันจึงยังมีความติดขัดและทำได้ไม่เต็มที่
พล.ต.ต.อำนาจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้เสียหายเองก็สามารถติดต่อธนาคารเพื่อขออายัดบัญชีได้ทันที ภายในเวลา 72 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบแจ้งความจากตำรวจ หรือ หากธนาคารพบความผิดปกติในการโอนเงินก็สามารถอายัดบัญชีได้เช่นกัน โดยปกติผู้เสียหายสามารถอายัดบัญชีได้ 2 แบบ คือ อายัดบัญชีด้วยตัวเอง โดยการติดต่อธนาคารโดยตรง และสองแจ้งตำรวจ สอท.เพื่อตรวจสอบขอข้อมูลจากธนาคาร หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นบัญชีม้าจริง ก็จะทำเรื่องในการขออายัดบัญชีให้ได้
รายงานข่าวระบุว่า หากผู้เสียหายไปแจ้งธนาคารแล้ว ทางธนาคารไม่ดำเนินการอายัดบัญชีให้ ตาม พ.ร.ก.อาชญากรรมไซเบอร์ ไม่มีข้อกำหนดบทลงโทษต่อธนาคารโดยตรง แต่หาก ผู้เสียหายแจ้งอายัดบัญชีแล้วธนาคารไม่ทำตาม แต่มีเงินในบัญชีถูกโอนไปยังบัญชีอื่น ทางผู้เสียหายสามารถแจ้งความเอาผิดกับทางธนาคารได้เช่นเดียวกัน