วันที่ 21 ก.ค. 66 เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ทำการพรรคเพื่อไทย แกนนำ 8 พรรคร่วมรัฐบาล แถลงผลการหารือถึงทิศทางการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, นายทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, นายวรวีร์ มะกูดี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ และตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่
โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า หลังจากที่พรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้แถลงการณ์ และส่งมอบภารกิจให้พรรคอันดับที่ 2 ซึ่งคือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เราได้ปรึกษาหารือถึงทิศทางการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้ได้รัฐบาลของฝ่ายเสรีประชาธิปไตย โดยในที่ประชุมมีมติ ดังนี้ ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 27 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ประธานรัฐสภาได้บรรจุระเบียบวาระในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ประชุมมีมติให้พรรคเพื่อไทย ส่งผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยพรรคก้าวไกลเป็นผูัเสนอชื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นร่วมกัน ให้เป็นไปตามความคาดหวังของพี่น้องประชาชน 27 ล้านเสียงที่เลือกเรามา
ส่วนวิธีการที่จะได้มาซึ่งเสียงสนับสนุน ที่ประชุมได้เสนอแนวทาง ดังต่อไปนี้ 1.พวกเรา 8 พรรคร่วม ซึ่งประกอบด้วย 312 เสียง เราจะดำเนินการแสวงหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาให้ได้ครบจำนวนที่ต้องเติมให้ถึง 375 เสียง หรือคืออีก 63 เสียง โดยอาจจะมีเงื่อนไขที่สว. ได้ตั้งไว้ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องไปพูดคุย ในกรณีที่สว. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลดเงื่อนไขในมาตรา 112 ทางพรรคเพื่อไทยจะรับฟัง แล้วนำมาพูดคุยกับพรรคก้าวไกล และที่ประชุมพรรคร่วมต่อไป
2.กรณีที่ไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจากสว. ได้เพียงพอ จะให้สิทธิ์พรรคเพื่อไทย ดำเนินการพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่น ตามที่พรรคเพื่อไทยเห็นควร เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฝ่ายของสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคการเมืองที่จะไปพูดคุยนั้น ที่ประชุมให้เป็นเสรีภาพของพรรคเพื่อไทยในการพิจารณาดำเนินการ 3.แนวทางอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ที่ประชุมได้ให้สิทธิ์พรรคเพื่อไทยในการพิจารณาดำเนินการ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นี่คือแนวทางที่เราจะได้มาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาล 375 เสียง ในการประชุมวันที่ 27 ก.ค.นี้
ส่วนกระแสข่าวจะให้พรรคก้าวไกล ลดเพดานการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในที่ประชุมร่วมได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ โดยมีแนวทางว่าพรรคก้าวไกลอยากได้รายละเอียด ว่าเงื่อนไขในการลดเพดานนั้นคืออะไร ซึ่งมอบให้พรรคเพื่อไทยไปประสาน และพูดคุยกับสว. แต่ละท่าน ว่าต้องการให้ลดอะไร และนำไปพิจารณาต่อไป
นายชัยธวัช กล่าวว่า ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลต้องเวลาพรรคเพื่อไทยไปพูดคุยกับสว. ว่ารูปแบบใดที่จะปลดล็อกความไม่สบายใจของทุกท่าน และแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลหลังปลดล็อกจะเป็นอย่างไร เพื่อให้พรรคก้าวไกลนำไปพิจารณาภายในพรรค พร้อมยืนยันว่าเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 ถูกใช้เป็นแค่ข้ออ้าง แต่เป้าหมายสูงสุดที่เราอยากจะเห็นตามเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ต้องการอยากจะเห็นการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เราในฐานะที่ได้รับเสียงมาเป็นที่ 1 เราจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ตอนนี้โดยมารยาท ต้องมอบหมายบทบาทหลักให้พรรคเพื่อไทยในการบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยคงจะต้องไปพูดคุยกับสว. ว่าจะมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม
เมื่อถามถึงท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ที่จะไม่ร่วมรัฐบาลถ้ามีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแนวทางอื่นนอกเหนือ 8 พรรคร่วม ซึ่งให้สิทธิกับพรรคการเมืองเพื่อไทยในการพิจารณาว่าจะทำอย่างไร
เมื่อถามอีกว่ายืนยันว่าเอาสว.เป็นหลักใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นทางเลือกที่ 1 และ 2 คู่ขนานคือหาคะแนนจากส.ส.และพรรคการเมืองการเมืองอื่น ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องพูดคุย
เมื่อถามว่าพรรคการเมืองอื่นที่จะโหวตให้จะมีเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่าเป็นรายละเอียดที่ต้องพูดคุยกัน ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งประกาศว่ายินดียกคะแนนโดยไม่ร่วมรัฐบาลก็จะเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย
เมื่อถามว่าในวันที่ 27 ก.ค.ที่จะโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อเพียงคนเดียวหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จะเสนอเพียง 1 ท่าน โดยจะประกาศรายชื่อในวันที่ 26 ก.ค.นี้ และมั่นใจว่าในวันโหวตนายกรัฐมนตรีนั้นเราจะได้เสียงเกิน 375 เสียง
เมื่อถามว่าข้อตกลงเอ็มโอยูจะมีการแก้ไขหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังดำเนินการตามเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมอยู่ เมื่อไปดำเนินการแล้วอะไรที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยน อย่างบางเรื่องที่เขียนในเอ็มโอยูไม่ตรงก็ต้องมีการปรับแก้
เมื่อถามอีกว่าหากการดำเนินการในแนวทางที่ 1 และ 2 ไม่สำเร็จจะทำอย่างไรต่อไป นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คงต้องใช้แนวทางที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกร่วมกันของ 8 พรรคร่วม โดยอาจจะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งอยู่ในสมการนี้ ซึ่งเราจะทำในแนวทางที่ 1 และ 2 ให้สำเร็จก่อน
เมื่อถามอีกว่ามีการพูดคุยในเงื่อนไขมีเราไม่มีลุง หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกัน ยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ต้องแสวงหาให้ได้