คนสนิทแย้ม "ทักษิณ"แลนดิ้ง เพื่อไทย"ประสาน8 พรรคร่วมฯ ประชุมก่อน 4 ส.ค.วันโหวตนายกฯ โพสต์ 6 คลิป รัวๆ ประวัติศาสตร์การเมือง วิบากกรรม "ทักษิณ"จากประเทศไทยไป 17 ปี ก่อนประกาศ 10 ส.ค.กลับบ้าน ตำรวจเตรียมแผนรับมือ"ทักษิณ" กลับไทย จับตาสถานการณ์ 3-4 ส.ค.เพื่อความชัดเจน ด้าน"ปธ.ญาติวีรชนฯ" หนุนตั้ง "รัฐบาลช่วยชาติ" สลายเสื้อสี ขณะที่นิด้าโพลระบุปชช.ส่วนใหญ่มองก้าวไกลพลาดตรงไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย
เมื่อวันที่ 30 ก.ค.66 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการนัดประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานแต่ละพรรคการเมือง เพื่อนัดประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ตามที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้แจ้งนัดประชุมในวันดังกล่าว ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าหรือกำหนดการชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 -3 ส.ค. เนื่องจากจะมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 3 ส.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 4 ส.ค.นี้
วันเดียวกัน เฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซฯ พรรคเพื่อไทย คลิปจำนวน 6 คลิป มีเนื้อหาตั้งแต่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2544-2549 จนถึงวันที่ 19 ก.ย.2549 ถูกทำรัฐประหาร โดย คมช. และถูกยุบพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา และต่อเนื่องมาในยุค นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในชื่อพรรคพลังประชาชน โดยในระหว่างนั้นนายทักษิณได้เดินทางกลับมาประเทศไทยช่วงหนึ่งในปี 2551 และออกไปต่างประเทศ ต่อมานายสมัครถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากคดี ชิมไปบ่นไป ไล่ไปจนถึงยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เกิดเหตุ นปช. ชุมนุมใหญ่ สลายการชุมนุม 99 ศพ ในปี 2552-2553 จนมาถึงรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง 1 เดียวของไทย น้องสาวนายทักษิณ จนมาถึงเหตุการณ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำม็อบ กปปส. ชุมนุมใหญ่ขับไล่ จากกรณีนิรโทษกรรมสุดซอย กระทั่งมาถึงการประกาศทำรัฐประหารในปี 2557 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมในปัจจุบัน
สำหรับการโพสต์คลิปวิดีโอดังกล่าว สอดคล้องกับการประกาศเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณที่ต้องไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาถึง 17 ปี ในวันที่ 10 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และบุตรสาวนายทักษิณได้ออกมาประกาศให้สาธารชนได้รับรู้ถึงการเดินทางกลับของคุณพ่อ
ขณะเดียวกัน ล่าสุด คนสนิทนายทักษิณได้มีการระบุเวลากลับด้วยว่า นายทักษิณจะเดินทางถึงไทยในเวลา 10.30 น. ของวันที่ 10 ส.ค.นี้ ด้วยเช่นกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณีข่าว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค.นั้น ล่าสุด มีรายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงการเตรียมแผนรองรับการกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับการยืนยันจากครอบครัวชินวัตรว่านายทักษิณจะยังคงเดินทางกลับไทยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 10 ส.ค. ถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 10.30 น. โดยยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตำรวจก็ได้มีการประชุมหารือ เพื่อประเมินสถานการณ์ และสรุปว่าต้องรอความชัดเจนของสถานการณ์ในวันที่ 3 และ 4 ส.ค.นี้ด้วยเช่นกัน เพราะวันที่ 3 ส.ค.จะมีการประชุมศาลรัฐธรรมนูญ และวันที่ 4 ประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 หากทุกอย่างดำเนินไปสู่ขั้นตอนปกติคือศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน และวันที่ 4ส.ค.ได้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และผลโหวตเป็นบวกกับพรรคเพื่อไทยก็มั่นใจว่านายทักษิณจะเดินทางกลับตามกำหนด
มีรายงานด้วยว่า ขณะนี้ฝ่ายตำรวจได้ประสานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วย เพื่อหาข่าวและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะการเดินทางกลับประเทศของอดีตนายกฯ ส่งผลทางการเมืองหลายด้าน ทั้งการรวมตัวกันของมวลชน ซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน รวมถึงทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า การที่ 17 ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่จ.สุโขทัย ถือเป็นการได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก เพราะมีหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำไปผลักดันในสภาฯ ต่อได้ รวมถึงนำเสนอเพื่อให้รัฐบาลใหม่นำไปพัฒนา ทั้งโครงการธนาคารน้ำ โครงการโคล้านตัว(ต้นแบบ) รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ตนและนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พาส.ส.ไปดูงาน คือการแสดงไลฟ์แอนซาวน์ การแสดง แสง สี เสียง ที่วัดสระศรี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่เป็นการแสดงแนวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจ.สุโขทัย ซึ่งชาวต่างชาตินิยมเดินทางมารับชม โดยงานก็จะมีอีกครั้งในวันที่ 12-13 ส.ค.นี้ นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมอีกจำนวนมาก ทั้งการใส่ชุดไทยถ่ายรูป รวมถึงสินค้าโอทอปให้จับจ่ายใช้สอย ซึ่งงานดังกล่าว สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุโขทัย เป็นผู้จัดงาน โดยสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลายล้านบาทต่อวัน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนยังได้พาคณะส.ส.ไปยังสนามกีฬาชนโคทุ่งทะเลหลวง เพื่อรับชมและได้อธิบายให้ทราบว่า การจัดกีฬาชนโค 1 เดือน สามารถจัดได้ 2 วัน แต่ก็จะมีประชาชนจากภาคใต้ ภาคเหนือ มารวมกันที่จ.สุโขทัย โดยถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจ เพราะโรงแรมในจังหวัด มีการจองห้องพักเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการสร้างเศรษฐกิจให้มีการจับจ่ายใช้สอยในจ.สุโขทัย ตนเลยพาส.ส.มาดูงานเพื่อให้รับทราบว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็มารถสร้างมูลค่าได้ และหวังว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นในหลายจังหวัดเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
"การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมได้รับฟังจากชาวบ้าน เพราะชาวสุโขทัย ชื่นชอบในแนวทางของพรรคเพื่อไทย และท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จึงได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ได้ส.ส.แลนสไลด์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำได้ โดยสิ่งที่ชาวสุโขทัยยังจดจำคือลงพื้นที่ ครม.สัญจรของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่สุโขทัย ท่านได้อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการสร้างแก้มลิงทะเลหลวงที่เป็นรูปหัวใจ ทางจังหวัดจึงมีพื้นที่เก็บน้ำเพิ่ม 32 ล้านลูกบาศเมตร ทำให้ผลิตน้ำประปาเลี้ยงประชาชนได้ถึง 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.คีรีมาศ อ.ศรีสำโรง อ.กงไกรลาศ อ.บ้านด่านลานหอย
นอกจากนี้ ทุกคนยังมั่นใจว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ เรื่องปากท้องและความเป็นอยู่จะดีขึ้นเหมือนในอดีต ที่ท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ เคยทำไว้" นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35 อดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ที่มีความยุ่งยากในขณะนี้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการญาติวีรชนฯได้คัดค้านและไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะนายมีชัยเขียนหมกเม็ดล็อกไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารคสช. ส่งผลจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2534 หรือฉบับรสช.ที่นายมีชัยเป็นประธานจนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา35 หลังการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดจึงได้คายพิษสงออกมา แม้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งรวมเสียงได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังต้องพึ่งเสียงส.ว.อีก อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วทุกฝ่ายก็ต้องจำยอมปฏิบัติตาม ซึ่งตามกติกาสากลหากพรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งไม่ได้ก็ต้องให้พรรคอันดับสอง หลายประเทศในยุโรป พรรคอันดับหนึ่งจัดไม่ได้ก็กลายไปเป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่ว่าพรรคอันดับหนึ่งต้องได้เป็นรัฐบาลเสมอไป และก็ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าเราอีก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเคารพกติกาไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็ไม่สงบสุข
การจัดตั้งรัฐบาลของไทยในขณะนี้ เมื่อพรรคอันดับหนึ่งคือก้าวไกลจัดตั้งไม่สำเร็จ พรรคอันดับสองคือเพื่อไทย ย่อมมีสิทธิและอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลโดยปราศจากเงื่อนไข หรือ เอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วม มิเช่นนั้นก็จะไม่สำเร็จอีก การเชิญพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาหารือก็ปรากฏเงื่อนไขใหม่ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องพิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะหากการเมืองยังแบ่ง2ขั้วเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นสูตรใด 8 พรรคร่วม หรือขั้วรัฐบาลเดิม เป็นรัฐบาล ก็จะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียประโยชน์ จะไม่ทำให้ประชาชนจากทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่ต้องจำยอมเพราะไม่มีทางเลือก ความขัดแย้งก็จะยังไม่ยุติ เพราะจะมีอีกฝ่ายต่อต้านอีก แล้วบ้านเมืองจะสงบได้อย่างไร
ดังนั้นการตั้งโจทย์สลับขั้วจึงไม่ถูกต้อง แต่ต้องสลายขั้ว ถึงเวลาต้องสลายเสื้อสี เพื่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากทุกฝ่าย แล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ให้อภัย อโหสิกรรมต่อกัน ตามที่ครอบครัวญาติวีรชนฯ ให้อโหสิกรรม พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์พฤษภา 35 ก็จะได้รัฐบาลช่วยชาติตามที่ญาติวีรชนฯคิดจนตกผลึกและได้เสนอมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งนี้ขอถามประชาชนด้วยว่ามีแนวไหนที่ดีกว่านี้เพื่อออกจากความขัดแย้งที่ประชาชนทุกฝ่ายเสียประโยชน์หมด เพราะถูกทำให้เลือกข้างตลอด จึงหมดเวลาเลือกข้างแล้ว
นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับรัฐบาลช่วยชาติมีแนวทางดังนี้ 1.ดึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากทุกพรรคการเมืองมาร่วมรัฐบาลโดยไม่ยึดโควตา รวมทั้งนโยบายที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติจากทุกพรรคมาใช้เป็นนโยบายรัฐบาล 2. ออกกฎหมายแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอไว้ ซึ่ง นพ.ระวี มาศฉมาดล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. ต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว 3.คดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ทรงเป็นพระราชอำนาจซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ ด้วยพระเมตตากรุณาของพ่อหลวงเป็นที่รู้กันประจักษ์โดยทั่วไป 4.ปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้างทุกด้าน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และวางรากฐานประเทศให้ก้าวหน้าทันสมัย 5. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ภายใน 2 ปี คืนอำนาจให้ประชาชน ด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐบาลชุดใหม่ต้องดำเนินการตาม 5 ข้อดังกล่าวทันที
ประธานญาติวีรชนฯ กล่าวถึงกรณีอดีตนายกฯทักษิณจะกลับประเทศไทย ว่า เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่จะกลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่เมื่อมีคดีติดตัวก็ต้องแสดงความเคารพต่อกฎหมายไทย ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในการปกครองประเทศ สำหรับการจะขอพระราชทานอภัยโทษเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนอยู่แล้ว แต่ขอย้ำว่าต้องเคารพกฎหมายไทย แสดงถึงความจงรักภักดีให้เป็นที่ประจักษ์ พระเมตตานี้ประชาชนธรรมดาก็ได้รับอย่างเสมอภาคกันอยู่แล้ว ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ แต่เนื่องจากสังคมไทยมีความขัดแย้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมาก จึงต้องมีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองก่อน
โดยรัฐบาลชุดใหม่ต้องออกกฎหมายยกเลิกคดีทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง รวมทั้งคดีของคนรุ่นใหม่หรือกลุ่ม 3 นิ้ว ที่ถูกคดีทางการเมืองจำนวนมากในปัจจุบันนี้ ตามร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขฯ เมื่อทุกฝ่ายพ้นจากทุกข์เข็ญ บรรยากาศของการเมืองก็เกิดความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ อดีตนายกฯทักษิณ จึงค่อยขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งท่านต้องรู้จักการให้และเสียสละก่อนแล้วจะได้รับการให้อภัย อโหสิจากทุกฝ่าย เพราะมีประชาขนกว่าครึ่งประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับท่าน ซึ่งจะเอาประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์และเห็นพ้องต้องกัน และขอเตือนว่าอย่ามีวาระซ่อนเร้น ด้วยการใช้เสียงประชาชนหรืออำนาจใดๆ ไปกดดันกระบวนการยุติธรรมเหมือนที่ผ่านมา เพราะจะเกิดความขัดแย้งและวิกฤตรอบใหม่ซ้ำอีก นายอดุลย์ กล่าว
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกล ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค.66 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อผิดพลาดของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
ทั้งนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.98 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมยกเลิกบางนโยบาย เพื่อให้ได้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 30.46 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ทั้งนั้น ร้อยละ 27.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลสู้เกมการเมืองในสภาไม่ได้ ร้อยละ 11.68 ระบุว่า พรรคก้าวไกลทำตัวปิดกั้นตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยมีพันธมิตรทางการเมือง ร้อยละ 10.23 ระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นจริงทางการเมืองแบบไทย ๆ ร้อยละ 9.54 ระบุว่า พรรคก้าวไกลประมาทในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ร้อยละ 7.94 ระบุว่าพรรคก้าวไกลสร้างศัตรูทางการเมืองไว้มากในช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 7.86 ระบุว่า ปัญหาจากพฤติกรรมของแฟนคลับ พรรคก้าวไกลทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนในรัฐสภา ร้อยละ 7.56 ระบุว่า พรรคก้าวไกลฟังแฟนคลับของตนเองมากเกินไป