TikTok ประกาศการลงทุนครั้งใหม่มูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMB) กว่า 120,000 ราย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจออนไลน์และเข้าร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนมูลค่ากว่า 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะเป็นทุนช่วยเหลือ การฝึกอบรมเสริมทักษะเชิงดิจิทัลและเครดิตโฆษณาสำหรับ SMB รวมถึงธุรกิจรายย่อย (Micro) ในพื้นที่ชนบทและชานเมือง
การลงทุนนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก TikTok ได้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างประโยชน์มากมายให้กับธุรกิจต่าง ๆ และผู้สร้างคอนเทนต์ จากรายงาน The TikTok Effect: Accelerating Southeast Asia’s Business, Education, and Community Report[2] เผยให้เห็นข้อมูลจากผลสำรวจที่น่าสนใจดังนี้ กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยสามารถเพิ่มรายได้เกือบ 50% จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการบน TikTok และเกือบ 4 ใน 5 ของธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจ (79%) ได้เปลี่ยนจากช่องทางการขายแบบออฟไลน์ไปเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม TikTok นอกจากนี้แบบสำรวจยังพบว่ากว่า 80% ของผู้สร้างคอนเทนต์บน TikTok สามารถเพิ่มรายได้มากขึ้นผ่านเครื่องมือบนแพลตฟอร์ม เช่น TikTok LIVE และ การสนับสนุนจากแบรนด์ (Brand Sponsorships)
Shou Chew ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TikTok กล่าวว่า ผู้คนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 325 ล้านคนเข้าใช้ TikTok ทุกเดือน รวมถึงมีการใช้งานจากภาคธุรกิจกว่า 15 ล้านรายในทุกเดือน บทบาทของเราในการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา และการสร้างคอมมูนิตี้ในภูมิภาคนี้และทั่วโลกนั้นยิ่งใหญ่มาก เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นผลกระทบในเชิงบวกของ TikTok และมุ่งมั่นที่จะสานต่องานของเราในการช่วยเหลือผู้คน ชุมชนและธุรกิจต่างๆ ให้เติบโตและประสบความสำเร็จ
คำมั่นสัญญาของ TikTok ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สนับสนุนท้องถิ่น: ปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจ
ในช่วงระยะสามปีนี้โครงการสนับสนุนท้องถิ่น (Support Local Programme) มีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม โดยเฉพาะธุรกิจในพื้นที่ชนบทซึ่งอาจยังไม่มีประสบการณ์ในการทำการตลาดออนไลน์มากนัก เราได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 25 แห่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคยุคดิจิทัลรายใหม่ๆ ผ่านการมอบเงินทุนช่วยเหลือ การฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัล และเครดิตโฆษณา
นอกจากนี้ ในประเทศอินโดนีเซีย TikTok จะร่วมมือกับ Asosiasi Pusat Pengembangan Sumberdaya Wanita (PPSW), Platform Usaha Sosial (PLUS) และ Telkom เพื่อเปิดตัว TikTok Jalin Nusantara โครงการริเริ่มนี้จะติดตั้งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในศูนย์กลางชุมชนในหมู่บ้านชนบท 9 แห่งในจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออกและสุมาตราเหนือ นอกจากการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในท้องถิ่นแล้ว TikTok Jalin Nusantara จะเสนอโปรแกรมการฝึกอบรมในหมู่บ้านเหล่านี้ รวมถึงศูนย์สร้างสรรค์ 5 แห่งในศูนย์กลางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักๆ และ Telkom IndigoHubs 5 แห่ง โดยโปรแกรมดังกล่าวจะให้การฝึกอบรมความรู้ด้านดิจิทัลและการเงินแก่ชุมชน และบทเรียนทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็น เช่น การสร้างเนื้อหา อีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับการฝึกอบรมมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลได้
ขยายการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาตนเอง
ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดหน้าต่างสู่โลกกว้าง TikTok ได้ช่วยส่งเสริมการค้นพบและเรียนรู้ จากรายงานพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจ 9 ใน 10 (90%) ที่ใช้ TikTok เพื่อการเรียนรู้ ระบุว่าพวกเขาได้รับทักษะใหม่ๆ ที่อาจหาไม่ได้จากที่อื่น จากแพลตฟอร์มนี้ และ 3 ใน 5 (61%) ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า TikTok ทำให้การเรียนรู้ออนไลน์เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ดังกล่าวเพิ่มเติม บริษัทจะร่วมมือกับวิสาหกิจ เพื่อสังคม ได้แก่ บริษัท คิดคิด จำกัด (Kid Kid), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างจิตสำนึกและการลงมือทำเพื่อสิ่งแวดล้อมในหมู่เยาวชนในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความรู้และความท้าทายเกี่ยวกับทางเลือกในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในชีวิตประจำวัน เช่น การแยกขยะและการใช้พลังงาน โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในการเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้มากขึ้น และเพื่อให้บรรลุความสำเร็จ ในการดำเนินกิจการด้วยความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030
สร้างชุมชนเพื่อการสนับสนุนและพัฒนา
นอกจากการศึกษาบนแพลตฟอร์มแล้ว TikTok จะยังคงพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นต่อไป โดยเฉพาะเยาวชนที่อาจจะไม่มีความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยการร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Development Programme) ซึ่งจะส่งเสริมการเสริมสร้างศักยภาพ การให้คำปรึกษา (Mentorship) การอำนวยความสะดวกในตลาด และการระดมทุนสร้างเมล็ดพันธุ์ (Seed funding) มูลค่าสูงถึง 320,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำโดยเยาวชน 20 แห่งในภูมิภาคนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพิ่มความสามารถในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น
TikTok มีพนักงานมากกว่า 8,000 คน ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมุ่งมั่นที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในท้องถิ่นอีกด้วย แนวคิดริเริ่มต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาบัณฑิตร้านค้า (TikTok Shop Graduate Development Programme) ระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถสำหรับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และหลักสูตรติวเข้มทางเทคนิค (TikTok Tech Immersion) สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาของสิงคโปร์ โครงการต่างๆ เหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีรุ่นเยาว์ได้เติบโตและพัฒนายิ่งขึ้น
"ในเวลาเพียงหกปี เราได้สร้างช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้สำหรับทั้งผู้สร้างคอนเทนต์และธุรกิจต่างๆ บนแพลตฟอร์มของเรา เรายังได้เปิดตัวช่องทางอีคอมเมิร์ซ เช่น TikTok Shop ซึ่งช่วยให้ SMB เชื่อมต่อกับผู้บริโภครายใหม่และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจของตนเองได้"
Teresa Tan Head of Public Policy ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ TikTok กล่าวว่า ภารกิจของเราในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และนำความสุขมามอบให้ผู้คนนั้นมีรากฐานมาจากความมุ่งมั่นของเราที่จะช่วยส่งเสริมการค้นพบ การเติบโต และการเชื่อมโยงระหว่างผู้คน และชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือและแนวคิดริเริ่มที่เกิดขึ้นใหม่ในวันนี้จะขยายความพยายามของเราในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อมที่อาจเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางดิจิทัล เรารู้สึกซาบซึ้งต่อการสนับสนุนที่เราได้รับจากทั่วทั้งภูมิภาค และเราตื่นเต้นที่จะได้เห็นผลลัพธ์ในอนาคตที่เราสามารถร่วมกันสร้างได้