สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนมิถุนายน 2566 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ผลจากกำลังซื้อชะลอตัวลง รวมถึงผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลด้านต้นทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสดและค่าไฟฟ้า ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าดัชนีทรงตัวที่ 52.2 ผลจากการคาดการณ์เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนมิถุนายน 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 50.9 ลดลงจากระดับ 53.0 ซึ่งองค์ประกอบของดัชนีลดลงเป็นผลจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงและไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มกำลังซื้อออกมา ประกอบกับอยู่ระหว่างการรอจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงความกังวลต่อต้นทุนโดยเฉพาะกลุ่มอาหารสดและค่าไฟฟ้า ถึงแม้แนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลงแล้วก็ตามแต่ราคาสินค้ายังคงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามค่าดัชนี SMESI ยังสูงกว่าค่าฐาน
ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงสูงสุด ได้แก่ ดัชนีด้านกำไร อยู่ที่ระดับ 51.2 จากระดับ 57.1 รองลงมา ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม อยู่ที่ระดับ 59.4 จากระดับ 63.9 ขณะที่ด้านการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 54.7 จากระดับ 52.1 ด้านการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 50.6 จากระดับ 50.0 และด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 57.5 จากระดับ 57.3 ตามลำดับ โดยค่าดัชนีฯ เกือบทุกองค์ประกอบยังคงอยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 ค่อนข้างมาก ยกเว้นด้านต้นทุนโดยรวมที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าฐานและปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 31.7 จากระดับ 37.4 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในแต่ละองค์ประกอบในระดับที่ดีแต่จะมีเพียงด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำซึ่งผู้ประกอบการมีความกังวลกับต้นทุนอาหารสดและค่าไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจชะลอตัวลงทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคการบริการ ในขณะที่ภาคธุรกิจเกษตรปรับตัวดีขึ้น จากผลของฤดูกาลรวมถึงราคาต้นทุนของปุ๋ยที่มีแนวโน้มลดลง โดย ภาคการบริการ มีค่าดัชนี SMESI ลดลงสูงสุดอยู่ที่ 52.8 จาก 56.2 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวเนื่องจากนักท่องเที่ยวลดลงหลายพื้นที่ตามฤดูกาลที่เข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมและยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม รองลงมา คือ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 47.2 จากระดับ 50.1 ชะลอตัวลงทั้งภาคค้าส่งและค้าปลีก ผลจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอความระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 51.5 จากระดับ 51.9 ชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอาหารและกลุ่มเสื้อผ้าที่ยังเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบที่คงตัวระดับสูง ในขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 53.2 จากระดับ 51.1 จากการเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกข้าวนาปี แต่อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนมิถุนายน 2566 พบว่า ทุกภูมิภาคค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับลดลงมากที่สุดและมีระดับต่ำที่สุดซึ่งต่ำกว่าค่าฐานที่ 50 โดยลดลงอยู่ที่ระดับ 47.7 จากระดับ 52.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างมากจากภาคการค้าและภาคการบริการโดยเฉพาะกลุ่มบริการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอลง ประกอบกับค่าใช้บริการของแพลตฟอร์ม Food delivery ปรับราคาค่าบริการสูงขึ้น รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 50.1 จากระดับ 52.2 จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 55.2 จากระดับ 56.3 เศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัวลงในช่วงฤดูมรสุมในฝั่งอันดามัน แต่ฝั่งอ่าวไทยยังดีอยู่ ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.0 จากระดับ 50.4 ภาคธุรกิจปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากภาคการบริการและภาคการค้า ในขณะที่ภาคการผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น กลุ่มอัญมณี เครื่องประดับ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากโลหะปรับตัวดีขึ้น จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่มีการซื้อเพื่อนำไปขายต่อ
ขณะที่ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 52.4 จากระดับ 54.2 ผลจากกำลังซื้อในพื้นที่ชะลอตัวลงทั้งจากภาคการค้าและภาคการบริการ แต่กลุ่มธุรกิจภาคการเกษตรยังขยายตัว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกนาปี ซึ่งมีคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.9 จากระดับ 54.2 ภาคธุรกิจชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ภาคการผลิตส่วนใหญ่ยังปรับตัวดีขึ้น เช่น กลุ่มการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ ยารักษาโรค รวมถึงกลุ่มเครื่องหอม โดยส่วนใหญ่ได้ผลดีมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางออนไลน์ รวมถึงปัจจัยสนับสนุนด้านต้นทุนโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวดีขึ้น สร้างผลดีให้กับบริการขนส่งสินค้า
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 52.2 จาก 52.3 โดยผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดี หลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับภาคการค้า อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลด้านต้นทุน เนื่องจากราคาวัตถุดิบรวมถึงพลังงานยังคงตัวอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ภาวะเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราต่ำติดต่อกันแล้วก็ตาม และจากการสำรวจผู้ประกอบการ SME สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดในเดือนนี้ คือ ด้านการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มธุรกิจภาคการค้า โดยมาตรการที่ต้องการจะเป็นรูปแบบโครงการเราชนะ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลาง ต้องการให้ดูแลด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มภาคธุรกิจการผลิต อาทิ การควบคุมราคาสินค้าหรือวัตถุดิบ และควบคุมค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น