วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องขอเร่งรัดแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาไต่สวน สอบสวน เอาผิดเจ้าหน้าที่ กทม.ทั้งหมดที่มีส่วนในการออกใบรับแจ้งหรือหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้วว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร และนางรัชฎา คชานุบาล หัวหน้ากลุ่มงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับเรื่อง

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับการอนุญาตก่อสร้างอาคารคอนโดแอชตัน อโศกมีถึง 4 ฉบับตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 เมื่อศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องมีผู้รับผิดชอบต่อการกระทำหรือการใช้อำนาจดังกล่าว จะปล่อยให้เลยตามเลยหรือนิ่งเฉยต่อกรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะจะเกิดผลเสียต่อการบริหารราชการของกรุงเทพมหานครในอนาคต

            

ดังนั้น สมาคมฯจึงต้องมาร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ กทม.เพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 มาตรา 49(3) โดยมีข้อร้องเรียน 5 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้ท่านใช้อำนาจตามมาตรา 49(3) ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2428  แต่งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลายซึ่งควรประกอบด้วยบุคลากรภายในและภายนอกกรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ ขึ้นมาหนึ่งชุด ตามที่ท่านเห็นสมควร เพื่อพิจารณาไต่สวน สอบสวน และลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครทั้งหมดที่ออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้างฯ ทั้ง 4 ฉบับให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟเอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ผู้ร้องสอดเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคาร โครงการแอชตัน อโศก ซอยสุขุมวิท 21 เขตวัฒนา โดยต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติราชการดังกล่าวที่ชัดเจนภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

2.ขอให้ออกคำสั่งใด ๆ เพื่อบังคับหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่อส.188/2566 ลงวันที่ 19 ก.ค.66 โดยเคร่งครัด 3.กรณีที่เกิดขึ้นขอให้สั่งการให้หน่วยงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกหนังสือแจ้งให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัดเร่งดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง โดยต้องกำหนดระยะเวลาที่ให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติที่ชัดเจน ตามมาตรา41 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยเร็ว และหลังจากนั้นขอให้ออกคำสั่งห้ามมิให้บุดคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดของอาคารพิพาท หรือบริเวณอาคารพิพาทดังกล่าว และจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ บริเวณอาคารพิพาทดังกล่าว ตามมาตรา 40(2) ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยเร็ว

 

4.หากบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ไม่สามารถแสวงหาที่ดินของเอกชนเพื่อนำมาใช้เป็นทางเข้า-ออกอาคารพิพาทได้ตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ขอให้สั่งการให้มีการบังคับใช้มาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยทันที และสั่งให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารพิพาท ผู้ควบคุมงาน หรือดำเนินการ ทำการรื้อถอนอาคารพิพาทในส่วนที่ผิดกฎหมายออกไปเสียทั้งหมด ภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการขอให้กทม.ดำเนินการรื้อถอนเสียเอง โดยค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมดให้เรียกเก็บไปยังบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารพิพาท ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการ ตามครรลองของกฎหมายต่อไป

 

5.ขอคัดค้านข้อเสนอของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ที่เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทดังกล่าว ผ่านสำนักการโยธา (สนย.) ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย(มท.) ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะถือได้ว่าเป็นการยืมมือภาครัฐในการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเอกชนโดยตรง เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำ แต่ถ้าไม่เชื่อฟังกันอาจต้องนำความไปร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงานป.ป.ช.) หรือศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป