วันที่ 17 ก.ค.2566 กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) จัดงานวันประชากรโลก ประจำปี 2566 (The World Population Day 2023) ร่วมกันแสดงออกและตระหนักในประเด็นปัญหาของประชากรโลก ส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้สิทธิพื้นฐาน การวางแผนครอบครัว เพื่อนำไปสู่การมีประชากรโลกที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมจัดลงนาม MOU ร่วมกับ 4 หน่วยงานสำคัญ จัดเวทีเสวนา “Bridging Intergenerational Gaps and Promoting Gender Equality for Young People Towards Aged Society: พร้อมเชื่อมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ไปด้วยกัน” พร้อมด้วยการมอบรางวัล Social Media Contest โดยมีผู้แทนหน่วนงานองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน นิสิตนักศึกษา สื่อมวลชน และผู้สนใจ ร่วมงานอย่างคับคั่ง การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเฉลิมฉลองวันประชากรโลก 11 กรกฎาคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้สิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพ รวมถึงการวางแผนครอบครัว เพื่อนำไปสู่การมีประชากรโลกที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี” กล่าวเปิดโดย ดร. โอซา ทอคิลส์สัน (Dr. Asa Torkelsson) ผู้อำนวยการ UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาติประจำประเทศไทย 

“การให้ความสําคัญกับ สุขภาพของประชาชน โดยยกระดับศักยภาพให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยมีความรอบรู้รอบด้าน เพื่อให้คนไทย ‘แก่แบบไม่เจ็บ’ ไม่สร้าง ‘หนี้ด้านการรักษา’ ให้กับตนเองและครอบครัว อีกทั้ง ยังมี สมรรถนะทางกายและใจในการเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจได้ตามความต้องการและศักยภาพสูงสุด”

น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในช่วงปาฐกถา
ความเสมอภาคด้านสุขภาพคือการส่งเสริมความเป็นธรรมโดยให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม หรือระหว่างกลุ่มประชากรด้วยกัน

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำในการเตรียมตัวสำหรับสังคมผู้สูงวัย
กิจกรรมสำคัญภายในงานมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ระหว่าง UNFPA ประจำประเทศไทย โดยมี นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน เป็นตัวแทน UNFPA และผู้แทนจาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ดร.พิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.ชยกฤต อัศวธิตานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CITU)

รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสนับสนุนการทำงานของ UNFPA และเสริมสร้างขีดความสามารถให้นิสิตนักศึกษาไปพร้อมกัน

UNFPA ประจำประเทศไทย ยังได้จัดพิธีมอบรางวัล Social Media Contest ซึ่งเป็นการประกวดคลิปวิดีโอ TikTok หัวข้อ “เชื่อมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ไปด้วยกัน” โดยรางวัลชนะเลิศได้แก่ ซาเนีย กาชาว และรองชนะเลิศได้แก่ ปวรุตม์ ญาณประเสริฐ, กัลยกร บุญชัย, Pavanrat Gambhir, ทอทอง ทิพย์รัตน์, ดุษฎี มั่นพะแนง ส่วนรางวัล Popular Vote ได้แก่ นันทิตา ดนตรีเสนาะ, เอมปวีร์ กีรติอัครศักดิ์, ชณิษชา พูลเพิ่ม, รมน วุฒิพรสกุล, แพรวา ชั้นไพบูลย์, อัควัฒน์ จิรากุลนพวัฒน์ และศุภธิดา นิยมธรรม

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาโดยมี  “ฝ้าย บุญธิดา ชินวงษ์” Beauty blogger ชื่อดัง รศ.ดร. รัตติยา ภูละออ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "คุณธนวัฒน์ พรหมโชติ” อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย “คุณธนโรจน์ อมรากุลเศรษฐ์” ผู้บริหารหัวหน้าฝ่ายการตลาด ทรู ดิจิตอล อะคาเดมี “คุณซาเนีย กาชาว” ผู้ชนะเลิศจากกิจกรรมประกวดคลิปวิดีโอ UNFPA  และ“คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง” หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย ร่วมเสวนาในประเด็น “Bridging Intergenerational Gaps and Promoting Gender Equality for Young People Towards Aged Society: พร้อมเชื่อมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ไปด้วยกัน”

น.ส.สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของการจัดงานว่า วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันประชากรโลก” UNFPA หรือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย จึงจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นมาในวันนี้ เพื่อให้ความสำคัญกับประชากร ทุกกลุ่ม ทุกเพศ และทุกวัย โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานนอกจากจะให้ความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับประชากรไทยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างวัย เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย สำหรับเยาวชน กลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะในฐานะที่เป็นคนในสังคมไทยด้วยกัน จึงอยากจะเห็นสังคมที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น และความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน การจัดงานครั้งนี้จึงเน้นไปที่การมีปฏิสัมพันธ์กับเยาวชนให้มากขึ้น


น.ส.สิริลักษณ์ กล่าวต่อว่า หนึ่งในกิจกรรมที่ UNFPA สร้างสรรค์ขึ้นมาในปีนี้ คือ ทำ Online Challenge คือ TikTok Video Challenge ในคอนเซปต์ที่ว่า “พร้อมเชื่อมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยไปด้วยกัน” Bridging Intergenerational Gaps และ Promoting Gender Equality ผ่านทางคลิปสั้น ๆ ใน UNFPA TikTok Challenge ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์มสำหรับคนรุ่นใหม่วัยรุ่น ที่ผู้สูงวัยก็เล่นได้ด้วย สนุก สามารถที่จะส่งข้อความที่เป็นสาระที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมวัย เชื่อมโยงระหว่างทุกเพศทุกวัยและสร้างความเสมอภาคทางเพศไปพร้อมๆ กันได้ จึงขอขอบคุณทุกผลงาน ไอเดียและความสร้างสรรค์ จากน้องนิสิต นักศึกษาทุกๆ คนที่ส่งเข้ามาอย่างท่วมท้น นับเป็นพลังเสียงคนรุ่นใหม่ที่ยิ่งใหญ่และส่งเสียงต่อในการพัฒนาอย่างดีเยี่ยม และเสียงของคนรุ่นใหม่ก็ได้ส่งไปถึงหน่วยงานของรัฐที่ให้เกียรติร่วมกันตัดสินการประกวดในครั้งนี้ด้วย ขอบคุณท่านคณะกรรมการตัดสินจากทุกหน่วยงานและขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลด้วย

"ในส่วนของ UNFPA นั้น เรามีแผนงานประจำปีภายใต้กรอบความร่วมมือกับประเทศไทย (2564-2568) โดยการช่วยพัฒนาประชากรทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนภาครัฐให้มีความพร้อมและความสามารถมากขึ้นที่จะทำงานที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น หนึ่งสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชากรก็คือ UNFPA เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันกับทางสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  พัฒนาแผนประชากรของประเทศไทยระยะยาว เราจะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทบวงกรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาสังคมและภาคเอกชนด้วย เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนแผนประชากรให้มีรูปธรรม และมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้ผู้คนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วยกันกระจายความรู้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพันธกิจหลักของ UNFPA เราจะทำ 3 เรื่อง คือการพัฒนาส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงอนามัยทางเพศและการเจริญพันธุ์ การส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก และการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ รวมไปถึงการยุติความรุนแรงด้วยเหตุทางเพศทุกรูปแบบของทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ภายใต้การดำเนินงานแบบการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย หรือ life-cycle approach” หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทยกล่าวย้ำ

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม https://thailand.unfpa.org/th
ชมประมวลคลิป UNFPA Tiktok’s challenge ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ovPJnzoBbos