นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์เฟสบุ๊ค Chaturon Chaisang ระบุว่า...
รัฐไทยเอาเป็นเอาตายกับเด็กที่มาเรียนหนังสือกันรุนแรงกว่าที่ทำกับทุนสีเทาหลายเท่านัก
เด็ก 126 คนถูกส่งขึ้นรถบัสจากโรงเรียนใน จ.อ่างทองไปทิ้งไว้ที่ชายแดน จ.เชียงรายเพื่อส่งกลับไปเมียนมา ทั้งๆที่อยู่ระหว่างเปิดเทอม และไม่รู้เลยว่าเมื่อกลับไปแล้วจะไปเผชิญชะตากรรมอย่างไร จะได้เรียนหนังสือหรือไม่
เด็กบางคนเข้ามาเรียนเพราะพ่อแม่ต้องหนีภัยสงคราม เราปิดหูปิดตาและส่งเขากลับไปโดยที่ไม่รู้ชะตากรรมเพราะเราคิดว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย “รัฐไทยจะตอบคำถามของการกระทำนี้กับสังคมโลกอย่างไร”
เหตุการณ์นี้ยังทำให้เด็กที่อยู่ในประเทศไทยออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น ส่วนโรงเรียนเมื่อเด็กออกไปก็เหลือเด็กเพียง 9 คน และกำลังถูกปล่อยทิ้งร้าง รวมไปถึงอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาก็กำลังถูกดำเนินคดีนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และให้ที่พักพิงคนต่างด้าว
ผมคุยกับเด็กสองคนที่ยังรอว่าจะถูกดำเนินการอย่างไรต่อไป ทราบว่าเด็กเพิ่งเข้ามาเรียนม. 1 ที่โรงเรียนนี้ ส่วนก่อนหน้านี้ก็เรียนป.1-ป.6 ที่โรงเรียนในประเทศไทยนี้เอง ตอนนี้กลายเป็นอาจจะถูกส่งกลับประเทศเสียแล้ว
เรื่องนี้เองที่ทำให้ผมตัดสินใจเดินทางไปให้ปากคำที่ สภ.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ในฐานะพยานของคดี เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมเคยรับผิดชอบดูแลมา คือในสมัยที่ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรีได้ผลักดันทำให้เกิดมติคณะรัฐมนตรี 2 ฉบับ ได้แก่ 18 มกราคม 2548 และ 5 กรกฎาคม 2548 เจตนารมณ์ก็คือต้องการคุ้มครองเด็กทุกคนในประเทศไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใด เข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ มีเอกสารหรือไม่ ไม่รู้ว่าเป็นคนของประเทศไหน ไม่มีบัตรอะไรติดตัวเลยก็ตาม “แต่เด็กทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองทั้งนั้น โดยเฉพาะคุ้มครองสิทธิทางการศึกษา”
มติ ครม.นี้เป็นเรื่องต่อเนื่องจากมติสภาความมั่นคงแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่าทั้งหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานทางการศึกษาเข้าใจและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ มีการทำคู่มือเสริมมติครม.นี้ บัญญัติในกฎหมายระหว่างประเทศ อยู่ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ และยังเป็นพันธะกรณีที่ไทยทำร่วมกับนานาชาติ
แต่ที่น่าตกใจก็คือ ผ่านไปเกือบ 20 ปี เรื่องที่ควรจะทำให้พัฒนาทัดเทียมนานาอารยประเทศกลับเดินถอยหลัง หน่วยงานทางการศึกษาที่ควรจะปกป้องคุ้มครองให้เด็กได้เรียนกลับจ้องจับผิดครู และหน่วยงานความมั่นคงที่ควรจะเข้มงวดกับทุนจีนสีเทา กลับเข้มงวดกับเด็กแทน สะท้อนชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐขาดความเข้าใจอย่างมาก
มัวมองแต่ด้านความมั่นคงที่พยายามโยงไปถึงเรื่องการค้ามนุษย์ และกลัวเรื่องการสวมสิทธิให้ได้เป็นคนไทย ทั้งๆ ที่เป็นการเอาเด็ก “เข้ามาเรียน” โดยมีการบันทึกการเข้าเรียนไว้อย่างครบถ้วนในระบบของกระทรวงศึกษาธิการเอง หรือโยงไปเรื่องโรงเรียนมีนักเรียนน้อยลง จนต้องไปรับนักเรียนที่ไม่ใช่คนไทยมาเพิ่ม ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องที่ต้องแยกแก้ปัญหากันไป
และข้อมูลที่ผมได้รับคือครูไม่ได้เป็นคนนำเด็กเหล่านี้เข้าประเทศ ครูรับเด็กเข้าเรียนในขณะที่เด็กอยู่ในประเทศไทยแล้ว ครูจึงมีหน้าที่จัดการศึกษาให้เด็กที่ขอมาเรียนต้องได้เรียน แต่ไม่ได้มีหน้าที่มาคอยตรวจสอบว่าเด็กเหล่านั้นเข้าเมืองถูกต้องหรือไม่
เพราะถ้าปล่อยให้มีการเอาผิดดำเนินคดีกับครู สิ่งที่น่ากังวลคือการส่งสัญญาณที่ผิด เพราะจะทำให้เด็กที่ไม่ใช่เด็กไทยไม่กล้าเข้ามาเรียน หรือครูก็ไม่กล้ารับเด็กเหล่านี้เข้ามาเรียน รุนแรงกว่านั้นอาจมีการตรวจสอบเด็กเหล่านี้ที่อาจมีเป็นแสนคนในประเทศไทยขนานใหญ่ และเด็กที่มีสถานะเหมือนเด็ก 126 คนก็จะต้องถูกดำเนินการแบบเดียวกันหรือไม่
เราต้องกลับมามองว่าประเทศไทยมีทั้งเด็กที่เกิดในประเทศแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย หรือพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือหนีมาเพราะเดือดร้อนอันตราย โดยอาจจะข้ามมาโดยผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายก็ตาม ต้องถามว่าเด็กเหล่านี้เมื่ออยู่ในประเทศไทย จะดีกว่าหรือไม่ที่ให้การศึกษากับเขา ไม่ใช่อยู่เมืองไทยแต่ปล่อยให้เป็นเด็กไร้การศึกษาด้อยคุณภาพซึ่งจะส่งผลเป็นปัญหาสังคม ที่รัฐไทยเองก็ต้องตามมาแก้ทีหลังอยู่ดี
มีคำถามมากมายเกิดขึ้นตลอดที่ผมเข้ามาเป็นพยานให้กับคดีนี้ ทั้งคำถามว่าทำไมเด็กมาเรียนไกลไม่อยู่แค่โรงเรียนตามแนวชายแดน ทำไมประเทศไทยต้องเสียเงินเพื่อดูแลเด็กเหล่านี้ ทำไมโรงเรียนต้องเปิดให้เด็กเหล่านี้มาเรียน คำตอบมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่ติดตามพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติซึ่งอนาคตยิ่งมีเพิ่มขึ้น ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมสูงวัย หากเขาเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีความรู้ คุยกับนายจ้างคนไทยรู้เรื่องก็เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างแนวคิดจากหลากหลายประเทศทั่วโลกที่เผชิญปัญหาเดียวกัน เช่น ประเทศใน EU ที่จัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาทักษะของแรงงานและมนุษย์ธรรมต้องได้สัดส่วนกัน
แต่หลักง่ายๆที่ทั่วโลกยึดถือกันคือโลกนี้เขายอมรับว่าต้องให้เด็กได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้น ไม่ต้องไประแวงว่าเราจะเสียหายอะไร การใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นการลงทุนที่มีคุณค่าต่อสังคมมากที่สุด
จะยินยอมหรือส่งเสริมให้เด็กในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องนโยบายที่ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาตัดสินใจ แต่ถ้าเด็กอยู่ในประเทศแล้ว ฝ่ายจัดการศึกษาต้องให้เด็กได้รับการศึกษา ฝ่ายที่ดูแลเรื่องสิทธิเด็กก็ต้องคุ้มครองเด็ก