เปิดประวัติ "วันนอร์" ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) โดยมี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผู้มีอาวุโสสูงสุด ขึ้นทำหน้าที่ประธานที่ประชุมชั่วคราว ก่อนโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยไม่มีสมาชิกคนอื่นเสนอชื่อแข่ง ก่อนได้รับเลือกด้วยคะแนนเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพื่อขอบคุณ โดยมีรายละเอียดว่า ขอขอบคุณพี่น้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ในการไว้วางใจในการดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏร โดยการเสนอของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
โอกาสนี้ผมขอย้ำถึงวิสัยทัศน์ที่ได้กล่าวไว้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ดังต่อไปนี้
1.ผมขอยืนยันกับท่านทั้งหลายทุกท่านว่าผมจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง และจะน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้กับสมาชิกรัฐสภาสมัยที่ 26 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติของพวกเราต่อไป
2.ผมจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส สุจริต ตามรัฐธรรมนูญ กฏหมาย และข้อบังคับของสภา ทุกประการ
3.ผมจะกำหนดแนวทางร่วมกันกับผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาทั้ง 2 ท่าน ในการพิจารณาร่างกฏหมาย ญัตติ กระทู้ถาม อย่างเป็นระบบเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และเพื่อประโยชน์ของประชาชน
4.ผมจะให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการทุกคณะ เพื่อไปแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนของเราในทุกกรณี
5.ผมจะร่วมกับพวกเราเพื่อดำเนินการนโยบายทางด้านต่างประเทศของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในงานของระบบรัฐสภา เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพในฝ่ายนิติบัญญัติ
6.ผมจะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลงานของสถาบันพระปกเกล้าให้มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมงานของฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งจะสนับสนุนให้สถานีโทรทัศน์ของรัฐสภา สถานีวิทยุของรัฐสภา เป็นสถานีของประชาชน เพื่อที่จะส่งเสริม พัฒนาประชาธิปไตยในทุกภาคส่วนในมีประสิทธิภาพและยั้งยืนตลอดไปครับ, ขอขอบคุณครับ
วันนี้ “สยามรัฐออนไลน์” ขอเปิดประวัติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดังนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ที่จังหวัดยะลา จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และจบมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2512 ต่อมาสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2517
วันมูหะมัดนอร์ มะทา เริ่มรับราชการครูและได้รับตำแหน่งเป็นครูใหญ่ โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) ปี พ.ศ.2518 เป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ) และเป็นอาจารย์พิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พร้อมกันด้วย จากนั้นในปี พ.ศ. 2521 ได้รับตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา
กระทั่งได้มาทำงานการเมือง โดยเริ่มในสังกัดพรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำกลุ่มวาดะห์ ไปเข้าสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และ พรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนาที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา ก่อนจะย้ายไปเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
ต่อมาวันมูหะมัดนอร์ มะทา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ.2549 แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 และย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน กระทั่งในปี พ.ศ.2555 หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายวันมูหะหมัดนอร์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
การทำงานการเมือง
พ.ศ.2522 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา สมัยแรก ในสังกัดพรรคกิจสังคม
พ.ศ.2523 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พ.ศ.2524 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
พ.ศ.2529 ร่วมกับ นายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง “กลุ่มเอกภาพ”(กลุ่มวาดะห์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
พ.ศ.2531 นำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ "กลุ่ม 10 มกรา" ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน
พ.ศ.2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับ พรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ
พ.ศ.2533 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)กรรมการในคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [4]
พ.ศ.2535 นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 4 (จากการเลือกตั้ง 2535/1)สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 5 (จากการเลือกตั้ง 2535/2)รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ.2537 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (กำกับดูแล กรมที่ดิน การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค )
พ.ศ.2538 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 6
พ.ศ.2538-2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พ.ศ.2539 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 7ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา (24 พฤศจิกายน 2539 - 27 มิถุนายน 2543)
พ.ศ.2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 8 และรับพระราชทานยศ นายกองเอก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (สมัยที่ 2)
3 ตุลาคม 2545 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
28 ธันวาคม 2545 รับพระราชทานยศ นายกองใหญ่
10 มีนาคม 2547 รองนายกรัฐมนตรี
6 ตุลาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พ.ศ.2548 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 9
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 10 (แบบบัญชีรายชื่อ) ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ทั้งนี้ วันมูหะมัดนอร์ ยังคงเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติเช่นเดิม
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 วันมูหะหมัดนอร์ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคประชาชาติ จากนั้นในการลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 ก.ค.66 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอชื่อวันมูหะหมัดนอร์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการเสนอชื่ออื่นแข่ง วันมูหะหมัดนอร์ จึงได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาอีกสมัย