บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นสัปดาห์นี้พักฐาน หลังจากมีผู้ว่าการเฟดสองรายให้ความเห็นสนับสนุนขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ หวังกดเงินเฟ้อให้ลงมาสู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% แนะจับตาผลกระกระทบจากปรากฏการณ์ เอล นีโญ ที่จะทำให้ราคาอาหาร-เงินเฟ้อเพิ่มสูงและภาคเกษตรกรรมเสียหายหนัก จึงให้กรอบดัชนี 1,520-1,570 จุด แนะลงทุนใน 10 หุ้นเด่นเข้า SET50 และ SET 100 รอบครึ่งปีหลัง 2566
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้พักฐาน หลังผู้ว่าการเฟดและประธานเฟดสาขาริชมอนด์แสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อกดเงินเฟ้อให้ลงมาสู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% เช่นเดียวกับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดการณ์ว่า มีโอกาสมากขึ้นที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งจากการขยายวงจรการคุมเข้มนโยบายการเงินครั้งประวัติศาสตร์ออกไปจนถึงเดือนก.ย.เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 2%
ส่วนสถานการณ์ทางการเมือง และการจัดสรรงบประมาณ ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังประเมินว่ารัฐบาลใหม่ปรับงบประมาณปี 2567 สนองรัฐสวัสดิการได้แค่ 2 แสนล้านบาท และขาดอีกอย่างน้อย 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องจับตาการจัดหางบประมาณในส่วนดังกล่าวหลังจัดตั้งรัฐบาล
ขณะที่ธปท.จับตาปรากฏการณ์ เอล นีโญ (El Nino) ที่ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก กังวลว่าจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจภาพรวม ส่งผลให้ราคาอาหาร-เงินเฟ้อเพิ่มสูง และภาคเกษตรเสียหายหนัก 4-6 หมื่นล้านบาท และการประกาศขาดทุนของ STARK เป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กมีการปรับตัวในช่วงสั้น จึงมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1,520-1,570 จุด
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ สัปดาห์ที่ 4 กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ, การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์, สัปดาห์ที่ 5 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง, ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค, ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม และ วันที่ 13 ก.ค. เป็นกำหนดวันสุดท้ายที่กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ต้องจับตาวันนี้ 20 มิ.ย. ธนาคารกลางจีนประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) สหรัฐ รายงานตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพ.ค. วันที่ 21 มิ.ย. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุม มิ.ย. นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) แถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรส วันที่ 22 มิ.ย. ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแถลงเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐต่อคณะกรรมการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐ สหรัฐรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดุลบัญชีเดินสะพัด 1Q66 ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนพ.ค. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ วันที่ 23 มิ.ย. อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมิ.ย. สหรัฐ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่เข้าคำนวณ SET 50 และ SET 100 ในงวดครึ่งปีหลัง 2566 นี้ โดยหุ้นที่มีการนำเข้า SET 50 ได้แก่ TLI, WHA หุ้นที่มีการนำออกได้แก่ JMT, JMART ส่วน SET 100 หุ้นที่มีการนำเข้าได้แก่ AURA, BTG, ERW, MBK, SNNP, STEC, TASCO, TLI ขณะที่หุ้นที่นำออกได้แก่ BEC, EPG, JAS KEX, ONEE, QH, RBF, SINGER
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินราคาทองคำในสัปดาห์นี้นักลงทุนต้องติดตามความเคลื่อนไหวระหว่างญี่ปุ่นและจีน เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นได้จัดหาอาวุธให้กับสหรัฐเพื่อช่วยเหลือยูเครน สร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซียและจีนอย่างมาก ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เป็นตัวหนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้งช่วงปลายสัปดาห์มีประกาศตัวเลขดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐ
โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำยังสามารถทรงตัวในระดับสูงได้ เนื่องจากตลาดกังวลการเกิดสงคราม ด้านยอดผู้ขอรับสวัสดิการของสหรัฐสูงกว่าคาดการณ์เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ทั้ง 2 ปัจจัยข้างเป็นปัจจัยหลักหนุนราคาทองคำ ระหว่างสัปดาห์หากราคาทองคำปรับตัวลงไม่หลุดแนวรับบริเวณ 1,930$/oz คำแนะนำทยอยเข้าซื้อสะสม