"ภูมิธรรม" แทงกั๊กชงตั้งคณะกรรมการ JTC เข้าครม.ทัน 29 พ.ย.หรือไม่ เมิน "สนธิ" เตรียมบุกทำเนียบฯ “สมคิด”ยันรัฐบาลพร้อมเปิดทำเนียบฯต้อนรับ”สนธิ”ยื่นหนังสือรัฐแจงMOU44  ด้าน”เรืองไกร”ร้องกกต.ตรวจสอบคำพูด”นายกฯ”ปม MOU 44 เข้าข่ายให้ต้องพ้นจากรัฐมนตรีกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย เพื่อตรวจราชการ และเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2567 ในระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.67 ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากวันเดียวกันนี้เป็นวันศุกร์ที่ 29 พ.ย. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมครม.สัญจรที่หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ช่วงเย็นนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเปิดงาน CHARMING Chiang Mai 2025 ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคหรือ JTC เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ว่า ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าจะตั้งแล้วเสร็จทันวันที่ 29 พ.ย.นี้ หรือไม่ ต้องรอดูว่ากระทรวงการต่างประเทศมีความพร้อมมากแค่ไหน ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกคณะกรรมการ โดยหัวใจหลักคือต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้และเก่งด้านกฎหมายทะเล ซึ่งอาจจะเป็นกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจเนื้อหาโดยกว้างมาก เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเราพยายามทำอย่างโปร่งใสมากที่สุด ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรยังไม่แน่ใจ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจมากนัก เพราะเราก็พยายามทำให้ความไม่ชัดเจนทั้งหมด เกิดความชัดเจนที่สุด อย่างไรเรื่องนี้ถูกควบคุมเป็นอย่างดี เนื่องจากมี MOU 44 ส่งผลให้การสรุปผลอะไรต่างๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนและต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ฝ่าย รวมไปถึงต้องยืนตามกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขนี้ หากไม่ผ่านก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี
“ส่วนตัวไม่อยากให้สัมภาษณ์ถึงกรณี MOU 44 อีกแล้ว จนกว่าการตั้งคณะกรรมการ JTC จะมีความคืบหน้า ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการนำเรื่องดังกล่าวมาทะเลาะเบาะแว้งกัน และโยงประเด็นไปมา ผมไม่อยากเถียงอะไรกับใคร มันไม่เกิดประโยชน์ อยากทำงานมากกว่า จึงอยากให้ทุกคนใจเย็น รอให้กระบวนการทุกอย่างจบสิ้น หากตั้งคณะกรรมการเสร็จ อยากจะเสนออะไรก็สามารถทำได้ ไม่ว่าผลการประชุมจะเป็นอย่างไร ก็จะมีเวทีสภาและเวทีประชาชนที่ต้องอนุมัติและทำความเข้าใจ ไม่อยากตอบอะไรที่เป็นการเถียงกันไปมา”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การตั้งคณะกรรมการจะแล้วเสร็จทันวันที่ 29 พ.ย.หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ แต่นายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้แล้วว่าจะนำเข้าที่ประชุมโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ และกรมสนธิสัญญา กำลังรวบรวมข้อมูล ส่วนตำแหน่งประธานเดิมเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แต่ท้ายที่สุดจะเป็นใครนั้น ก็ยังไม่ทราบ
    
เมื่อถามว่า แม้รัฐบาลจะไม่อยากพูดแต่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการและเจ้าของรายการสนธิทอล์ค พยายามนำประเด็นดังกล่าวมาปลุกระดม และจะมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ เวลา 10.30 น. นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็ให้พูดไป ไม่เป็นไรหรอก ตนบอกไปแล้วว่าเป็นประเด็นเดิมๆ ตราบใดที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เขาก็สามารถทำได้ และตนคงไม่ลงไปรับหนังสือด้วยตัวเอง เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ทราบประเด็นที่นายสนธิจะมายื่น เพราะไม่ได้ฟัง

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีวันที่ 2 ธ.ค. นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการและเจ้าของรายการสนธิทอล์ค จะเดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้ชี้แจง MOU ไทย - กัมพูชา 44 ว่า ได้รับการประสานมาเช่นนั้นว่าจะเข้ามาในวันเวลาดังกล่าว สำหรับรายละเอียดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเอ็มโอยู 44 นายสนธิยังไม่ได้บอก แต่เท่าที่ฟังตามข่าวก็เป็นเรื่องของพื้นที่เกาะกูด ซึ่งทางรัฐบาลยินดีที่จะรับเรื่อง และพร้อมรับฟังทุกความเห็นที่นายสนธิจะมายื่น เพราะตลอดเวลาที่ตนทำหน้าที่มา 1-2 ปี ก็ไม่ได้มีการเลือกว่าจะรับเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมอบหมายให้ใครรับเรื่องนั้น หากไม่ได้มอบใครเป็นพิเศษ ก็จะเป็นหน้าที่ของตน และคิดว่าไม่เป็นปัญหาว่าใครจะออกไปรับ ส่วนจะยื่นที่ไหนนั้นต้องดูจำนวนคนที่มายื่น ถ้าหากมาเยอะก็จะต้องเป็นที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล 
“การยื่นหนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องปกติธรรมดา และรัฐบาลยินดีรับฟังทุกเหตุผล แม้ว่าที่ผ่านมาในสนธิจะต่อว่ารัฐบาลและนายภูมิธรรมว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นหนึ่ง”
ส่วนกรณีที่นายสนธิออกมาระบุว่าจะมีการปลุกม็อบลงถนนอีกครั้ง นายสมคิด กล่าวว่า นายสนธิคงไม่ได้ขู่เพราะท่านพูดจริง แต่มองว่าเรื่องมวลชนและการลงถนนเป็นเรื่องปกติ และคิดว่าไม่ต้องเตรียมการอะไร เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รับฟัง ฉะนั้นหากฟังกันด้วยเหตุและผล ตนเชื่อว่าจะรับฟังกันได้ เพราะมนุษย์อยู่กันด้วยเหตุด้วยผลและการพูดคุย ทั้งนี้ตนไม่ห่วงเพราะคิดว่านายสนธิเป็นผู้ใหญ่พอ เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะเสียหายเหมือนในอดีต นายสมคิด กล่าวว่า ตนคิดว่าขณะนี้โลกและทุกอย่างเปลี่ยนแล้ว ซึ่งทุกคนก็มีเหตุผล ซึ่งคิดว่าไม่เป็นปัญหาอะไร
วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณี MOU 44 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธารมีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) มาตรา 160 (5) ประกอบมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 หรือไม่ โดย นายเรืองไกร กล่าวว่า ในหนังสือดังกล่าวได้ขอให้กกต. ตรวจสอบ อาทิ จากการเปิดเผยของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 44 เมื่อวันที่ 4 พ.ย.67 ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 6 จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบการกระทำดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 

ตรวจสอบผลการหารือพรรคร่วมรัฐบาล กรณี MOU 44 บันทึกข้อตกลงไทย - กัมพูชา เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย - กัมพูชา ว่ามีจริงตามที่น.ส.แพทองธารเปิดเผย หรือไม่ และตรวจสอบว่า MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถมีการยกเลิกได้ ใช่หรือไม่ หากจะยกเลิกต้องใช้ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ ใช่หรือไม่ หากไทยยกเลิกเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ใช่หรือไม่

ตรวจสอบว่ามีการพูดคุยทางทะเลในสัดส่วนที่มีการขีดเส้น จริงหรือไม่ ซึ่ง MOU มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน จริงหรือไม่ แต่เนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงจะมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ ใช่หรือไม่ ตรวจสอบว่า MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่มีการตกลงระหว่างสองประเทศ และเรื่องนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย จริงหรือไม่ ตรวจสอบว่า MOU 44 ทำขึ้นสมัยใด มีการนำเรื่องนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ หรือไม่ ตรวจสอบว่า หากไทยยกเลิก MOU 44 อาจโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน จริงหรือไม่ กัมพูชาจะใช้กฎหมายใดในการฟ้องร้อง

ตรวจสอบว่า MOU 44 เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ จริงหรือไม่ และไทยยังไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องของการตกลงเรื่องนี้ อย่างไร ตรวจสอบว่า มีพรรคร่วมรัฐบาลใดที่เห็นด้วยในการเดินหน้า MOU 44 ต่อในเรื่องนี้บ้าง มีการลงนามกันไว้หรือไม่ อย่างไร ตรวจสอบว่า เรื่อง MOU 44 ดังกล่าว อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ซึ่งบัญญัติว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้" หรือไม่

ตรวจสอบว่า รัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ จริงหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่รักษาไว้ซึ่งอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 หรือไม่
เนื่องจากมาตรฐานทางหมวด 1 จริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 6 กำหนดว่า “ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบของประชาชน”