'ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ' เผย 3 หน่วยร่วมตั้งศูนย์ปฏิบัติการดูแลความปลอดภัย พร้อมเปิดเกณฑ์เยี่ยม 'ทักษิณ' ครอบครัวเริ่มเยี่ยมได้ ตั้งแต่ 28 ส.ค.นี้ 2 ช่วงเวลา 11.00-13.00 / 17.00-20.00 แย้ม ราชทัณฑ์ได้ 10 รายชื่อจากทักษิณแล้ว 

จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ ได้ออกมายอมรับว่ามีการย้ายด่วน "นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี" ในช่วงกลางดึก ซึ่งอยู่ระหว่างการกักตัวภายในห้องพยาบาล หรือ แดน7 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้เกิดอาการแน่นหน้าอก นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ ตลอดจนประวัติการรักษาของผู้ป่วยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูกสันหลังเสื่อม โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคหัวใจ เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อมมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยตอนนี้นายทักษิณได้นอนนอนพักรักษาตัวเป็นคืนที่สอง ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า สำหรับการนอนพักรักษาตัวเป็นคืนที่ 2 ของอดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากราชทัณฑ์ได้ส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ ตั้งแต่กลางดึกวานนี้ ทำให้ข้อมูลในส่วนของทางการแพทย์ จะเป็นการกำกับรับผิดชอบของทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ ราชทัณฑ์มีบทบาทหลักคือการดูแลรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยให้ผู้ต้องขัง ราชทัณฑ์จะไม่ได้รับรายงานแนวทางกระบวนการรักษา เพราะถือเป็นเรื่องสิทธิของผู้ป่วย รวมถึงจะเป็นความรับผิดชอบของ รพ.ตำรวจ และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่จะทำงานประสานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เอกสารประวัติการรักษาต่างๆของอดีตนายกฯ ราชทัณฑ์ได้ส่งมอบให้กับ รพ.ตำรวจ ครบถ้วนแล้ว ส่วนจะมีการกักตัวเพื่อรักษาโรคต่อเนื่องหรือไม่ ก็เป็นดุลพินิจของทีมแพทย์ที่รับหน้าที่ในส่วนดังกล่าว

ส่วนการรับประทานอาหารของอดีตนายกฯ ในระหว่างการนอนพักรักษาตัวนั้น ผบ.เรือนจำฯ ระบุว่า เรื่องอาหารจะเป็นทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตำรวจและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รับผิดชอบดูแลร่วมกัน ซึ่งจะเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยสูงวัยและมีโภชนาการเหมาะสม ปลอดภัยต่อโรค นอกจากนี้ วานนี้ (23 ส.ค.) ราชทัณฑ์ได้มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตำรวจ พูดคุยในเชิงการปฎิบัติ การคัดกรองความปลอดภัย และเกณฑ์การเยี่ยม ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน พร้อมทั้งได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งได้จัดตั้งไว้ที่ รพ.ตำรวจ เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากในการปฎิบัติหน้าที่ทางโรงพยาบาลตำรวจก็มีระเบียบของหน่วยงานตัวเองไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของการเยี่ยมช่วงเช้าช่วงบ่ายและการปฏิบัติต่อคนป่วย ต่อญาติ เนื่องจากต้องเรียนแจ้งว่าในอาคาร ยังมีญาติของผู้ป่วยรายอื่นๆด้วย ดังนั้น ก็จะต้องทำงานร่วมกัน ไม่สามารถเอาระเบียบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมากางใช้เพียงอย่างเดียว ต้องบูรณาการทั้งสามหน่วยงาน

ผบ.เรือนจำฯ ระบุถึงเกณฑ์การเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ว่า ทาง รพ.ตำรวจ ค่อนข้างมีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาการเข้าเยี่ยม โดยในช่วง 5 วันแรกที่นายทักษิณอยู่ระหว่างการกักโรคโควิด-19 (ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.- 27 ส.ค.) จะไม่สามารถเปิดให้บุคคลใดเข้าเยี่ยมได้ ยกเว้นทนายความตามกฎหมาย ซึ่งจะมีบัตรทนายความ แต่จะเป็นการเยี่ยมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน และเมื่อพ้น 5 วันกักโรคดังกล่าวแล้ว จะเป็นญาติหรือบุคคลตาม 10 รายชื่อที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้ระบุแจ้งกับราชทัณฑ์ไว้ที่จะเข้าเยี่ยมได้ ซึ่งขณะนี้ราชทัณฑ์มีรายชื่อทั้งหมดเเล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นญาติและครอบครัว และราชทัณฑ์ต้องขอสงวนความเป็นส่วนตัวในการเปิดเผยรายชื่อผู้เข้าเยี่ยมคนไข้ และในการนี้จะไม่มีในส่วนของบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม โดยเบื้องต้นในที่ประชุมวานนี้ ได้มีการกำหนดให้มีการเยี่ยมได้ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 11.00 -13.00 น. ส่วนช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 17.00 -20.00 น. 

"ทางโรงพยาบาลตำรวจได้มอบหมายให้ราชทัณฑ์เป็นผู้จัดการรายชื่อ 10 บุคคลที่จะเข้าเยี่ยมนายทักษิณ โดยราชทัณฑ์ได้มีการให้ลงทะเบียนเพื่อขอทำการติดต่อเยี่ยม จากนั้นเราจะมีบัตรอนุญาตสำหรับผู้เข้าเยี่ยม (บัตรเพื่อการเฉพาะ) ซึ่งในส่วนนี้เป็นไปเพื่อขั้นตอนรักษาความปลอดภัยแก่นายทักษิณเอง และจะเป็นบัตรที่จะทำให้เจ้าหน้าที่โรงบาลตำรวจและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่เข้าใจได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการอนุญาตจากราชทัณฑ์และนายทักษิณให้เข้าเยี่ยมได้" นายนัสที ระบุ

ทั้งนี้ นายนัสที ยังยืนยันว่า นายทักษิณ ยังนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา (หอผู้ป่วยระดับสูง) โรงพยาบาลตำรวจ ยังไม่ได้มีแผนการจะโยกย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด.