ศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล สังกัดสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “ผู้ค้นพบผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากทรัพยากรราไทยที่เป็นสารต้นแบบในการพัฒนาเป็นยา”คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2566 รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 41 ภายในงานได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีและมอบโล่ให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัล โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และผู้ที่ได้รับรางวัลเข้าร่วมงานแถลงข่าว ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า การเปลี่ยนประเทศไทยจากการเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำของโลก จำเป็นต้องศึกษาแนวโน้มของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นๆเช่น จาก MIT Technology Review หรือ Breakthrough Technologies 2023 ที่กำลังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆอาทิ CRISPR ในการปรับแก้ไขยีนเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล,การใช้ AI วาดรูปจากคำสั่งสั้นๆ,การผลิตอวัยวะปลูกถ่ายขึ้นมาใช้ในมนุษย์ (Organs on Demand), การเข้าสู่ยุคของ Electric Vehicle (EV), การกักเก็บพลังงานในรูปแบตเตอรี่ และการใช้เทคโนโลยีหาลำดับเบสดีเอ็นเอของมนุษย์ยุคเก่าก่อน เป็นต้น โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์และการจดสิทธิบัตรนั้น ประเทศในแถบเอเชียโดยเฉพาะจีนกำลังเป็นผู้นำของโลก ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีสำหรับประเทศไทยในการที่จะได้เดินไปในทิศทางนั้นด้วย

สำหรับในประเทศไทยการที่จะยกระดับให้ก้าวไปสู่การพัฒนาในทิศทางดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชั้นแนวหน้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน และเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะช่วยปลดล็อกประเทศให้หลุดจากสภาวะ “กับดักรายได้ปานกลาง” และก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

โดยในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล สังกัดสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “ผู้ค้นพบผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากทรัพยากรราไทยที่เป็นสารต้นแบบในการพัฒนาเป็นยา” ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2566 รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล เป็นผู้มีผลงานวิจัยมากกว่า 179 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มากกว่า 105 เรื่อง เป็นผลงานวิจัยแบบสหสาขาวิชาการด้านเมทาบอไลท์จากราเอนโดไฟท์ ราทะเล และราดิน มีเป้าหมายเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็นโครงสร้างต้นแบบในการพัฒนาเป็นยา ทำให้ได้คลังผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและฤทธิ์ทางชีวภาพจำนวนมากกว่า 1,100 สาร และได้ค้นพบสารสำคัญที่เป็นสารต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าหรือเทียบเท่ายามาตรฐาน และไม่แสดงความพิษต่อเซลล์ปกติและเซลล์ทดสอบ อาทิ สารลดไขมันในเลือด สารยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืดและโรคท้องร่วง สารต้านแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลินและสารต้านมะเร็งเต้านม การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารต้นแบบ in vitro, ex vivo และ in vivo ที่พบว่าสารต้นแบบลดไขมันในเลือดและยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ สามารถพัฒนาเป็นยาใหม่ที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้ได้วิธีการสังเคราะห์สารต้นแบบเหล่านี้ในปริมาณมาก และกระบวนการเพาะเลี้ยงราแหล่งใหม่ที่ผลิตยาลดไขมันโลวาสแตตินที่ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ทางการค้า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการค้นหาโปรตีนเป้าหมายของสารต้นแบบลดไขมันในเลือด และยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ด้วยเทคนิคโปรตีโอมิกส์ จึงเป็นที่ยอมรับว่าศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำกลุ่มวิจัยแถวหน้าของประเทศด้านเมทาบอไลท์จากราและฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในการค้นหายาในประเทศไทย

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2566 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่

-รศ.ดร.ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัย “การพัฒนาระบบนำส่งยาแบบยึดติดเยื่อเมือกเพื่อการนำส่งยาแบบเฉพาะที่ และการพัฒนานวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์สำหรับการนำส่งยา”

-รศ.ดร.ศุภฤกษ์ ประเสริฐธรรม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัย “วิศวกรรมการเร่งปฏิกิริยาเชิงคำนวณเพื่อการคัดกรองตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์และสนับสนุนการวิจัยของนักวิจัยใหม่ในภาคการศึกษาขั้นสูงและอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก”

-รศ.ดร.ชินธันย์ อารีประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัย “การแปรรูปชีวมวลและของเสียประเภทต่างๆให้เป็นพลังงานหรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม”