วันที่ 7 ก.ค.66 นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตไม่เหมาะสม ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตลาดและตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหน่วยงานต่างๆภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการทำงานร่วมกัน ซึ่ง กรมพัฒนาที่ดิน ได้ทำการสนับสนุนและส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือแสดงผลข้อมูลเชิงภูมิสารสนเทศที่บูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงแผนที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ช่วยอำนวยความสะดวกด้านสารสนเทศการเกษตรให้กับเกตรกรและผู้สนใจ สามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต บนแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ Agri-Map Online และบนแพลตฟอร์มมือถือ Agri-Map Mobile ทั้งระบบ IOS และ Android
กรมพัฒนาที่ดิน ได้พัฒนา Agri-Map อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย เพิ่มความสะดวก ต่อการใช้งาน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสะดวกขึ้น Agri-Map ถือเป็นเครื่องมือบริหารจัดการด้านการเกษตรของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ บริหารจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภคและความเหมาะสมของการใช้ที่ดินได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ มีข้อมูลพืชหลัก 13 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ มะพร้าว ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และสับปะรด และพืชทางเลือกกลุ่มสมุนไพรอีก 29 ชนิด เช่น ขมิ้นชัน กระชาย ไพล ข่า พริกไทย ฯลฯ
กรมพัฒนาที่ดินยังคงมุ่งเป้าพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะการ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนของพืชทางเลือกครอบคลุมทั่วประเทศ 77 จังหวัด จำนวน 10 ชนิด เช่น มะม่วง กล้วย ส้มโอ ลองกอง โกโก้ ฯลฯ รวมถึงการเพิ่มเติมพืชสมุนไพรอีก 15 ชนิด เพื่อให้ Agri-Map เป็นเครื่องมือในการวางแผนการผลิตของประเทศที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับจังหวัด จนถึง ระดับตำบล และเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาคุณชีวิตของเกษตรกรไทยต่อไป