ปลัดมหาดไทย ลงพื้นที่ศรีสะเกษ ขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม7ภาคีเครือข่าย  ตบท้ายชมทุเรียนภูเขาไฟอร่อยมาก


    เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายประสพโชค อยู่สำราญ นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวสิริมา วัฒโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนกรมในสังกัด ได้ไปที่สำนักสงฆ์บ้านชะบา ต.ตาโกน อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับเมตตาจาก พระมงคลวชิรากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระครูศรีมงคลปริยัติกิจ เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และพระเถรานุเถระ โดยมี นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นางมัลลิกา เกษกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทย นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต  นายนพ พงศ์ผลาดิสัย  นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ทั้ง3 ท่าน  นายธาตรี สิริรุ่งวนิช ปลัดจังหวัด นางสาวธัญสุตา นิยมชาติ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 22 อำเภอ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ  ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ  นายทิวา รุ้งแก้ว  นายชาญณรงค์  ผู้แทนหอการค้า  ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหาร อปท. และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับและรับฟัง


       สาระสำคัญในการประชุม นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์เป็นหลักชัยในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยได้รับเมตตาจาก เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม และ MOU ขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาราชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานอำนวยการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นหลักชัย ทั้งคณะสงฆ์และฝ่ายปกครอง มีเป้าหมายเดียวกันคือ “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน” ทั้งนี้ สิ่งที่ดีงามอันเกิดจากความเมตตาของคณะสงฆ์เหล่านี้จะบรรลุผลเป็นรูปธรรมสำเร็จเกิดแก่พี่น้องประชาชนได้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องเป็นผู้นำการบูรณาการทุกส่วนราชการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม เพื่อทำให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลงจนหมดไป ซึ่งคำว่า “การทำงานแบบองค์รวม” คือต้องบูรณาการงานของทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานมาทำ รวมทั้งต้องทำงานกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารสังคม ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การทำงานเป็นทีม” ทั้งทีมจังหวัด และทีมอำเภอ ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานหลักการจากการทรงงานโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ ร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งเราต้องบูรณาการทั้งงานและคน


“ที่สำคัญที่สุด” การทำงานแบบบูรณาการจะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับ “ผู้นำภาคราชการเป็นสำคัญ” คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอ ที่ต้องกระตือรือร้นในการเชิญชวนให้ทุกคนมาช่วยกันทำ ช่วยกันขับเคลื่อนงาน เพราะผู้ว่าฯ และนายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ในทุกพื้นที่อำเภอ ทุกพื้นที่จังหวัด ทุกอณูของชีวิตพี่น้องประชาชน จึงต้องดึงเอาความมุ่งมั่นตั้งใจ ดึงเอา Passion แผ่รังสีของการเป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดีที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกจากหัวใจของเราไปสู่ภาคีเครือข่าย ว่าในเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตราชการ เราจะทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับจังหวัดของเรา กับพื้นที่ของเรา ประเทศชาติของเรา เพื่อ Change for Good ให้เกิดขึ้น คือ พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน  ยกตัวอย่างการทำงานแบบบูรณาการ เช่น เมื่อกล่าวถึง โครงการพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ก็ต้องสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า ไม่ได้เกิดประโยชน์เพียงเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างเดียว เพราะยังช่วยเรื่องของสุขภาพพลานามัย เรื่องเศรษฐกิจ เพราะทำให้สามารถมีพืชผักไว้กินโดยไม่ต้องไปซื้อจากตลาดจากร้านค้า เงินที่เหลือในกระเป๋าก็จะถูกเอาออกไปน้อยลง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดความรักความสามัคคีในครัวเรือนและชุมชน เพราะในครอบครัวก็ได้มีการทำกิจกรรมด้วยกัน ในชุมชนเมื่อมีก็แบ่งปันดังพุทธศาสนสุภาษิต “ททมาโน ปิโย โหติ : ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก” อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม บำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ เช่นนี้จึงเรียกว่า “ทุกอย่างดีขึ้นโดยองค์รวม คือ ทำอย่างเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง” 


    นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ร่วมลงนามกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ เป้าหมายที่ 17 “Partnership” หรือหุ้นส่วนการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติได้น้อมนำแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการที่พัฒนาคนและสร้างคุณภาพชีวิตทั้งสิ้น สอดคล้องกับภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ มาสรุปเป็น UN SDGs จนกระทั่งสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Life Time Achievement Award) เป็นรางวัลเกียรติยศด้านการพัฒนาของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

ซึ่งในเรื่องของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา หรือ “การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน” หรือ “อารยเกษตร” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราโชบายและมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยได้พระราชทานแนวทางไว้อย่างชัดเจนว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ทุกส่วนราชการได้น้อมนำไปปฏิบัติ เพราะพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างเสริมให้พี่น้องประชาชนมีความสุข เพราะทุกวันนี้เรามีวิถีชีวิต วิถีการพัฒนาหลายเรื่องที่อาจจะยังทำให้เกิดผลที่ผิดพลาด พระองค์ท่านจึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ “แก้ไขในสิ่งผิด” เพื่อประชาชนมีความสุข และเมื่อประชาชนมีความสุข ก็จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง เฉกเช่นภาพวาดฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ที่ได้พระราชทานโครงการให้กับกรมราชทัณฑ์ได้ขับเคลื่อน ก็เป็นการแก้ไขในสิ่งผิด คือ ฝึกให้ผู้ต้องขังได้มีวิธีการในการใช้ชีวิตตามหลักพึ่งพาตนเองหลังพ้นโทษ และทำให้สังคมได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำใจ” ที่ต้องมีในสังคมเพื่อช่วยเหลือเอื้อเฟื้อค้ำจุนให้สังคมแข็งแรง ด้วยการทำให้เขามีโอกาสทำโคก หนอง นา สามารถพึ่งพาตนเองด้วยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

ตลอดจนพี่น้องประชาชน เช่นที่บ้านชะบา ตำบลตาโกนแห่งนี้ พื้นที่ท้องนา 2 ข้างทาง ยังไม่ได้รับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนตามหลักโคก หนอง นา ผู้นำของพื้นที่ ต้องร่วมกันทำพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน อาทิ ทำหัวคันนาทองคำ คือ ทำให้หัวคันนาเป็นแหล่งอาหารได้ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เป็นแหล่งป้องกันน้ำท่วมได้ ด้วยการสอนให้ชาวบ้านมองยาว ๆ ว่าทำอย่างไรให้ 365 วัน พื้นที่ท้องนาที่มีอยู่จะเป็นประโยชน์กับชีวิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะยั่งยืนได้ต้องมีน้ำ และปลูกพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก เช่น ชะอม มะกรูด หัวข่า เพื่อให้พืชเลี้ยงดิน ดินเลี้ยงพืช กลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดี อันจะยังผลให้สามารถใช้ชีวิตตามหลักการพึ่งพาตนเองให้เกิดผลดีอย่างยั่งยืน


     ในโอกาสนี้ทางจังหวัดศรีสะเกษได้จัดกิจกรรมการแสดงรำวงมหาดไทย การแสดงแบบผ้าไทย จัดนิทรรศการผ้าไทยใส่ให้สนุก ครอบครัวมหาดไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย และได้จัดให้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมปลูกต้นส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม และเป็นประธานเปิดป้ายศูนย์เรียนรู้ตามโครงการ MOU เกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และเยี่ยมชมศูนย์ฯ  และสิ่งที่สร้างกำลังใจให้แก่ชาวสวนทุเรียนคือได้รับคำชมว่าทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษอร่อยมาก