วันที่ 22 ก.ย. 65 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)​โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ... #ทำไมไทยไม่ร่วมศาลอาญาระหว่างประะเทศ #ความจริงที่ถูกการเมืองบิดเบือน #คนไทยควรรู้อย่าให้ใครหลอกลวง

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Criminal Court; ICC หรือ ICCt) เป็นศาลระหว่างประเทศซึ่งมีที่ทำการอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเขตอำนาจดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ 4 ฐาน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, อาชญากรรมสงคราม, และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ก่อตั้งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นส่วนเสริมของระบบยุติธรรมที่แต่ละประเทศมีอยู่ จึงมีเขตอำนาจเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น เช่น เมื่อศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแล้ว หรือเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือรัฐหนึ่ง ๆ เสนอคดีมาให้พิจารณา ศาลนี้เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 อันเป็นวันที่ธรรมนูญกรุงโรมเริ่มใช้บังคับ ธรรมนูญดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีซึ่งวางรากฐานและกำหนดการบริหารจัดการของศาล รัฐที่เข้าเป็นภาคีแห่งธรรมนูญจะนับเป็นรัฐสมาชิกของศาล ปัจจุบัน มีรัฐภาคี 122 รัฐ

สถานะปัจจุบัน ประเทศไทยลงนามธรรมนูญแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ไทยจึงถือว่า ยังไม่ได้เป็นภาคีกับ ICC ทำไมประเทศไทยไม่จำเป็นต้องให้สัตยาบันเข้าร่วมภาคีICC เหตุผลชัดเจนครับว่า ถ้าไทยเข้าร่วมICCแล้ว จะไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้นำหรือประมุขแห่งรัฐ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีอำนาจอันอาจเหนือรัฐธรรมนูญไทย ยังมีประเด็นเรื่องอธิปไตยทางศาล และความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรมไทยด้วยที่สำคัญประเทศไทยเองก็ไม่ได้มีเงื่อนไขจำเป็นต้องเข้าร่วมภาคีICC 

ด้วยเหตุประเทศไทยไม่เคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมอันเป็นการรุกรานที่จะนำไปสู่การเข้ามามีบทบาทและอำนาจพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือICC  ได้   

ตามที่นักการเมืองบางคนกล่าวอ้าง เช่นประเทศกัมพูชา ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้าพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนายพอลพต ผู้นำเขมรแดงและพวก ส่วนประเทศอื่นที่เข้าร่วมเพราะมีเหตุสงครามรุกรานในอดีต เช่นญี่ปุ่น หรือมีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ  อาชกรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในทวีปอาฟริกา เป็นต้น

คนไทยควรรู้ด้วยว่า ชาติมหาอำนาจของโลก3ชาติที่เป็นกรรมการคณะมนตรีความมั่นคงในสหประชาชาติ ถาวร คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน  ก็ไม่ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีICC  เช่นเดียวกับอินเดียประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ไม่ยอมให้สัตยาบันเข้าร่วมICC เช่นกัน 

สมชาย แสวงการ
สมาชิกวุฒิสภา
ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน
สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
22 กค 2566

หมายเหตุ ภาพประกอบเมื่อคราวที่ไปประชุมที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือICC เมื่อ2556