วันนี้ (21 ส.ค.) ที่กรมสรรพากร นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เดินทางมายื่นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานต่อนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอให้ตรวจสอบการเสียภาษีอากรของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดอะ เดวิส บางกอก โฉนดที่ดินหมายเลข 1778,1779,3538 และ 3539 รวม 4 แปลงของบริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด โดยมีนายสุรยุทธ กอบกิจพานิชผล เลขานุการกรม กรมสรรพากร เป็นตัวแทนรับมอบ

นายสนธิ เปิดเผยว่า วันนี้เดินมายื่นหนังสือเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนมาว่า นายชูวิทย์ และครอบครัวมีการหลีกเลี่ยงภาษี จากการซื้อขายที่ดินให้กับตระกูลของตัวเองได้ตรวจพบหลักฐานการทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน และการชำระภาษีที่เกิดจากการซื้อขายที่ดิน ที่ผิดปกติและอาจมีการจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษี กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก ตามโฉนดที่ดินหมายเลขดังกล่าว ระหว่างบริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ผู้ขาย กับนายต้นตระกูล กมลวิศิษฎ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฎ์ นางสาวตระการตา กมลวิศิษฎ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฎ์ ผู้ขายกับ บริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้โฟร์ จำกัด หรือ บริษัท เดวิส 24 จำกัด ในปัจจุบัน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 23-27 ก.ย. 62

ทั้งนี้การซื้อขายที่ดินดังกล่าวมูลค่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นการโอน 2 ทอดในวันเดียวกัน แต่กลับซื้อขายในราคาต่างกันถึง 18 เท่าตัว โดยการโอนที่ดินทอดแรกจาก "บริษัทกงสี" ให้กับ "ทายาท" ในราคาต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งในวงการอสังหาฯ รู้ดีว่าเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อเลียงภาษีเงินได้ของบริษัทจำกัด ในที่นี้คือ บริษัทสมบัติเติมตระกูล จำกัด บริษัทกงสีของตระกูลกมลวิศิษฎ์ ซึ่งแนวปฏิบัตอของกรมสรรพากร ตามประมวลรัศฎากรมาตรา 65 ทวิ (4) เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล สาระสำคัญความว่า บริษัทจำกัดจะต้องโอนขายทรัพย์สินในราคาไม่ต่ำกว่าตลาด มิฉะนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ตามราคาตลาดในวันที่โอนได้ โดยตามข้อเท็จจริงถือว่า ราคา 2,009 พันล้านบาทเศษเป็นราคาตลาดในวันโอนทำให้ บริษัทสมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องถูกประเมินให้มีกำไรในทางภาษีราว 1,900 ล้านบาท หักจากราคาที่ขายให้กับลูกๆของนายชูวิทย์ ทั้ง 4 แปลงในราคาที่ดิน 111.4 ล้านบาทเศษ และต้องเสียภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถยึดราคาขายให้แก่ นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล นางสาวตระการตา และนายต่อตระกูล เพื่อชำระภาษีเพียง 11.4 ล้านบาท

ดังนั้นหากคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ บริษัทเติมตระกูลจำกัด ต้องชำระตามข้อเท็จจริง คือ ภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท รวมกับเบี้ยปรับ 1 เท่าตัว อีก 380 ล้านบาท เเละเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ตั้งแต่ มิ.ย. 63 ถึง ก.ค. 66 ประมาณ 205 ล้านบาท รวมภาษีที่ลูกทั้งสี่คนของนายชูวิทย์ ต้องจ่ายรวมประมาณ 965 ล้านบาท หักไป 11.4 ล้านบาทที่ได้ชำระไปแล้ว ทำให้รัฐเสียรายได้เข้าแผ่นดิน 954 ล้านบาท

จากพฤติกรรมดังกล่าวเห็นได้ว่า ลูกทั้งสี่คนรวมถึงนายชูวิทย์ อาจเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดทำนิติกรรมอำพราง เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 มาตรา 37 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จึงอยากให้กรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบการชำระภาษีของที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าว ทำนิติกรรมหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่