นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงความครอบคลุมของสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนให้มีความครบถ้วนมากขึ้น โดยประเมินแล้วว่าข้อมูลใหม่ 1.มีความน่าเชื่อถือของวิธีการจัดเก็บและประมวลผล 2.มีคุณภาพ อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจได้ 3.มีความถี่ของการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลที่สม่ำเสมอ 4.ไม่ล่าช้าเกินไป
ทั้งนี้ได้ครอบคลุมที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้ให้กู้ 4 กลุ่ม โดยยอดหนี้แต่ละกลุ่ม ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 มีดังนี้ กยศ. 483 พันล้านบาท สหกรณ์อื่นๆ(ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์") 265 พันล้านบาท การเคหะแห่งชาติ 11 พันล้านบาท และพิโกไฟแนนซ์ 6 พันล้านบ้าน ซึ่ง ธปท.มีข้อมูลของกลุ่มผู้ให้กู้เหล่านี้ ตั้งแต่ปี 2555 จึงปรับข้อมูลย้อนหลังไปถึงไตรมาส 1 ปี 2555
โดยยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากชุดข้อมูลที่ปรับปรุงใหม่นี้ เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไมใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 มียอดหนี้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 766 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการศึกษา 485 พันล้านบาท และหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ 183 พันล้านบาท ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนหลังปรับปรุงมียอดคงค้าง 16.0 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากข้อมูลก่อน ปรับปรุง 4.3% ต่อ GDP หรือที่อยู่ในระดับ 86.3% ต่อ GDP นอกจากนี้โครงสร้างสัดส่วนที่จำแนกตามวัตฤประสงค์การกู้ยืมไม่แตกต่างจากข้อมูลก่อนปรับปรุง