เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความคืบหน้าของโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะลุ่มน้ำชีตอนกลาง (Area Based) รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยฤดูฝน ปี 2566 ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและลุ่มน้ำชี พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้นโยบายในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเห็นถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ที่ประกอบด้วยลุ่มน้ำสาขา 9 ลุ่มน้ำสาขา ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และ อุดรธานี รวมพื้นที่ประมาณ 12.85 ล้านไร่ โดยพบปัญหาด้านอุทกภัย ภัยแล้งซ้ำซาก ฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปี ปัญหาน้ำอุปโภค - บริโภค รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง มีเสี่ยงภัยแล้งประมาณ 7.47 ล้านไร่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำเก็บกักใช้การของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวม 2,478 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี ส่วนฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมเกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำชีและลำน้ำสาขา ซึ่งพบว่ามีปริมาณน้ำส่วนเกินที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมประมาณ 440 ล้าน ลบ.ม./ปี มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากกว่า 1.31 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 85,700 ครัวเรือน 

โดยเป็นการทำงานตามนโยบายรัฐบาลได้พิจารณาเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมและสอดรับกับสถานการณ์ ดังนี้
- ดำเนินมาตรการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561 - 2580) จำนวน 2,978 โครงการ โดยแบ่งแผนงานการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะกลาง (ปี 2568 - 2570) และระยะยาว (ปี 2571 - 2580) เพื่อทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,250 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 998,000 ไร่ ลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำชีตอนกลางและตอนล่างได้ 207 ล้าน ลบ.ม. 
- เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ/ระบบส่งน้ำให้ครบทุกลุ่มน้ำสาขา จัดหาแหล่งน้ำแบบพึ่งพาตนเอง (โคก หนอง นา โมเดล) สร้างความมั่นคงทางน้ำภาคการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ 
- วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2566 (1 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม 2566) ของเขื่อนอุบลรัตน์ ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีแผนการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำดิบในการผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาค 5 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 45 แห่ง สนับสนุนแหล่งอุตสาหกรรมตามลำน้ำพอง 10 แห่ง และรักษาระบบนิเวศ วันละประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม.
- ก่อสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ 26 อำเภอ 124 ตำบล จำนวน 332 ฝาย รวมปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น 8 ล้าน ลบ.ม. นับตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566
- รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป โดยจะส่งเสริมการใช้น้ำฝนเป็นลำดับแรก เขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะมีการเสริมในช่วงต้นฤดูฝนหรือฤดูฝนทิ้งช่วง

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ เน้นย้ำถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ ซึ่งได้สั่งการให้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเตรียมมาตรการให้ครอบคลุม เป็นระบบ ยั่งยืน และเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนต่อไป” นายอนุชาฯ กล่าว