จากกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก โครงการคอนโดมิเนียมหรูเรือธงจาก บ.อนันดา อีเวลลอปเมนต์ ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้าน อันเนื่องมาจากข้อพิพาท ใช้ทางออกที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้า-ออก รถไฟใต้ดิน MRT สุขุมวิท มาเป็นทางเข้า-ออก หลักของโครงการ ทำให้ตึกดังกล่าวไม่มีตัวตน กลายเป็นสูญญากาศ เป็นปัญหาตามมาทันที ลูกบ้านที่ซื้อห้องชุดไปแล้วจะทำอย่างไร  

รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 2 ส.ค. 66 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ พรชัย ตัวแทนลูกบ้าน , โกศลวัฒน์ อินทุจันทรยง รองโฆษกอัยการสูงสุด, ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย , กุลชลิกา กรรมการนิติบุคคลอาคารชุดนี้, พิสุทธิ์ ทนายความ พร้อมลูกบ้านอีกหลายรายที่มาร่วมรายการ

คุยกับลูกบ้านก่อน คุณพรชัยเป็นตัวแทนลูกบ้าน ตอนนี้ปัญหาของลูกบ้านคืออะไร?

พรชัย : ปัญหาตอนนี้ก็คือว่าหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา วันที่ 27 เราก็ได้เข้าประชุมซูมเจ้าของโครงการ ร่วมกับคณะนิติบุคคล ทุกท่านเข้ามาประมาณ 300 กว่าท่าน ในที่ประชุมยังไม่มีทิศทางให้เรา ยังไม่สามารถบอกได้ว่าทำอะไร เพียงพูดว่าขอเวลาอีก 14 วัน ทางทีมเจ้าของโครงการ กำลังหาทางแก้ไขให้เราอยู่ ผมเองก็ถามนะ

คุณซื้อห้องราคาเท่าไหร่?

พรชัย : 7.5 ล้าน เป็นห้อง 34 ตารางเมตร

มีคนซื้อ 11 ล้านกว่าก็มี 46.5 ตารางเมตร แบงก์ว่าไงตอนนี้?

พรชัย : ยังไม่ได้ไปติดต่อ เพราะว่าเราเองยังไม่มีเวลา เราเองวุ่นวายกับเจ้าของโครงการก่อน อยากทราบว่าเจ้าของโครงการจะรับผิดชอบยังไง เพราะตอนนี้ตึกนี้เหมือนตึกเถื่อน ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้าง เราเองพอทราบอยู่แล้วว่าถ้าไปที่แบงก์ มันเท่ากับไม่มีมูลค่าอะไรอยู่แล้ว อยากทราบทิศทางก่อนไปคุยกับแบงก์ ว่าเจ้าของโครงการทำทางเข้าออกอื่นมั้ย จะทำยังไงให้ถูกกฎหมายก่อน อันนี้เป็นข้อกังวลของลูกบ้านทุกคน

แอชตัน หรืออนันดาฯ ได้ยื่นมือมาบอกเราหรือยังว่าต้องทำยังไงต่อไป?

พรชัย : ยังครับ ตอนนี้ในกลุ่มแชตไลน์ ลูกบ้านก็มีความตื่นตระหนก หวาดกลัว ซึมเศร้า บางคนเหมือนสิ้นหวัง ไม่รู้จะทำยังไง ก็คุยกันเอง บางคนบอกจะไปฟ้องศาลปกครองใหม่ ฟ้องได้มั้ย บางคนบอกจะตั้งทนายฟ้องฉ้อโกงต่างๆ นานา ไม่มีทิศทางอะไรทั้งนั้น วุ่นวายมากครับตอนนี้

ฝั่งคุณชลิกา คุณเองเป็นนิติ?

กุลชลิกา : เป็นลูกบ้านเหมือนกัน แต่ว่าเป็นกรรมการค่ะ ปัญหาคือตั้งแต่วันที่ตัดสิน จนถึงวันนี้ เราได้มีการคุยกับอนันดา พร้อมลูกบ้าน เมื่อสองปีก่อน ตอนที่มีการประกาศศาลชั้นต้นมาครั้งนึง ที่เคยซูมพร้อมลูกบ้าน แต่เป็นตัวแทนในการคุยอนันดา ว่าให้ช่วยหาทางให้เราที เพราะเราเพิ่งทราบว่ามีคดีและรายละเอียดคดีเป็นอย่างนี้ เราตกใจ เพราะเราเพิ่งเห็นจากสื่อ จนวันนี้สองปีเต็มเดือนก.ค. ประกาศอีกรอบนึง ซูมอีกรอบนึง แต่ครั้งนี้เราไม่ได้เป็นคนคุย ลูกบ้านช่วยกันคุย คำตอบของอนันดาก็เหมือนเดิม ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนศาลสูงสุด

เขาตอบว่า?

กุลชนิกา : ยังไม่ได้คิดแผนว่าจะเอายังไงต่อไปค่ะ

มุมทนาย?

พิสุทธ์ : สำนักงานผมได้รับการติดต่อภายหลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีที่คุณศรีสุวรรณฟ้อง ซึ่งลูกบ้านไม่มีใครทราบเลย เราก็ไม่สามารถร้องสอดไปเป็นคู่ความร่วมได้ เพราะพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด พยายามช่วยเหลือลูกบ้านโดยการเรียกร้อง อย่างน้อยทำให้ลูกบ้านอุ่นใจก็ยังดี  เรียกร้องให้เขาทำทั้งหมดสองสามทาง หนึ่งให้สวิตซ์เปลี่ยนแปลงกับโครงการอื่นมั้ย ให้คืนมั้ย

หมายถึงให้คนซื้ออาคารแห่งนี้ สวิตซ์ไปเป็นอาคารอื่นของทางอนันดา?

พิสุทธิ์ : ใช่ครับ แล้วสิ่งที่ลูกบ้านอยากได้จริงๆ คือความมั่นใจ ทำบันทึกข้อตกลงเท่านั้นเอง ว่าเจ้าของโครงการจะรับผิดชอบค่าเสียหายกรณีถูกเพิกถอนใบอนุญาตอาคาร เราเรียกร้องตรงนี้มาสองปีกว่า คำตอบคือคิดดูก่อน ไม่ทำ เราขอมาสองปีกว่านะครับ จากนั้นมาก็มีการเริ่มตั้งทีมกฎหมาย เราทำงานร่วมกับลูกบ้านทั้งหมด 500 กว่าห้องชุด เราเข้าไปร้องสอดในคดีที่สยามสมาคมฟ้อง ซึ่งศาลก็เห็นว่าได้นำทฤษฎีสัดส่วนมาใช้ ท่านก็อนุญาตให้ไปทำการแก้ไข ซึ่งเป็นผลดี ถึงแม้ตอนนั้นยื่นช้า ยื่นพ้นกำหนดในระยะเวลาที่สิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลปกครองกลางท่านก็อนุญาตให้เราเป็นคู่ความร่วมในคดีนั้น แต่คดีนี้เราเข้าไปไม่ทันจริงๆ ตอนนี้เรากำลังหาทางอยู่ว่าจะทำยังไง ให้แก้ไขปัญหาของลูกบ้าน ได้มีผลไปในทางที่ลูกบ้านน่าพึงพอใจมากที่สุด

ตอนซื้อใหม่ๆ เราทราบมั้ยว่ามันไม่มีทางออก เขาแจ้งกับเรามั้ย ว่าเขาไปเช่าทางรฟม. มา เรารู้มั้ย?

พรชัย : ตอนนั้นในสัญญาเขียนว่าที่ทางเข้าออก สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีระบุในสัญญาว่ามี แต่เราไม่ได้คิดว่าเป็นนัยยะสำคัญ นัยยะสำคัญเขาไม่บอกเราก่อนเราโอน ว่าอาคารนี้ติดคดีความ นั่นเป็นนัยยะที่สำคัญมากนะครับ คดีความฟ้องปี 59 คดีที่หนึ่ง และปี 60 ฟ้องปีที่ 2 เราโอนปี 61 เขาต้องมีหนังสือมาบอกว่าติดคดีความ ถ้าพี่หนุ่มทราบว่าตึกนี้ติดคดีความ ผมไม่ซื้อนะ ผมไม่แลกหรอก ผมไปขอเงินคืนแล้ว

คุณทราบมั้ย?

กุลชนิกา : ไม่ทราบค่ะ ซื้อตอนปี 60 ค่ะ ตึกเริ่มขึ้นปี 52

พรชัย : ได้รับการอนุญาตใช้ที่ดินปี 57 ผู้ขายยื่นขออนุญาตสร้างอาคารปี 58 ปี 59 ถูกฟ้องร้องคดีที่ 1 ฟ้องโดยชาวบ้าน พี่ศรีไปฟ้องคดีที่หนึ่ง และปี 60 ฟ้องโดยสยามสมาคม

ปี 61 ยกคำขอ เหมือนคุ้มครองชั่วคราว แล้วปี 61 กทม.ออกใบรับรองการก่อสร้างให้ด้วย เพราะเขาอนุญาต เดือนต.ค.ปี 60 ผู้ฟ้องไปยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว?

พรชัย : ครับและถูกยกฟ้อง

วันนี้ข้างหน้า เราต้องการให้อนันดาชดใช้เรา ถูกมั้ย?

พรชัย : เราต้องการทำให้ทางเข้าออกถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตกลับมาเหมือนเดิม

ทำยังไง?

พรชัย : ไปซื้อทางเข้าออกใหม่

ข้างหลังเขาบอกไม่ขาย?

พรชัย : ยังมีอีกสองทางครับ คือทางเข้าออกปัจจุบันซึ่งมันผิด ข้างนี้ของรฟม. อีกข้างเป็นทางจำเป็น ตรงนี้ศาลบอกว่าผิด แต่มีอีกทาง สมาคมซิก อีกทางสยามสมาคม ถ้าไม่ทะเลาะกับเขา เขายอมขายให้ก็ง่ายเลย แต่อันนี้คือคดีที่สอง ที่ไปทำหินหล่นใส่บ้านทรงไทยเขา ใส่รั้วเขา แล้วไม่ไปซ่อม

ตอนนี้ขอแบ่งที่เขาก็ไม่ขายแล้ว?

พรชัย : เขาก็พยายามอยู่ครับ อยากขอเจรจา ตรงนี้เป็นอีกทาง

เช่าได้มั้ย?

พรชัย : ศาลมองว่าอนาคตเกิดเขาไม่ให้เช่า ในคำพิพากษาศาลใช้คำว่ามันต้องมี ตราบใดที่ยังดำรงอยู่ ต้องมีเป็นของตัวเอง เช่าไม่ได้

พิสุทธิ์ : ไม่ใช่ครับ หมายถึงให้ใช้ได้ตลอดระยะเวลาที่อาคารตั้งอยู่ เช่าก็ได้ ต้องเช่าตราบเท่าที่อาคารตั้งอยู่ ต้องให้เช่าระยะยาว ไม่มีกำหนดเวลา

ซึ่งใครจะมาให้เช่าอย่างนั้น?

พรชัย : รฟม. เป็นข้าราชการ เขาให้เช่าอย่างนั้นไม่ได้อยู่แล้ว 30+30 ไปอีกทีละ 30 ปี ศาลกลัวว่าถ้าเกิดจะใช้ที่ก็ไม่มี นี่ก็เป็นประเด็นที่แพ้คดีความไป

ลูกบ้านหลากหลายความคิดเห็น อาจไม่ได้เหมือนคุณพรชัย บางคนอยากขอไปเอาคอนโดที่อนันดาสร้างตรงอื่นได้มั้ย เขาก็ไม่ให้?

กุลชนิกา : เขาไม่ยอมเซ็นเอกสารที่เราไปยื่นให้เขาเลย

เหมือนตอนนี้ลูกบ้านเป็นตัวประกัน?

กุลชนิกา : ใช่ค่ะ เราเป็นตัวประกันมานานแล้ว และเราก็เข้าใจว่าศาลปกครองจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีที่รัฐรังแกประชาชน หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน ตอนนี้คุณศรีสุวรรณฟ้องราชการ 5 หน่วยงาน อนันดาคือผู้ร้องสอด ผลสรุปคือ 5 หน่วยงานผิดด้วยขั้นตอนในการขอยื่นต่างๆ แต่คนที่ถูกลงโทษในตอนนี้คือลูกบ้าน วันที่ศาลตัดสินออกมา เพื่อนขับรถอยุ่ เราอ่านข้อความคุณศรีสุวรณ เย่ แอชตันอโศก โดนเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เพื่อนเราร้องไห้เลย ลูกตัวเล็กๆ 7 ขวบนั่งอยู่ข้างๆ ถามว่าแม่เป็นอะไร (เสียงสั่นเครือ) อธิบายไม่ถูก มันซับซ้อนค่ะ จะบอกว่าเราอาจไม่มีบ้านก็ได้ อย่างนี้เหรอ

อยู่ดีๆ แม่กลายเป็นหนี้ หนี้ศูนย์ด้วย โดยไม่มีทรัพย์สินด้วย?

กุลชนิกา : ใช่ เราติดลบนะคะ ไม่ได้บวก การที่บอกว่าเดี๋ยวไปฟ้องเอา ในตึกเรา มูลค่า 6,800 ล้าน คนมองเราเป็นคอนโดหรู จริงๆ แต่ละห้องที่เราอยู่เล็กนิดเดียว ห้องเรา 30 ตารางเมตร เราเลือกอยู่ที่นี่เพราะเราอยากได้ทำเล มันใกล้ที่ทำงาน เดินทางสะดวกใกล้รถไฟฟ้า เราไม่ได้อยู่ห้องใหญ่โต เราคิดว่าเราซื้อความสะดวกสบาย เราอยู่ใกล้รถไฟฟ้าเพราะเราไม่ต้องเดินทางไกล มันก็ช่วยลดโลกร้อนได้ ถูกมั้ย

บางที่ 30 ตารางเมตรก็ขายกัน 3-4 ล้านแล้ว ดูตามเอกสาร เขาบอกว่าใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารยื่นคำขอรับอนุญาตน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถามคุณเก๋ อันนี้คืออะไร?

เก๋ เยาวลักษณ์ ทนาย : อันนั้นเป็นคำสั่งศาลปกครอง ระหว่างที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องคดี เนื่องจากคดีใช้เวลานาน เขาก็ไปยื่นคำขอให้ศาล มีคำสั่งให้อนันดาหยุดก่อสร้างระหว่างพิจารณาคดี เงื่อนไขทางกฎหมายระงับให้ก่อสร้างต้องประกอบด้วย 2 ประการ คือหนึ่งใบอนุญาตน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย สองมีเหตุผลสมควรสั่งให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน จะได้ทันท่วงทีในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ฟ้องคดี เหตุผลที่หนึ่งศาลว่าใช่ แต่ไม่ระงับการก่อสร้างเพราะขาดเงื่อนไขข้อที่สอง เนื่องจากตอนไปยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ทางอนันดาได้สร้างโครงสร้างไปถึงชั้น 50 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแล้ว ศาลก็เลยมองว่าเป็นจุดร้ายแรงที่สุดที่สั่นสะเทือนสร้างความเสียหายต่อคนรอบข้าง มันผ่านพ้นไปหมดแล้ว ก็เลยถึงจะสั่งให้หยุดการก่อสร้างตอนนี้ก็ไม่ได้ช่วยเหลือชุมชนรอบข้างที่เป็นผู้ฟ้องคดีในเวลานั้นได้แล้ว แต่ศาลมีบอกด้วยว่าการที่อนันดาจะเดินหน้าโครงการต่อไป หากภายหน้าถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องมีการรื้อถอนอาคาร เป็นเรื่องที่อนันดาต้องรับความเสี่ยงภัยที่จะต้องรับผิดต่อเจ้าของร่วมเอง

ต้องชดใช้ลูกบ้านใช่มั้ย มีระบุเอาไว้ในนั้นเลย?

เก๋ เยาวลักษณ์ : ใช่ค่ะ มีระบุเอาไว้สองครั้งในคดีนี้ เพราะถัดมาอีก ทางกทม. ก็ไม่ออกใบรับรองการก่อสร้างให้หลังสร้างเสร็จ ทางอนันดาก็เลยมาร้องต่อศาลอีกว่า ให้ศาลช่วยมีคำสั่งหน่อยว่าการฟ้องคดีไม่ได้เป็นการชะลอหรือยับยั้งการออกใบรับรองการก่อสร้างนะ เพราะพอมีคดีแบบนี้ ทางกทม.ไม่ออกใบรับรองให้เลย พอมีการฟ้องคดีนี้ กทม.ไม่ออกใบรับรองให้ ทำให้เขาหยุดชะงัก เขาก็เอาเป็นเหตุผลไปอ้างในศาลว่าถ้าไม่ออกใบรับรองการก่อสร้างให้ ลูกบ้านที่มาซื้อโครงการเขาจะเดือดร้อน ในศาลก็อ้างลูกบ้าน ถ้าเขาโอนไม่ได้ ลูกบ้านก็เดือดร้อน ศาลก็ให้เหตุผลว่าศาลไม่ได้มีหน้าที่ไปสั่งกทม.ให้เขาออกใบรับรองอ.6 นะ เพราะการออกหรือไม่ออกใบรับรองอ.6 ตรงนี้ มันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกทม. ในนามกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งคนอนุญาตเขาอาจต้องมีความรับผิด แต่ทางอนันดาต้องรับผิดชอบนะ จะทำอะไรก็ทำไป แต่ต้องรับผิดชอบ

ภาษาชาวบ้าน ศาลทิ้งไว้นิดนึง ต่อไปในอนาคตให้สร้างต่อได้สุดท้ายถ้าเกิดความเสียหายหรือเพิกถอนต่างๆ นานา คุณต้องรับผิดชอบลูกบ้าน แต่อนันดายังเพิกเฉยอยู่ เรื่องนี้ยังไงดี?

โกศลวัฒน์ :   เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนทั้งสองด้าน บทเรียนสำหรับบริษัทที่สร้างคอนโดขาย และบทเรียนประชาชนที่จะเป็นคนไปซื้อคอนโดว่ากรณีเรื่องนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขกันยังไง เมื่อวานเห็นข่าวท่านผู้ว่าฯ กทม. ออกมาบอกว่าถ้ามีปัญหาโครงการต้องออกมารับผิดชอบ วันที่ 3 หรือวันพรุ่งนี้ ทางผู้ว่าฯ จะแถลงข่าว ผมก็มองว่าอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ถ้าปัญหานี้เกิดจากกฎหมาย คือไปขอใบอนุญาตก่อสร้าง เราก็ควรต้องใช้กฎหมายแก้ปัญหา คือขอความชัดเจนที่กทม.ว่าเมื่อศาลปกครองสูงสุดท่านตัดสินแล้วว่าใบอนุญาตก่อสร้างไม่ถูกต้อง โครงการนี้ถ้าจะไปต่อให้ถูกต้อง จะมีการแก้ไขอย่างไร อย่างที่บอกว่าจะมีทางออกทางอื่นมั้ย ถ้าทางออกทางอื่นสามารถแก้ไขได้ ทุกคนก็คงมีความสุขอยู่กันต่อไป เพราะเราเข้าใจว่าบางคนซื้ออาคารชุด ทั้งชีวิตมีห้องเดียว ต้องผ่อนทั้งชีวิต ตรงนี้ควรหันมาแก้ด้วยกฎหมายก่อนว่าเกิดปัญหาแล้ว กฎหมายให้เราเดินต่อยังไง ไปเดินร่วมกัน ทั้งบริษัทและผู้ซื้ออยู่อาศัย แล้วฟังถ้อยคำข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้ชัดเจนแล้วไปเจรจา เพียงแต่ชั้นต้นเราอาจไม่ได้เอกสารทั้งหมด ถ้าท่านมาเราจะดูให้ว่าอะไรจะช่วยได้บ้าง จะยุติธรรมกับทุกฝ่ายครับ  

 อาจารย์โสภณเป็นผู้คร่ำหวอดอสังหาฯ ตอนนี้มูลค่าอสังหาฯ ตัวนี้เป็นยังไง?

ดร.โสภณ : ตอนนี้อาจประเมินไม่ได้แล้ว เนื่องจากมีปัญหานี้อยู่ แต่ตอนนี้สร้างไปถึงชั้น 50 แล้ว การฟ้องร้องมีข้อพิพาทน่าจะนานแล้ว ตอนนี้จะให้เขาเลือกสร้างก็กระไรอยู่ ถ้าเกิดมีการตัดสินภายในเวลาสั้นๆ คงไม่เสียหายขนาดนี้ แต่นี่ผ่านมาตั้งแต่ปี 60 ถึงปี 66 การแก้ไขปัญหาอย่างนี้ก็เป็นบทเรียนอย่างหนึ่ง เราควรมีความรวดเร็วกว่านี้

มีคอนโดแบบนี้อีกมั้ย?

ดร.โสภณ : เยอะเลยครับ

หมายถึงคอนโดที่ไปเช่าที่คนอื่นเพื่อเป็นทางออกเหรอ?

ดร.โสภณ : ครับ เช่นทางออกกรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่ โครงการจัดสรรอยู่ทางรถไฟทั้งหลาย เช่าที่ 30 ปีทั้งนั้น แต่บางแห่งไม่ต้องเช่าก็ได้ อย่างการประปาหรืออื่นๆ สามารถขอใช้ทางออกได้ กรณีนี้อาจต้องเจรจากับทางรฟม.ว่าทางออกที่มีอยู่แล้วก็ใช้ได้อยู่แล้ว จะไม่ต้องเช่า ถือว่าช่วยชาวบ้าน

แต่ข้อกฎหมายมันไม่ได้แบบนั้น?

โกศลวัฒน์ : ก็ต้องไปดูกฎหมายองค์กร ศาลปกครองเขาตัดสินว่าไม่มีสิทธิ์ให้เช่า ทีนี้รายละเอียดคงต้องเอาเอกสารมาดูว่าจะเป็นทางอื่นอย่างไร ต้องประชุมหารือกัน

กรณีแอชตัน จะกลายเป็นบรรทัดฐานมั้ย ที่อาจารย์บอกมีอีกเป็นสิบเลย ถ้าวันนึงมีคนไปยื่นบ้านว่าแอชตันโดนอย่างนี้แล้วไม่มีทางอก แอชตันโดนเพิกถอนแล้วคุณไปเช่าที่ไหน รฟม.เหมือนกันมั้ย เอาที่ไหนมา เพราะจริงๆ เขามีข้อกำหนดไม่ใช่เหรอว่าอาคารชุดต้องมีทางออกเป็นของตัวเอง แสดงว่าคอนโดเหล่านั้นอาจต้องปิดตัวเหมือนกันเหรอ?

ดร.โสภณ : ปิดครับ อย่างโรงแรมที่ซอยร่วมฤดีศาลสั่งมา 11 ปีแล้วว่าต้องรื้อ แต่ก็ยังอยู่

ชาวบ้านจะซื้อคอนโดต้องตัดสินใจยังไง จะรู้ได้ไงว่าเขาไม่ไปเช่าที่หลวง แล้วหลวงมาทำแบบนี้?

โกศลวัฒน์ :   ดูบทเรียนจากเรื่องนี้ ต่อไปนี้ถ้าซื้อคอนโดขอดูทางเข้าออกเขา ว่าเขาได้สิทธิ์อะไรมาตามกฎหมาย ขอตรวจเอกสาร ถ้าไม่มั่นใจถามผู้รู้กฎหมาย โทรไปถามอัยการคุ้มครองสิทธิ์ช่วยเหลือประชาชนก็ได้ หรือสายด่วน 1157 หรือรู้จักนักกฎหมายว่าอย่างนี้เสี่ยงอะไรมั้ย เรื่องนี้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ขอให้เป็นบทเรียนกับสังคม ที่จะซื้อคอนโด บทเรียนผู้ประกอบการถ้ามีข้อพิพาทขึ้นมา มันอาจแตกลูกหลานเป็นคดีใหญ่โตไปก็ได้ ซึ่งวันนั้นก็เป็นภาระแก่กระบวนการยุติธรรม และกระทบต่อความเชื่อมั่นในสังคมไทย ว่ากฎหมายเราต้องคุ้มครองทุกคนให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค สะเทือนเศรษฐกิจไปด้วยในเวลาเดียวกัน

เรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐานเหมือนกัน เพราะมีอีก 10 กว่าคอนโดที่ไปเช่าทางออก แล้วถ้ามีคนไปสะกิดนิดนึงว่าแอชตันยังโดนศาลปกครองสั่งเพิกถอนแล้วของคุณทำยังไง ถ้าปิดตัวกันหมดแล้วชาวบ้านที่ไปซื้อแล้ว บางคนผ่อนหมดแล้ว บางคนกู้หนี้ยืมสิน ต้องออกจากคอนโดนั้นหมดเลย เพราะเป็นคอนโดที่เป็นสุญญากาศ?

 พรชัย : แค่แนวถนนอโศกก็มีเป็นสิบแล้ว เพราะเขาเวนคืนยาวเลย

กุลชนิกา : ตามสัมภาษณ์ผู้ว่าฯ รฟม. คนก่อน ที่เขาอนุมัติให้แอชตัน เขาบอกว่าที่ใดมีการเปิดทาง ที่นั่นมีการก่อสร้าง แสดงว่าไม่ใช่แค่สิบค่ะ มีเป็นร้อย

โกศลวัฒน์ : คำพิพากษาปกครองในวันนี้ ก็คือบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้ว ในการขออนุญาตก่อสร้างต่อไป และเป็นบรรทัดฐานของประชาชนทุกคนที่คิดซื้อคอนโด ซื้อหมู่บ้านจัดสรร ที่ต้องมีทางเข้าออก ท่านต้องตรวจให้รอบคอบแล้ว

กลายเป็นประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องตรวจเอง ทั้งที่มันควรเป็นเรื่องของภาครัฐที่ตรวจสอบตั้งแต่แรกหรือเปล่า?

โกศลวัฒน์ : เรื่องการออกใบอนุญาต อย่างที่เห็น กทม. ได้ออกใบอนุญาต แต่ใบอนุญาตนั้นก็มีเงื่อนไขตามที่ท่านผู้ว่าฯ ได้บอก ประชาชนอาจไม่ได้เห็น ไม่ได้อ่าน

ดร.โสภณ : กรณีที่กทม.มีเงื่อนไข สร้าง 50 ชั้นแล้วค่อยมาฟ้องร้องอย่างนี้ จะบอกว่ากทม.ต้องรับผิดชอบ ให้ปัดความรับผิดชอบคงไม่ได้ เกิดศาลปกครองสั่งแบบนี้ กทม. สิ่งแวดล้อม อีก 5-6 หน่วยงานต้องรับผิดชอบ อาจไม่ได้หมายถึงอนันดา หรือชาวบ้าน คำพิพากษานี้อาจเป็นบรรทัดฐานยังไม่ได้นะครับ  

พิสุทธิ์ : ผมตั้งข้อสังเกต คำพิพากษานี้ของศาลปกครอง เป็นที่น่าสังเกตมาก ไม่ค่อยมีนะครับ ที่คำพิพากษาของศาลสูงสุดในประเทศนี้มีความเห็นแย้ง ไม่ใช่แค่ฝ่ายเดียวนะครับ มีสองฝ่าย ท่านตุลาการศาลปกครองสูงสุด 19 ท่าน มีเห็นเสียงข้างน้อยว่าสามารถแก้ไขได้ กับไปขอครม.ได้ อีกท่านบอกไม่ผิดเลย ให้ยกฟ้อง กรณีนี้น่าศึกษามาก เพราะไม่ค่อยมีเลย

โกศลวัฒน์ : คำว่าบรรทัดฐานผมหมายถึงเราต้องระมัดระวังไงครับ ถ้าทางเข้าออก ไม่ได้ซื้อไว้เป็นโฉนดของโครงการเอง ต้องไปใช้สิทธิ์เช่าหรืออะไรก็ตามที่ถูกรอนสิทธิ์ทีหลัง อันนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องช่วยกันระวัง อย่างน้อยเกิดปัญหาแล้ว ท่านฟ้องคดีได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่อยากให้ทุกคนไปนั่งฟ้องคดี

นี่ไม่ได้เกี่ยวรวยหรือจน เกี่ยวกับคอนโดที่อาจเป็นหลักแสน หลักล้านธรรมดา ไม่ใช่ 7 ล้านด้วยซ้ำ เพราะคอนโดไปขึ้นแต่ละที่ ต้องดูดีๆ ว่าทางเข้าทางออกถูกต้องมั้ย มีการไปเช่าที่ไหนหรือเปล่า เพราะมาตรฐานใหม่อาจเกิดขึ้นแล้ว เมื่อก่อนทุกคนอาจมองข้ามไป ว่าก็เช่าเหมือนกันหมดนั่นแหละ ก็อยู่กันได้ แต่ล่าสุดไม่ใช่แล้ว ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาตแล้วเพราะทางออกไม่มี เขามีกำหนดไว้ 12 เมตรที่ต้องมี แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคุณไม่มีของตัวเอง แล้วการสร้างอาคารชุด เขามีพรบ.เอาไว้เลย ว่าต้องมีถนนเป็นของตัวเอง 12 เมตร ถ้าจะเช่าต้องไม่มีกำหนดระยะเวลา นั่นหมายความว่าจนกว่าคอนโดแห่งนี้จะหายไป แต่ ณ  วันนี้ในมุมกลับกัน รฟม. เขาให้เช่า 30 ปี หมายถึงว่าแอชตันไม่ได้เป็นเจ้าของโดยบริบูรณ์ มันมีระยะเวลา สำคัญมาก จะซื้อที่ไหนต้องดูให้ดีๆ  ตอนนี้จะทำยังไง ลูกบ้านต้องการความชัดเจน เรื่องการดูแล การเยียวยา?

โกศลวัฒน์ : ที่ยกให้ดู ขอความชัดเจนจากกทม. ถ้าตอนนี้ใบอนุญาตมีปัญหาแล้ว เราจะแก้ไขให้ถูกกฎหมาย ขอแนวทางว่ากทม.จะทำอย่างไร อยากให้ผู้ซื้ออาคารตั้งผู้แทนเข้าไป ไปกับผู้ขาย เพื่อไปพบกทม. และหาทางแก้ไขปัญหาชั้นต้นว่าที่ถูกมีช่องทางไหนบ้าง เช่นซื้อทางออก หรือขอทางออกใคร ขอความเห็นใจ นี่คือแก้ด้วยกฎหมาย แก้ด้วยระเบียบ เมื่อใบอนุญาตก่อสร้างตอนนี้ศาลตัดสินแล้วว่าไม่ถูกต้อง แก้ไขด้วยกฎหมายคือกทม.เห็นว่าตามระเบียบตามกฎหมายควบคุมอาคารสามารถแก้ไขยังไงได้ ไปช่วยกันเดินตามนั้น ผู้แทนผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ประกอบการ ต้องจับมือกันแล้วนะครับเข้าไปดู จับมือหารือแก้ไข แต่ถ้าแก้ไม่ได้ เดินต่อก็ยุ่งแล้วนะครับ ผู้บริโภคถูกรอนสิทธิ์ ท่านก็เรียกร้องเอากลับจากบริษัทตามสัญญาซื้อขายที่ท่านทำมา ซึ่งตรงนี้จะเข้าสู่คดีผู้บริโภค ก็คงต้องมีการโต้แย้งสิทธิ์นำกันไปสู่ศาล นี่คือการแก้ปัญหาตามกฎหมาย ตามลำดับ ตามสเต็ป สุดท้ายกฎหมายจะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

อนันดายื่นขอใบอนุญาตกับกทม.ใหม่ได้มั้ย?

โกศลวัฒน์ : หาทางออกไงครับ ตามที่ผู้ว่าฯ ออกมาบอกแล้วว่ามันน่าจะมีทางออกมั้ย ถ้าเขาออกมาแล้วแสดงความรับผิดชอบโครงการนี้ว่าจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร ถ้าไปได้ คนซื้อจะได้หยุด ตอนนี้ผู้อยู่อาศัยใจหายหมดทุกคนแล้ว ว่าจะได้ไปต่อมั้ย ในชั้นต้นแก้ปัญหากันด้วยกฎหมาย ร่วมมือกันก่อน เอาผู้แทนฝ่ายผู้ซื้อไปช่วยรับฟังด้วยและมาถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้อง ทุกคนต้องออกมาจริงใจต่อกันและนำไปสู่การแก้ปัญหา มีช่องทางไหนแก้ได้ ถ้าแก้ได้ไปเจรจาขอร้อง ในประเทศไทยไม่มีอะไรเจรจาไม่ได้ เคยทำผิด ล่วงเกินใครเขาไว้ ก็ให้เห็นแก่ส่วนรวม เขากำลังประสบปัญหา ซึ่ง 500 คนเขาไม่ได้ทำผิด ไม่ได้มารู้ด้วยตอนก่อสร้าง แล้วมาร่วมชะตากรรมกัน ดังนั้นการเจรจาชั้นต้น ข้อพิพาทที่อัยการคุ้มครองผู้บริโภค เราเจรจาบนโต๊ะ ส่วนมากจบได้ ถ้าไม่ได้เรายินดีช่วยเจรจา ถ้ามีอะไรที่จะช่วยได้ เรายินดีลงไปช่วย ช่วยเจรจา ช่วยไกล่เกลี่ย ช่วยชี้แจง ท่านจะได้ตัดสินใจกันได้ถูก และได้รับความยุติธรรมทุกฝ่าย

ตอนนี้อยากให้เป็นยังไง?

พิสุทธิ์ : เราเตรียมการแล้วพรุ่งนี้ไปยื่นหนังสือท่านผู้ว่าฯ แล้ว หลังท่านแถลง ตอนนี้ที่เราอยากได้คือส่วนแรกคือความชัดเจน ไม่ใช่มายื่นแถลงการณ์ว่าจะไปฟ้องหน่วยงานราชการเพื่อเอาเงินมาเยียวยาลูกบ้าน หมายถึงปัดความรับผิดชอบต่อลูกบ้าน เพราะโยนความผิดให้หน่วยงานราชการ ซึ่งก็ไม่ถูกต้องต่อข้อเท็จจริง และอยากให้เขาแสดงความจริงใจ เราขอมานานแล้ว ขอแค่บันทึกข้อตกลงอันเดียว ว่าเขาจะรับผิดชอบกรณีอาคารถูกรื้อถอนหรือถอนใบอนุญาต เราขอมาสองปียังไม่ได้อะไรกลับมา ก็เล่นเกมแบบนี้มาเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เราไปคุยในชั้นกรรมาธิการ ชั้นผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็สิ้นสุดไปแล้ว ไม่มีการดำเนินต่อ เว้นว่างไป 8 เดือน

พรชัย : เรามีไปคณะกรรมการคุ้มครองทั้งหมด 3 ครั้ง วันประชุมซูมเราก็ชี้แจงว่าเราไปตั้งแต่ ก.ค. 65 ใบบันทึกมีเขียนว่าผู้แทนอนันดาบอกว่ามีแนวทางแล้ว แก้ไขเยียวยา แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร

ความเดือดร้อนลูกบ้านเป็นยังไงบ้าง?

ลูกบ้าน : ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้ รีไฟแนนซ์ไม่ได้ ซื้อขายไม่ได้ บางท่านได้ยินมาว่าไม่สามารถปล่อยเช่าได้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะยกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นครับ

คุณรุ่งล่ะ?

รุ่ง : คือการปล่อยเช่าคือปล่อยเช่ายาก เพราะเกิดเหตุแล้ว จะขายก็ขายไม่ได้ ก็รับภาระอย่างนี้ มีการกู้แบงก์ก็ติดขัดไปหมดทุกอย่าง

มองว่าผู้ประกอบการทางอนันดาก็ต้องเป็นข้อพิพาทกับกทม. แต่มุมกลับกันจะมาบอกว่าจะเอาเงินจากกทม.มาจ่ายลูกบ้าน แบบนี้ไม่ถูกต้อง จริงๆ อนันดาต้องรับผิดชอบดูแลลูกบ้านอีกส่วน?

โกศลวัฒน์ : พูดโต้แย้งสิทธิ์ให้จับคู่เป็นคู่ๆ แล้วว่าคดีเป็นคู่ๆ ตอนนี้เมื่อคนซื้อเดือดร้อน ต้องมองว่าอันดับแรกควรเยียวยาให้ผู้บริโภคในชั้นต้น

ดร.โสภณ : ก็ต้องเยียวยาไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช้ผู้บริโภคก่อนเสมอไป ต้องฟ้องร้องกันไปเป็นคู่ๆ ไม่ใช่ผู้บริโภคต้องได้รับก่อน ต้องว่ากันแบบแฟร์ๆ ทั้งสองฝ่าย