มะพร้าวน้ำหอม นับเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวน้ำหอม เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปัจจุบันเกษตรกรมีการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ภาคตะวันตก จำนวน 30 แปลง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดนครปฐมโดยการส่งเสริมแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมเน้นให้เกษตรกรใช้หลักตลาดนำการผลิต และใช้ช่องทางการตลาดใหม่ๆ รวมไปถึงปลูกมะพร้าวด้วยระบบ BCG model
คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนามะพร้าวน้ำหอมสู่สินค้าส่งออก จากการที่มะพร้าวน้ำหอมเป็นสินค้าเศรษฐกิจของเกษตรกรในชุมชนและกลุ่มแปลงใหญ่ จึงอยากเห็นมะพร้าวน้ำหอมยกระดับจากสินค้าชุมชนสู่สินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยใช้นวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเพื่อให้สินค้าเกิดความโดดเด่นและน่าสนใจมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันยังตลาดโลก อีกทั้งความสามัคคีของกลุ่มแปลงใหญ่มีส่วนสำคัญในความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงทำให้กลุ่มต้องมีการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ยังผลักดัน BCG model เข้ามามีส่วนในการลดต้นทุนในการผลิตเพื่อพัฒนาสู่สินค้าส่งออก เพราะสามารถช่วยให้ต้นทุนในการผลิตและส่งออกต่ำลง ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตและส่งออกมะพร้าวน้ำหอมได้มากขึ้น
นายสุพัฒน์ อ่อนคง เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี สนับสนุนการเกษตรในรูปแบบของแปลงใหญ่และ BCG model ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยในการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ขับเคลื่อนแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีหลักการและจุดประสงค์ในการรวมกลุ่มเพื่อผลิตจำหน่ายและใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัย ในการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งในทุกแปลงต้องผ่านกระบวนการรับรองมาตรฐาน หรือ GAP จากนั้นจึงได้สนับสนุนให้เกิดการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากมะพร้าวธรรมดา สู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว มีรายได้เพิ่มขึ้นและเชื่อมโยงสินค้าเหล่านี้ สู่ช่องทางการตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งพี่น้องเกษตรกรที่รวมกลุ่มแปลงใหญ่ จะได้รับองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้งในระดับตำบล อำเภอและจังหวัด
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการทำเกษตรกรรม แต่เป็นการนำสิ่งที่ทำอยู่แล้ว มาร้อยเรียงประยุกต์ใช้โดยจัดกระบวนการขับเคลื่อนใหม่ มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และใช้ในการดำเนินงานโครงการ ซึ่งการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับงานส่งเสริมการเกษตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ และส่งผลให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนต่อไป