สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดยนางสาวจุลลดา มีจุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เดินสายชี้แจงแนวทางการให้คุณวุฒิวิชาชีพสำหรับผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ใน 20 อาชีพ 3 สมรรถนะ ที่ได้มีการเทียบเคียงมาตรฐานและให้การรับรองไปแล้วก่อนหน้านี้ โดย สคช. ได้เดินสายร่วมกับผู้บริหารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อชี้แจงแนวทางการให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ แก่ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และปิดท้ายที่ภาคเหนือ เพื่อร่วมกันยกระดับคุณวุฒิวิชาชีพให้กับกำลังแรงงานของประเทศ
นางสาวจุลลดา ระบุว่า การทำงานร่วมกันของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน อยู่ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือการเพิ่มศักยภาพการทำงานและทำให้เกิดการยอมรับในคุณภาพการทำงานของกำลังแรงงานในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การจ้างงาน การให้บริการที่ดี สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมที่มีคุณภาพ การได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเทียบได้กับคุณวุฒิทางการศึกษาในระดับต่างๆตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะเป็นการช่วยยกระดับกำลังแรงงานไทยให้มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น เพิ่มโอกาสในการได้งานทำ เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง รับค่าตอบแทนพิเศษ พร้อมมีช่องทางในการฝึกอบรม พัฒนาตัวเอง ให้มีศักยภาพในการทำงาน และสร้างโอกาสการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ รองรับกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป
ด้านผู้บริหารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบุว่า การลงพื้นที่ 4 ภาค ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างการรับรู้กระบวนการให้คุณวุฒิวิชาชีพ แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ให้มีความเข้าใจและสามารถดำเนินงานไปในแนวทางเดียวกันเท่านั้น แต่จะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้กำลังแรงงาน ได้เห็นถึงคุณค่าของการมีคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพได้ นอกจากกำลังแรงงานใน 20 อาชีพนำร่องแล้ว จะนำไปสู่การขยายผลแนวทางการพัฒนาดังกล่าว ไปสู่อาชีพอื่นๆ เพื่อเป็นการยืนยันว่า แรงงานเหล่านั้นสามารถทำงานได้ตามมาตรฐานที่สอดรับกับมาตรฐานสากล
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้มีกระบวนการและประกาศข้อบังคับในการยอมรับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้คุณวุฒิวิชาชีพ นำร่อง 20 อาชีพ ประกอบด้วย อาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเชื่อมแม็ก ช่างเชื่อมทิก ช่างบำรุงรักษารถยนต์ ช่างซ่อมรถยนต์ ผู้ประกอบอาหารไทย พนักงานนวดไทย ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ช่างก่ออิฐ ช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร พนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ (ประมวลผลคำ) พนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ (ตารางทำการ) พนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ (การนำเสนอผลงาน) ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ CAD ช่างซ่อมไมโครคอมพิวเตอร์ ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ ช่างเครื่องประดับ (ประดับอัญมณี) ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) และช่างติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์